เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
แรงหนุนใหม่ราคาน้ำมันปาล์ม เอเชีย-สหรัฐ ปรับนโยบายในเรื่องไบโอดีเซล

          ราคาน้ำมันปาล์มกำลังหาแรงสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็วๆ นี้ในนโยบายด้านไบโอดีเซลของมาเลเซีย อินโดนีเซียและสหรัฐ แม้จะพบว่านโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องที่นำมาปฏิบัติได้ยากก็ตาม

          เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลมาเลเซีย ระบุว่า มีแผนที่จะอนุญาตให้ไบโอดีเซลที่ขาย ในประเทศ ผสมน้ำมันปาล์มได้มากสุดถึง 10% เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.ที่จะถึงนี้ ในความพยายามที่จะนำโภคภัณฑ์ชนิดนี้มาใช้ในบ้านเกิดให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนตลาด

          ปัจจุบัน มาเลเซีย ใช้น้ำมันไบโอดีเซล ที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มในสัดส่วน 5% และ 7%

          การประกาศของมาเลเซีย ช่วยหนุนให้ ดัชนีราคาน้ำมันปาล์มล่วงหน้า ในตลาดตราสารอนุพันธ์เบอร์ซา มาเลเซีย ทะยานขึ้น ไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ที่ 2,362 ริงกิตต่อตันในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว และ เป็นปัจจัยหนุนดันราคาให้กับตลาด ที่กำลังเกิดความวิตกกับการเกิดภาวะสภาพ อากาศแบบเอลนินโญ ที่ส่งผลประทบต่อผลผลิตอยู่

          อย่างไรก็ดี นับแต่นั้นเป็นต้นมา ราคาน้ำมันปาล์มล่วงหน้าในมาเลเซีย กลับลดลงมาราว 4% ผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิต และปริมาณน้ำมันปาล์มสำรองในประเทศเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา กระนั้นก็ตาม ราคายังคงอยู่สูงกว่า ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ที่ทำไว้เมื่อเดือนเม.ย. ราว 10%

          ก่อนหน้านั้น ปัจจัยอื่นๆ ที่สร้างแรงหนุน ให้ราคาน้ำมันปาล์ม รวมถึง กรณีสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ ที่ออกมาบอกเมื่อเดือนที่แล้วว่า ตั้งเป้าเพิ่มการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้ได้เกือบ 50% ของจำนวน การใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด ภายในปี 2560 ท่าทีที่ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองทะยานขึ้นไปมากถึง 10% ในสัปดาห์ต่อๆ มา ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มมีแนวโน้ม ที่จะปรับขึ้นตามน้ำมันถั่วเหลือง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้แทนกันได้

          นอกจากนี้ ไทยยังประกาศช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ถึงการมีมติให้กระทรวงพลังงาน ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์ม ในไบโอดีเซล จากสูตร B3 ไปเป็น B7 เหมือนเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะผลผลิตปาล์มล้นตลาด ซึ่งจะดึงผลผลิตปาล์มส่วนเกินออกจากตลาดได้ประมาณ 70,000 ตันต่อเดือน อีกทั้งยังได้ประสานทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้นำผลผลิตปาล์มไปผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ โรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่

          นางไอวี อึ้ง นักวิเคราะห์จากซีไอเอ็มบี แสดงความเห็นไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า การเคลื่อนไหวของสหรัฐยังอาจช่วยหนุนให้ การใช้น้ำมันพืชเพิ่มขึ้น 647,000 ตัน มาอยู่ที่ 1.4 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งจะช่วยชดเชยกับ ความต้องการน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย ที่ลดลงมาก

          ในช่วงต้นปีนี้ อินโดนีเซียได้นำ ข้อบังคับใหม่เข้ามาใช้ กำหนดให้ใช้น้ำมัน ไบโอดีเซล มีส่วนผลมของน้ำมันปาล์มมากสุด ไม่เกิน 15% ภายในสิ้นปี 2558 และมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% ในอนาคต  แต่รัฐบาลกรุงจาการ์ตาต้องเผชิญกับความท้าทายในการบังคับใช้นโยบายนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันจากฟอสซอล ดิ่งลง อย่างหนักในช่วงปีที่ผ่านมา จนมาอยู่ในระดับที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันปาล์ม ทำให้บรรดา ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่อยากที่จะนำน้ำมันปาล์มมาผสมเป็นไบโอดีเซลแต่อย่างใด

          ทั้งนี้ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีอัตราการผลิตน้ำมันปาล์ม คิดเป็นสัดส่วนราว 85% ของยอดการผลิตโดยรวมทั่วโลก โดยน้ำมันปาล์ม ยังเป็นน้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง พบได้ในผลิตภัณฑ์หลายพันชนิด ไล่ตั้งแต่บิสกิต ไปจนถึง ลิปสติก และเชื้อเพลิง

          โภคภัณฑ์ชนิดนี้ ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาชนบทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มเกือบทั้งหมดที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วโลก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ราคาน้ำมันปาล์มกลับตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม จากคู่แข่งขนาดใหญ่ อย่าง น้ำมันถั่วเหลือง และราคาน้ำมันดิบที่ซบเซาลง

          ในขณะที่รัฐบาลชาติผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ๆ ต่างต้องการที่จะเพิ่มการบริโภคเชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มในประเทศให้ มากขึ้น แต่ยังมีข้อกังขาจากบางฝ่ายอยู่บ้างว่า การเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้น้ำมัน จะเป็น ไปอย่างราบรื่นหรือไม่

          "แม้ว่าเราจะเห็นว่า อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ค่อยๆ ปรับเพิ่มส่วนผสมน้ำมันปาล์มขึ้นมาอย่างช้าๆ แต่อัตราการเพิ่มส่วนผสมที่แท่จริงยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากยังคงมีปัญหาในด้านระบบอยู่" นางออเรเลีย บริทช์ นักวิเคราะห์จากบีเอ็มไอ รีเสิร์ช กล่าว

          นางบริทช์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึง การจัดจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล ตามหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่อย่างมาก และข้อเท็จจริงที่ว่า จะต้องมีการขยายระยะเวลาในการรับประกันเครื่องยนต์ หากมีการนำน้ำมันปาล์ม มาผสมเป็นไบโอดีเซล ในสัดส่วนการผสมที่เพิ่ม มากขึ้น ล้วนแต่เป็นอุปสรรคขวางความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลเกือบทั้งนั้น

          สำหรับในมาเลเซียนั้น บีเอ็มดับเบิลยู ค่ายรถยนต์หรูของเยอรมนี ก็ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อนโยบายของรัฐ ที่จะให้ เพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์ม ในการผสมไบโอดีเซลมากขึ้น

          นายอลัน แฮร์ริล กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มาเลเซีย เผยว่า บริษัทได้ดำเนินการทดสอบน้ำมันไบไอดีเซล ที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม 10% ตามสถานที่ ต่างๆ ทั่วโลก และได้พบกับปัญหาทางด้านเทคนิค ที่อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหาย อย่างหนักได้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 16 มิถุนายน 2558  (ASEAN 3)

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง