เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

Mentor Coach "ทุกคนสร้างแบรนด์ของตัวเองได้"

ข่าววันที่ : 20 มี.ค. 2562


Share

tmp_20192003094002_1.png

วันที่ ปรับปรุง 20 มี.ค. 2562

          อาจเป็นเพราะ "ภารไดย ธีระธาดา"ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบรนด์ บุคคล สำหรับนักบริหารระดับสูง ผ่านการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศกว่า 25 ปี จึงทำให้เขาพบเห็นว่า "การพัฒนา" และ "การเพิ่มศักยภาพ" ของ "คน" เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
          โดยเฉพาะกับ "คน" ที่มี "เคมี" ตรงกัน
          และโดยเฉพาะกับ "คน" ที่ต้องการให้เขาช่วยทำหน้าที่ "mentor coach" ไปพร้อม ๆ กัน
          คำถามจึงเกิดขึ้นว่า...แล้วเขาจะไปแชร์ตลาดโค้ชที่อยู่ในเมืองไทยได้อย่างไร เพราะโค้ชที่มีชื่อเสียงก็มีอยู่เยอะ พอสมควร ? สำคัญไปกว่านั้น ทำอย่างไร ถึงจะทำให้ซีอีโอของแต่ละบริษัทเลือกคุณ ?
          และกลุ่มลูกค้าของ "mentor coach" คือ ใครบ้าง ?"ภารไดย" อธิบายให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผมทำงานในองค์กรต่าง ๆ จนเริ่มรู้สึกไม่ค่อยสนุกแล้ว จึงอยากออกมาทำงานส่วนตัว เพราะสิ่งที่ผมชอบ คือ การสร้างแบรนด์ และชอบทำเรื่องแบรนด์ ฉะนั้น เวลาผมทำงานให้กับองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะที่ Orange True จนมาถึงการปรับตัวของ TMB และ dtac ในเวลาต่อมา ผมจึงนำคอนเซ็ปต์ของการสร้างแบรนด์ในองค์กรเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เป็นการสร้างแบรนด์รายบุคคล
          "เพราะผมเชื่อว่าคนแต่ละคน ไม่เหมือนกัน และทุกคนมีความ แตกต่างกัน แต่จะทำอย่างไรถึงจะนำเสนอจุดแข็งที่ดูดีของเขาออกมาให้ดูน่าเชื่อถือ และถ้าหากเขาเป็นผู้นำขององค์กร เขาจะต้องเป็นผู้นำที่มีคนปฏิบัติตาม ผมจึงมีความเชื่อว่า การสร้างแบรนด์ในองค์กรสามารถ นำมาทำการสร้างแบรนด์รายบุคคลได้ ผมเชื่อเช่นนั้นนะ"
          แต่ทั้งนั้น "ภารไดย" บอกว่า...เคมีของเขากับผมจะต้องตรงกันก่อนนะ
          "ผมว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเคมีที่ต้องตรงกันเสียก่อน เพราะการโค้ชของผมไม่สามารถโค้ชทุกคนได้ เนื่องจากบางคนชอบสไตล์การโค้ชของคนคนนี้ ส่วนผมเป็น tough coach ที่ไม่ปล่อยอะไรไปง่าย ๆ ผมไม่ใช่โค้ชที่ใจดี แต่ผมจะผลักดัน และพูดจาตรงไปตรงมา ผมจะมีการบ้านให้เขาทำ และทดลองในสิ่งที่เขาจะต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ"
          "เนื่องจากโค้ชคนไทยส่วนใหญ่จะมาจากสาย HR และเขาจะสอนเป็นคลาสรูม จนทำให้ผมรู้สึกว่าเขาไม่มีประสบการณ์ โค้ชไม่เข้าใจ และไม่รู้จริง แต่หลังจากผมเข้ามาทำงานในหลาย ๆ องค์กร จนมาเป็นผู้บริหาร ผมคิดว่าประสบการณ์ผ่านมาของผมน่าจะช่วยผลักดันศักยภาพของผู้บริหารได้ เพื่อให้เขาไปถึงเป้าหมาย และประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ"
          "เพราะผมเคยทำงานในองค์กรที่มีชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นทีมใหญ่ และต้องบริหารจัดการในหลายฟังก์ชั่น และ หลายมิติ ทำให้ผมเข้าใจวิถีการทำงานของคนตะวันตก และตะวันออก จนมองออกว่าถ้าเราจะบริหารองค์กรที่เป็น multinational จะต้องทำอย่างไร และไม่ใช่แต่เฉพาะผู้บริหารที่เป็นคนไทย เท่านั้น แต่ยังมีผู้บริหารที่เป็นชาวต่างชาติ ด้วย ผมจึงเชื่อว่าประสบการณ์ผ่านมาที่ไม่ใช่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียวน่าจะนำมาผสมผสานกัน จนทำให้ผมแตกต่างจากโค้ชทั่วไป"
          ผลตรงนี้ จึงทำให้ "ภารไดย" เชื่อว่า...แต่คนเป็นซีอีโอ หรือผู้บริหารระดับสูง ต้องกล้าที่จะล้มเหลว และเรียนรู้กับความล้มเหลวดังกล่าวด้วย
          "เพราะผมเป็นคนชอบทดลองหลาย ๆ วิธีด้วยกัน สิ่งที่ทำผิดประจำคือการประชุม และเดาว่าทำแบบนั้นแบบนี้จะดี จนไม่กล้าทดลองอะไรใหม่ ๆ เพราะกลัว ล้มเหลว ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผมที่จะเข้าไปเปลี่ยนวิธีการคิด และชักชวนให้เขาทดลองทำอะไรใหม่ ๆ จนทำให้เขาเชื่อว่าความล้มเหลวดีกว่าการหยุดนิ่ง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้น ของความตายในการบริหารธุรกิจ"
          "ดังนั้น เราจึงต้องทำให้ซีอีโอมีความเชื่อมั่น และต้องการผลักดันในสิ่งที่ตัวเอง คิดว่าถูกต้อง ทั้งยังต้องทำให้พนักงานในองค์กรมีความมั่นใจในตัวเอง และมีความรู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่าในองค์กร ถ้าเขายังไม่มีความรู้สึกนี้ เราต้องหาวิธีดึงพวกเขาให้เกิด passion เพื่อก้าวไปหาความสำเร็จพร้อม ๆ กัน"
          ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า...กลุ่มลูกค้าของ "mentor coach" คือ ใคร ? และหน้าที่ของ "mentor coach"ต้องทำอะไรบ้าง ?
          "ภารไดย" จึงบอกว่า...ผมโค้ชให้กับทุกกลุ่มธุรกิจ แต่จะต้องเป็นผู้บริหาร ระดับกลางขึ้นไป ไม่ว่าจะทำงานในส่วนของทนายความ, หน่วยงานราชการ, ธนาคาร, บริษัทพลังงาน, SMEs และอื่น ๆ
          "ส่วนเวลาของการโค้ชขึ้นอยู่กับ ผู้บริหารแต่ละคน และขึ้นอยู่กับปัญหาของพวกเขาด้วย แต่ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยผมจะโค้ชประมาณ 6 ครั้ง โดยทุก ๆ 1 ครั้งจะใช้เวลาประมาณ 1.30 ชม. เพื่อมอบหมายให้เขาทำงาน และเพื่อสำรวจตัวเอง จากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ จะนัดเจอกันอีกครั้ง แต่ถ้าเขาต้องการปรึกษาปัญหาด่วนจะใช้วิธีนัดหมาย หรือใช้โทรศัพท์พูดคุยกัน ส่วนค่าตัวของผมเรตราคาเท่ากับโค้ชต่างชาติ"
          "ฉะนั้น หน้าที่ของ mentor coach จึงทำ 2 อย่างไปพร้อม ๆ กัน คือ ทำหน้าที่พี่เลี้ยง และโค้ช แต่ส่วนใหญ่แล้วผมจะหันมาช่วยผู้บริหารระดับกลางมากกว่า เพราะคนเหล่านี้อายุน้อย ประสบการณ์ยังมีไม่มาก พอมีปัญหาเขายังมองไม่ออกว่าจะแก้ไขอย่างไร หน้าที่ของผมคือต้องนำปัญหาของเขามาคลี่ดู เพื่อมองให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ หรือไอเดียของเขาในการรันธุรกิจ เพื่อช่วยผลักดัน ไอเดียของเขาให้เกิดขึ้นจริง"
          นอกจากนั้น "ภารไดย" ยังมองภาพของตลาดโค้ชให้ฟังเพิ่มเติมว่า...ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ มีการใช้โค้ช ค่อนข้างเยอะ แต่สำหรับ mentor coach มีน้อยมาก ยิ่งเฉพาะในเมืองไทย ผมว่ามีน้อยมาก ๆ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นโค้ชทั่วไปมากกว่า
          "ผมจึงมองว่าหน้าที่อีกอย่างของ mentor coach นอกจากจะต้องสร้างคุณค่าให้กับผู้ที่ถูกโค้ชว่า เขาจะต้อง มีคุณค่าแบบไหน เพื่อส่งต่อคุณค่านี้ไปช่วยผลักดันองค์กร และถ้าเป็นไปได้ หากคุณค่าเหล่านี้ช่วยทำให้สังคมดีขึ้นด้วยจะยิ่งดี ดังนั้น คนที่ผมโค้ชจึงต้องมีทัศนคติเชิงบวก และพร้อมที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น เพราะผมเองมีประสบการณ์เรื่องความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมขององค์กร ตรงนี้อาจเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ผมผ่านการสร้างแบรนด์องค์กรต่าง ๆ จนนำมาเป็นจุดแข็งในการพัฒนาแบรนด์ของแต่ละบุคคลขึ้นมา"
          อันเป็นคำตอบของ "mentor coach"ผู้ที่มีความเชื่อว่า ทุกคนสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองได้

 


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ   20 มีนาคม 2562