เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

วิถีผู้นำ "จิตไม่ตก"

ข่าววันที่ : 9 ก.ค. 2561


Share

tmp_20180907101434_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 9 ก.ค. 2561

          รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข
          siryupa.roongrerngsuke@sasin.edu

          ใครไม่เคยจิตตก ยกมือขึ้น? คาดว่าทุกคนย่อมเคย จิตตกกันมาแล้วทั้งนั้น ประเด็นอยู่ที่ว่าท่านจิตตก บ่อยเพียงใด ถ้าท่านเกิดอาการจิตตกบ่อยๆ ตกลึก และ ตกนานจนมีผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิต ในแต่ละวันอย่างปกติสุขได้ เช่นนอนไม่หลับ อารมณ์หงุดหงิด และหัวเสียใส่คนรอบข้างบ่อยๆ ด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช้าขึ้นมา ไม่อยากลุกไปทำงาน ฯลฯ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Burnout" ที่ภาษาไทย อาจแปลว่าหมดไฟ แบตหมด หรือถอดใจไขก๊อกนั่นเอง
          จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและความเครียด กล่าวว่า เจ้าตัวหรือคนใกล้ชิดต้องใส่ใจสังเกตจิตใจร่างกายของตน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในด้านใด ที่สำคัญคือ ต้องยอมรับว่าตนเอง มีปัญหาและหาตัวช่วยมาแก้ไขเสียโดยเร็ว หลายคนที่แบตหมด จนเจ็บตัวต้องเข้ารพ. หรือลาโลกนี้ไปก่อนเวลาอันสมควร ทั้งนี้อาการ แบตหมดนี้เกิดขึ้นได้กับผู้นำทุกวัย แต่ผู้นำอายุน้อยที่ยังผ่านร้อนผ่านหนาว มาไม่มากพออาจจะเกิดอาการแบตหมดได้เร็วและบ่อยกว่าผู้สูงอายุที่ผ่าน เรื่องหนักๆ มามากกว่าจนมีภูมิคุ้มกันความเครียดที่สูงกว่า
          โดยทั่วไปแล้วลักษณะของคนที่เป็นผู้นำที่เป็นสาเหตุทำให้พวกเขา เกิดความเครียดได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ ก็คือ มีความทะเยอทะยาน (ambition) สูง มีความมุ่งมั่นอยากก้าวหน้าอย่างไม่ย่นย่อ ไม่ท้อถอยง่ายๆ ชอบการ แข่งขันและต้องการเป็นผู้ชนะ ต้องการทำผลงานที่เลิศสมบูรณ์แบบ ที่สุด (perfectionist) ลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมานี้หากมีพอดีๆ ก็ถือเป็น คุณลักษณะที่ทำให้คนเราก้าวหน้าเด่นกว่าคนอื่นและกลายเป็นผู้นำไป แต่ถ้ามีมากเกินไปก็จะกลายเป็นโทษสมบัติที่สร้างความเครียดให้ ตนเอง ทั้งนี้คนอื่นอาจจะไม่ได้คาดหวังกับตัวเองมากนัก แต่เป็น เจ้าตัวเองที่รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเป็นอยู่ ทำอยู่หรือมีอยู่มันยังดีไม่พอ เก่งไม่พอ
          คำว่าไม่พอทำให้จิตใจไม่สามารถหยุดพักเมื่อถึงเวลาที่ควรพัก ยังดิ้นรนทำงานไปเรื่อยๆ จนเกิดความล้าทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจาก ประเด็นเรื่องความคาดหวังสูงแล้ว ประเด็นเรื่องของความขัดแย้ง (conflict) ในที่ทำงานก็เป็นอีกสาเหตุใหญ่ที่ทำให้หลายคนไขก๊อก เช่นกัน บางคนโชคดีมีความสามารถที่จะปัดความเครียดออกจากจิตใจ ได้รวดเร็ว พอโดดขึ้นเตียงนอนก็สามารถโยนเรื่องกวนใจทิ้งออกไปได้ แต่ผู้นำหลายคนทำไม่ได้ และเรื่องแบบนี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกกัน ถ้าปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นนานๆ มันอาจสายเกินไป
          ขอเริ่มจากผู้นำมากประสบการณ์อย่างเช่น บิลล์ จอร์จ ค่ะ จอร์จคือ ศาสตราจารย์สาขาวิชาการจัดการของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด เคยเป็นอดีต CEO ของบริษัทขายเครื่องมือแพทย์ยักษ์ใหญ่ เมดทรอนิคส์ (Medtronics) และเคยเป็น ผู้บริหารระดับสูงของ อีกหลายบริษัทเช่น เอ็กซอน โมบิล โกลด์แมน แซ็คส์ เมโยคลินิค เป็นต้น
          จอร์จยกตัวอย่างผู้นำอายุน้อยแบบมาร์ค ซัคเคอร์เบอร์กที่รู้จัก สร้างโครงข่ายความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารหลายๆ คน เช่น บิลล์ เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ ดอน แกรห์ม CEO ของวอชิงตัน โพสต์ (รายนี้ รู้จักกันนานนับสิบปี จนดอนกลายมาช่วยบริหาร Facebook ให้ซัคเคอร์เบอร์คในที่สุด) และมาร์ค แอนดรีสเซน ผู้สร้าง Mosaic เว็บเบราเซอร์ชื่อดังจากซิลิคอน แวลลีย์ การที่ซัคเคอร์เบอร์ครู้จัก ผู้บริหารผู้สูงวัยและประสบการณ์หลายๆ คนทำให้เขาได้เรียนรู้ บทเรียนดีๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจและรักษาตัวเองให้ ฝ่าคลื่นลมต่างๆ ได้ค่อนข้างราบรื่นจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับดอน แกรห์มนั้น เบาเคยใกล้ชิดขนาดเป็นเงาตามตัวแกรห์มอยู่หลายปีทีเดียว
          ดังนั้นหนึ่งแนวทางพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ของไทยเราจึงควร ให้ความสำคัญกับการจัดให้ผู้นำรุ่นก่อนได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้นำ รุ่นใหม่สัก 2-3 ปีก็จะเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ถ่ายทอดทั้งเรื่องของ กลยุทธ์วิธีการทำงานและเรื่องการสร้างความตระหนักในตนเอง เพื่อหลีกห้วงเหวของการจิตตกด้วย
          ส่วนวิธีของการรักษาจิตนั้น ทางฝั่งของฝรั่งก็ไม่ค่อยต่างไปจาก ฝั่งของไทยเราสักเท่าไรจอร์จแนะนำว่าผู้นำ (หรืออันที่จริงแล้ว มนุษย์เงินเดือนทุกคน) ควรจัดเวลาหยุดพักสักแค่วันละ 20 นาที เพื่อที่จะหยุดทำงานทุกอย่าง หยุดรับโทรศัพท์ หยุดอ่านและส่งข้อความ ทั้งหลายบนมือถือ บางคนอาจใช้เวลานี้ในการไปเดินเล่น วิ่งออกกำลัง หรือนั่งสมาธิ ซึ่งสำหรับจอร์จเอง เขาใช้วิธีนั่งสมาธิ ขอแค่วันละ 20 นาที ให้ทำให้ได้ที่จะทิ้งงานไปจากสมอง สรุปจากบิลล์จอร์จก็มี 2 ข้อใหญ่คือ สร้างโครงข่ายหาตัวช่วยเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาให้กับตนเอง อย่าคิดมาก คนเดียวจนปล่อยให้จิตตก และการจัดเวลาหยุดพักสั้นๆ ทุกๆ วัน


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 9 กรกฎาคม 2561