เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ผู้นำสอนกันไม่ได้แต่เรียนรู้ได้

          มีผู้นำที่เรียนไม่จบ แต่ก็ประสบความสำเร็จหลายคน อย่าง บิล เกตส์ มาร์ค  ซัคเคอร์เบิร์ก และสุดยอดขวัญใจคนทั่วโลกอย่าง  สตีฟ จ็อบส์

          สิ่งที่เหมือนๆ กันของบรรดาบริษัทที่ประสบความสำเร็จ แต่หัววันคือ สำเร็จได้จากนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย

          "มีเด็กมหาวิทยาลัยที่ หัวดี และมี นวัตกรรมหลายคน  ที่สร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องของวัยอีกต่อไปแล้วว่า ต้องมีอายุมาก ต้องมีประสบการณ์  ถึงจะประสบความสำเร็จได้ มีหลายคน ที่เรียนไม่จบ และกระโดดเข้าสู่ธุรกิจ ตอนอายุน้อย"

          ราจีฟเป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริหารจัดการองค์กร เขาใช้ชีวิตในหลายประเทศ และเรียนรู้มุมมองที่หลากหลายของการบริหารจัดการ โดยศึกษาถึงพฤติกรรมภาวะผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน มีผลงาน ตีพิมพ์ในนิตยสารฟอร์บหลายชิ้นงาน

          ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน ทำให้เขาค้นพบว่า ยิ่งองค์กรมีความ หลากหลายทางด้านเพศ เชื้อชาติวัฒนธรรม และความเชื่อมากเท่าใด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น จากผู้คน ที่หลากหลายมาอยู่รวมในที่เดียวกัน

          "ในสังคมที่หลากหลาย คนอายุมาก อายุน้อย ต่างแชร์มุมมองที่แตกต่างกัน  อายุมากแชร์ประสบการณ์ อายุน้อยก็แชร์ความคิดอ่านไปข้างหน้า การผสมผสานกัน ทำให้เกิดการรวมตัวของความสำเร็จ"

          เขาบอกว่า การผสมผสานในเรื่องอายุที่หลากหลายช่วงวัย เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ

          คำบ่นสุดฮิตของบรรดาคนทำงาน ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ในทำนองที่ว่า  เด็กสมัยนี้ขาดประสบการณ์ ทำให้ไม่เก่ง และการเกิดในยุค generation ME อะไรๆ ก็ต้องเป็นฉัน ตัวเองสำคัญที่สุด  ก็ช่างดูน่าหมั่นไส้เสียจริง

          ราจีฟบอกว่า จริงๆ แล้ว การมองว่าตัวเองสำคัญที่สุด ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุค อะไรๆ ก็ฉัน แต่มีมาก่อนหน้านมนาน ตั้งแต่ baby boomer, generation X และ generation Y ยังตีนเท่าฝาหอย

          "ลองย้อนกลับไปดูตัวเอง สมัยอายุ 18 เราเองก็เป็นแบบนี้ มองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ไม่ใช่ยุคนี้ที่เพิ่งมาเป็น เพียงแต่ปัจจุบันมันเห็นชัดมากขึ้น เพราะสื่อทำให้คน generation ME ดูโดดเด่นขึ้นมา"

          หนึ่งในความสำเร็จขององค์กรก็คือ ผู้นำ และความสำคัญของผู้นำก็ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเพศ แต่อยู่ที่ว่าภาวะความเป็นผู้นำนั้น จะพัฒนาต่อไปได้ไหม เพราะผู้นำไม่ได้มาจากตำแหน่ง หรือมาจากการสอนในห้องเรียน มหาตมะคานธีเอง ก็ไม่มี สิ่งเหล่านี้เลย แต่กลับได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้นำที่ทรงพลังของโลก

          เขาเขียนสมการยาวเหยียดว่ามี องค์ประกอบอะไรบ้าง ที่จะทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จได้ โดยเริ่มต้นจาก  พลัง + บารมี + อำนาจสั่งการ + บุคลิกภาพ + ทักษะ + ความสามารถ + แนวปฏิบัติที่ดี และบวกอื่นๆ อีกมากมาย

          "มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ที่ทำให้ผู้นำเป็นผู้นำ แล้วต้องไปยึดโยง บวกอะไร กับอะไร ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำจริงๆ เพราะการเป็นผู้นำไม่ได้มาจากการอ่านกรณีศึกษา หรือถอดกลเม็ดแนวปฏิบัติ ที่ดี ผู้นำหลายคนไม่ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย มหาตมะคานธี ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย เนลสัน แมนเดลา ก็เหมือนกัน ยังใช้เวลาอยู่ในคุกตั้งหลายปี" ราจีฟเฉลยว่า สมการการเป็นผู้นำ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน องค์ประกอบ คับแก้ว มีได้คนเดียวในโลกใบนี้ คำตอบก็คือ "God" เท่านั้นหละ เพราะฉะนั้นแล้วการเป็นผู้นำ ไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบอะไรมาต่อลากยาวให้รุงรัง

          "ผู้นำมีอยู่ในทุกเพศทุกวัย สำคัญคือพัฒนาได้ ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย คนอายุ 24 ปี กับคนวัย 40 อัพขึ้นไป ความฉลาดไม่เท่ากัน เด็กรุ่นใหม่หาความรู้ได้ง่ายมากจากสมาร์ทโฟน ไม่ต้องเสียเวลาจดจำทุกสิ่ง"

          สิ่งที่เคยทำให้คนเราประสบความสำเร็จในปี 1990 ก็คือความรู้ ในอดีตยิ่งจำได้มาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มาก แต่ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป เราไม่จำเป็นต้องไปรับรู้ในสิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำได้ ความคิดมันเปลี่ยนไป จากเดิมที่ต้องกักตุนความรู้  จำได้หมายรู้ให้มากๆ แต่ในยุค 4G  ปี 2016 นี้ แค่รู้ว่าจะไปหาองค์ความรู้ได้ จากแหล่งไหน ก็เพียงพอแล้ว สำหรับ เอามาพลิกแพลงใช้งาน

          เขาย้ำคำว่า การเป็นผู้นำไม่สามารถสอนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังแค่ไหนในโลกใบนี้ ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนให้เปลืองตังค์ แต่สามารถเรียนรู้ได้  จากประสบการณ์ที่ไม่มีที่ไหนสอน

          ผู้นำสอนกันไม่ได้ แต่เรียนรู้ได้ (can't be taught but can be learned)

          เรียบเรียงจากงานหัวข้อสัมมนา Leading Through the new normal with Strategic Diversity and Inclusion, TMA Day 2016 จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

          ต้องมีพลังและไม่ยอมแพ้

          ราจีฟ เปชาวาเรีย เล่าว่า ตอนที่ โฮวาร์ด มาร์ค ชูลต์ส (Howard Schultz) เริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์บัคส์ เขาไม่มีเงินสักบาท แถมสมัยนั้นผู้คนก็ไม่คุ้นชิน การดื่มกาแฟสด เท่ากับกาแฟสำเร็จรูป

          โฮวาร์ดต้องสร้างเรื่องราวอันแสนดื่มด่ำราวกับต้องมนต์ ของเมล็ดกาแฟ สีเดียวกับโค้ก เพื่อสร้างสุนทรียรสของกาแฟสด ที่กาแฟสำเร็จรูปให้ไม่ได้

          แต่กว่าจะเป็นกาแฟแก้วโปรด ที่ผู้คนครึ่งโลกอยากถือติดมือ รองจากไอโฟน โฮวาร์ดต้องไปตระเวนเคาะตามบ้านในย่านที่เขาอาศัย รวม 230 หลัง ถึงจะได้เงินมาเปิดร้านเล็กๆ ในชุมชน

          "ถ้าเป็นคนอื่น จะยอมเดินไปให้ครบ 230 หลังไหม คงถอดใจตั้งแต่ 20  หลังแรก แล้วหันหลังกลับ บอกตัวเองว่า ธุรกิจนี้คงเป็นไปไม่ได้"

          อะไรที่ทำให้ผู้นำแตกต่างจากคนธรรมดา

          เรื่องสำคัญของผู้นำก็คือ อยากเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าเดิม และทุกครั้ง ที่ต้องการเปลี่ยน ก็มักจะถูกคนรอบข้างกรอกหูว่า เป็นไปไม่ได้หรอก มันยาก นะเออ

          ถ้าเป็นคนธรรมดาก็จะใจฝ่อ แต่กับผู้นำ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ดังนั้นแล้วเมื่อรักจะเป็นผู้นำ ก็ต้องตุน "พลัง" ให้มากเข้าไว้ อย่าได้สนใจเสียงนกเสียงกา

          อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เป็นผู้นำต้อง "ไม่ยอมแพ้" ต่อให้นกกามา เป็นฝูง แล้วบอกว่า ทำไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้หรอก แคว๊กๆๆๆ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป อย่าได้ล้มเลิกกลางคัน

          "ผู้นำจะรู้จักตัวเอง และตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ผู้นำทุกคนจะ มุ่งไปสู่สูงสุดของปิรามิด นั่นคือ ปราศจากความกลัว ไม่กลัวความล้มเหลว  ไม่กลัวความตาย และเดินหน้าทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้ประสบความสำเร็จ"

          "ผู้นำไม่สามารถ สอนกันได้  ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยไหน  ไม่ต้องเสียเวลา ไปเรียน ให้เปลืองตังค์ แต่สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์"

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 มีนาคม 2559 หน้า 20



เอกสารที่เกี่ยวข้อง