เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
3 หลักการทำงานสร้างสมดุลชีวิต

          สำหรับใครบางคนแล้ว การชั่งตวงวัด  "การหาเลี้ยงชีวิต" และ "การใช้ชีวิต"ให้อยู่ในจุดที่พอดีกัน เหมือนซื้อส้ม 1 กก. แล้วอ่อนแก่ไปขีดสองขีดยังพอรับได้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก

          รวมถึงผู้บริหารหญิงคนนี้ด้วย "ปรารถนา มงคลกุล" ประธานกรรมการ บริษัท บูติค  คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน

          ขณะที่บางคนเลือกวิถีชีวิตการทำงานแบบ เข้า 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็น ผจญรถติดตอนกลับบ้าน แต่ก็ยังไปทันกินข้าวเย็นกับคนที่บ้านตอน 2 ทุ่ม        เธอเลือกที่จะทำงานตั้งแต่ไก่โห่ 7 โมงเช้า และไปเลิกเอา 5 ทุ่ม พอทันข้าวต้มรอบดึก

          ถ้านับเอาชั่วโมงการทำงานในชีวิตก่อนเกษียณ ซึ่งแต่ละคนเกษียณไม่เท่ากันแล้ว ปรารถนาบอกว่า เผลอๆ การใช้ชีวิตอาจจะเท่ากันก็เป็นได้ในวันที่ชีวิตของเธอ เริ่มต้นที่เลข 5 เธอจัดแจงปลดเกษียณตัวเองอย่างสง่างามเป็นที่เรียบร้อย

          ผันตัวเองจากตำแหน่งผู้บริหารตระกูล C (CEO, CFO, COO, CPO etc.)  มากินตำแหน่ง "กรรมการ" บริษัท

          แถมยังเป็น กรรมการ แบบ unlimited โรดโชว์นั่งได้หลายที่ ผิดกับผู้บริหาร ชาติตระกูล C ถ้าปักหมุดอยู่ตรงไหน ก็ต้องอยู่ตรงนั้น ถ้าไปเดินสายรับจ็อบ อาจมีปัญหา

          "ถ้าอยากมีชีวิตที่สมดุลทั้งงานการและส่วนตัว เราต้องมีตัวช่วย" เธอบอกด้วยความที่อยากมีชีวิตที่ "ปรารถนา" เธอใช้หลักการ 3 อย่าง เป็นลมใต้ปีกช่วยพยุง1. การทำงานหนัก (work hard) ต้องมาก่อน การทำงานแบบฉลาดๆ (work smart) เพราะถ้าไม่ลงรายละเอียดในเนื้องานทุก high def inition ผลงานจะออกมา เนี้ยบๆ ได้อย่างไร

          "การทำงานที่ดีให้คิดเสมอว่า เรายังเป็นที่สองนะ ฉะนั้นเราต้องทำงานหนักเสมอ"2. ทุกชีวิตของคนเราล้วนต่างมีช่วงเวลา20-30 ปี เป็นช่วงเรียนรู้ในการทำงาน จะเดินหน้าถอยหลังชีวิตอย่างไรก็ได้30-40 ปี เป็นช่วง peak ของชีวิต ยังต้องขยันทำงาน และผลักดันชีวิตให้เดิน ต่อไปข้างหน้า

          40-50 ปี ไม่ใช่ช่วง "ค้นฟ้า" แต่ต้องไป "คว้าดาว" ให้จงได้ละ ต้องเอื้อมมือออกไป ให้สุดแรง

          เพราะเมื่อชีวิตเลยวัย 50 ปีไปแล้ว เราจะไม่มีทางไปได้สูงกว่าตรงนั้นอีกเลย"หลังอายุ 50 ปีแล้ว มีใครสามารถทะลุความสำเร็จออกไปได้บ้าง" เธอตั้งคำถาม3. ทุกคนควรถามตัวเองทุกๆ 10 ปีว่า อีก 10 ปีอยากเป็นอะไร แล้วยังไงต่อ  ถ้าบังเอิญไปไม่ถึงที่อยากเป็น มีแผนสำรองฉุกเฉินเอาไว้ไหม

          "เวลาเราทำงานไปเรื่อยๆ ต้องมาเช็คเรทติ้งตัวเองทุก 10 ปี ว่าอยากเป็นอะไร  เหมือนกับทำบัญชีงบดุล (balance sheet) ให้ตัวเอง แต่อันนี้เป็นเรื่องของงบดุลชีวิต (balance life)"

          เมื่อทำครบทั้ง 3 ข้อแล้ว ข้อพิเศษข้อที่ 4 ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ มองเลยจากตัวเอง ไปหาผู้อื่นและสังคม

          "ถึงจุดหนึ่งเมื่อเพียงพอ ต้องมีแรงบันดาลใจให้สังคม"สำหรับปรารถนาแล้ว เธอบอกว่า I am enough ที่เหลือคือ "ส่วนเกิน"ในฐานะอดีตมือดีทางการเงิน ที่ง่วนอยู่กับตัวเลขในธุรกิจยักษ์ใหญ่ไมเนอร์กรุ๊ปมานานถึง 15 ปี เมื่อถึงคราวที่ต้องแบ่งปันให้สังคมบ้าง เธอเลือกวิธีเปิดบัญชี  "ออมบุญ" แยกออกจากบัญชี "ออมความมั่งคั่งประจำ" เมื่อไหร่มีงานบุญงานกุศลที่ถูกใจ ก็พร้อมโอนเงินบัญชีออมบุญแบบทันใจ  ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะถือว่าแยกหน้าบัญชีเรียบร้อยแล้ว

          เงินสนับสนุนสังคมส่วนใหญ่ เธอปันส่วนให้กับการศึกษา เพราะถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนเราได้เปลี่ยนสถานะทางสังคม

          เหมือนกับตัวเธอเอง ที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ที่สนับสนุนการศึกษา  จนผลักดันให้เธอกลายมาเป็นผู้หญิงแถวหน้า ประสบความสำเร็จเกินคาด  และสามารถเกษียณตัวเองได้เร็วกว่ารุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน...

 

          

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ก.พ. 59 หน้า 20



เอกสารที่เกี่ยวข้อง