เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
สาเหตุของความขัดแย้งในองค์กร

       

 

ทัธภร ธนาวริทธิ์ tpattarawarit@gmail.com ที่ปรึกษาองค์กร บริษัท เอสทีไอ คอนซัลติ้ง จำกัด

          การแก้ปัญหาของการขัดแย้งขององค์กร เมื่อเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นแล้วไม่ว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ก็คงต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเสียประโยชน์ หรืออาจจะรู้สึกเสียประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

          ถ้าเราเข้าใจว่าคนเราขัดแย้งกันเพราะอะไร เราก็สามารถแก้ไขหรือป้องกันที่ต้นเหตุก่อนที่เหตุการณ์นั้นจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ผู้เขียนจะขออ้างอิงตามคำพระพุทธเจ้าซึ่งได้กำหนดไว้ว่า คนเราจะขัดแย้งกันด้วย 2 เหตุผล คือ อิจฉาและตระหนี่ เราลองมาเทียบดูจากตัวเราเองว่า เราเองมักเกิดการขัดแย้งจาก 2 สาเหตุนี้หรือไม่ ความอิจฉาและความตระหนี่มีต้นเหตุมาจาก 2 สิ่ง คือ สิ่งอันเป็นที่รัก และสิ่งอันไม่เป็นที่รัก

          ถ้าเรารักสิ่งใดแล้ว จะทำให้เรามีความรู้สึกที่จะต้องการครอบครอง และไม่ต้องการสูญเสีย หรือไม่อยากขาดความสำคัญจากสิ่งที่รัก นั่นก็คือความตระหนี่ ซึ่งจะนำเราไปสู่ความหวงกั้นไม่ให้เสียสิ่งที่เรารักไป และเมื่อใดมีผู้ที่ได้ความรัก ความสนใจจากสิ่งที่เรารัก ความอิจฉาจะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อยเก้าอี้ การใส่ความ การไม่ยอมเข้าร่วมในสิ่งผู้ที่เราอิจฉามีส่วนร่วม การกีดกัน การพูดความไม่จริงเพื่อให้เราสามารถรักษาสิ่งอันเป็นที่รัก ของเราไว้

          ลองพิจารณาความขัดแย้งต่างๆ ที่เราได้พบเจอว่ามีสาเหตุมาจาก 2 เหตุผลนี้หรือไม่ แล้วเราเคยได้แสดงออกถึงการหวงกั้นไปในรูปแบบใดบ้าง เราจะพบว่าบางครั้งความอิจฉาของเรานั้นอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่เราไม่รู้ตัว เช่น การที่เราไม่ได้แบ่งปันความรู้บางอย่างออกไปเพราะกลัวว่าคนอื่นจะรู้มากกว่าเรา การบอกความจริงเพียงบางส่วนออกไปโดยไม่ได้บอกข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้ที่รับฟังรู้สึกไม่สบายใจ โดยเราจะมีคำตอบในใจให้กับตัวเองว่าเราพูดความจริง เราเป็นคนพูดตรง

          แม้กระทั่งบางครั้งเราก็มีข้ออ้างเพียงแค่เป็นการรักษาสิทธิของเรา ทั้งๆ ที่บางครั้งเราก็ไม่ได้ต้องการใช้สิทธินั้น จริงๆ เพียงเพราะไม่อยากให้ใครได้ไป เช่น การได้สิทธิที่จอดรถ แม้ว่าเราไม่มีรถแต่เราจะรักษาสิทธินั้น โดยจะเอามาให้คนที่เราพอใจแทนตัวอย่างเบื้องต้นนี้ล้วนแต่มีต้นเหตุมาจากความอิจฉาและความตระหนี่ทั้งสิ้น

          เมื่อเรารู้ว่าความขัดแย้งนั้นลึกๆ มีสาเหตุมาจากอะไรแล้ว สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการควบคุมตัวเองให้ลดการขัดแย้ง ความรู้สึกอิจฉา และตระหนี่ของเราที่จะเกิดขึ้นในที่ทำงาน ถึงแม้บางครั้งเราเองอาจจะไม่ได้เป็นต้นเหตุในการขัดแย้งดังกล่าว แต่อาจจะต้องมีส่วนร่วม หรือรับรู้ในการขัดแย้งนั้น เราจะต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุให้ดี และตัดวงจรความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ผสมโรง หรือไปทำให้ไฟนั้นลุกลามใหญ่โต

          ที่สำคัญเราจะต้องไม่ตกเป็นทาสของความอิจฉา และความตระหนี่อันจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งต่างๆ

          แต่ถ้าหากเราต้องการระงับความขัดแย้ง และยิ่งถ้าเราต้องเป็นผู้มีอำนาจ หรืออยู่ในตำแหน่งที่จะต้องการจัดการความขัดแย้งเราจะทำอย่างไร เราควรจะมีหลักการในการ แก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้อย่างไร ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงการจัดการความขัดแย้งว่ามีกี่วิธี และแต่ละวิธีมีแนวทางอย่างไร เราจะนำวิธีไหนมาใช้เมื่อใด และถ้าวิธีที่นำมาใช้ ยังคงไม่สามารถแก้ได้แล้ว เราจะต้องใช้วิธีอะไรต่อไปใน การแก้ปัญหาการขัดแย้งนั้นๆ และถ้าปัญหายังคงอยู่เราควรทำอย่างไร

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

รูปภาพจาก : www.thailandindustry.com