เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
พลิกสวนยางปลูก "กล้วยหอม"

          พรพิมล ไชยนุรัตน์

          ในช่วงระยะเวลาที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราต้องประสบปัญหาราคาตกต่ำมาโดยตลอด รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลไม่เอื้อต่อการช่วยเหลืออย่างจริงจังนั้น ในพื้นที่ อ.นบพิตำ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีเกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบเช่นกัน
 


          นายศรชัย สุทธิบูลย์ อายุ 46 ปี เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 30 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 4 ต.กะหรอ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ช่วงที่ยางพาราราคาตกต่ำนั้นเป็นช่วงที่เกษตรกรแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ระยะเวลา 4-5 ปี สำหรับการต่อสู้เพื่อให้ได้มีราคาสูงขึ้นคงจะยาก จึงมองหาทางออกว่าจะทำอย่างไรกับสวนยางพาราเหล่านี้ ในระยะแรกๆ ได้ไปศึกษาดูการปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และราชบุรี ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะพอมีความรู้ จึงเข้าไปเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร ศึกษาหาความรู้ในเรื่องการส่งกล้วยหอมออกต่างประเทศ จึงลงมือโค่นต้นยางพาราทั้งหมดกว่า 30 ไร่ ออกขายได้เงินมาเพียงไม่กี่พันบาท นำเงินที่ได้จากการขายต้นยางมาปรับพื้นที่ หาซื้อหน่อกล้วยจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จใน จ.ปทุมธานี ในราคาหน่อละ 15 บาท จำนวน 13,000 หน่อ วางแผนการปลูกไว้ 3 รุ่น โดยใช้ระยะห่างในการปลูก 2x2 เมตรต่อหน่อ ใช้เวลาเพียง 7 เดือนก็ได้ผล ตกเครือละ 5 หวี หวีละ 4-5 กิโลกรัม สหกรณ์รับซื้อในราคาที่เป็นธรรมเท่ากันทั้งปี คือ กิโลกรัมละ 16.50 บาท สามารถตัดกล้วยหอมทองส่งออกได้ทุกๆ 2 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 200-300 เครือ สิ่งที่สำคัญคือ สภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย น้ำในการทำเกษตรต้องมีสม่ำเสมอ ปุ๋ยที่ใช้คือปุ๋ยชีวภาพ กล้วยหอมทองที่ปลูกได้จึงเป็นกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ ปราศจากสารเคมีใดๆ ทุกเดือนจะมีสมาชิกของสหกรณ์เดินทางมาตรวจสภาพสวน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ
 


          ในระยะแรกที่ตัดสินใจลงมือปลูกกล้วยหอมทองและลงมือโค่นต้นยางพาราทั้งหมดทิ้ง ถูกชาวบ้านมองว่าเพี้ยน เนื่องจากในละแวกใกล้เคียงจะเป็นสวนยางพาราหมด แต่วันนี้จึงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากหยิบอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน มีการวางแผนจับให้ดีก็สามารถสร้างรายได้ กล้วยหอมทองที่ปลูกรุ่นแรกตัดขายส่งไปจำหน่ายแล้ว 2 รอบ รุ่นที่ 2 ก็กำลังเจริญเติบโตเป็นอย่างดี คาดว่าปีหน้าจะตัดได้ หลังจากนั้นก็จะลงมือปลูกรุ่นที่ 3 ต่อไป ดังนั้นในปีหน้าจะมีกล้วยหอมส่งจำหน่ายสหกรณ์ได้ตลอดทั้งปี และผมไม่ได้หยุดแค่นี้ ยังได้ชักชวนให้เพื่อนบ้านหันมาปลูกกล้วยหอมทองเพื่อสร้างรายได้แทนการปลูกต้นยางพารา ก็ยังไม่มีใครเชื่อ เพราะผมยังไม่ประสบผลสำเร็จ 100% อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าเดินมาถูกทาง หากสามารถรวบรวมสมาชิกในพื้นที่ได้และทุกคนเห็นด้วยก็จะตั้งโรงงานแปรรูปกล้วยหอมทอง ผลิตเป็นแพคเกจจิ้งกล้วยหอมทอง และผลิตกล้วยหอมทองในรูปแบบต่างๆ ส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับครอบครัวและสมาชิกด้วย

          นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกษตรกรชาวสวนยางอีกหลายพื้นที่หากสนใจทดลองปลูกกล้วยหอมเป็นทางเลือกในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพียงแต่จะต้องศึกษาขั้นตอน วิธีการปลูก รวมทั้งวางแผนการทำงานก็จะสามารถพลิกสวนยางที่ราคาตกต่ำ ให้เป็นรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 ก.ย. 58  หน้า 28