เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
บริษัทในฝัน

          ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
          warapatr@gmail.com


          สองสามปีที่ผ่านมานี้ผมพบว่าบริษัทหลายแห่งที่เขียนวิสัยทัศน์ หรือทบทวนวิสัยทัศน์ จะมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือฝ่ายบริหารมักจะบอกว่ามีความปรารถนาที่จะสร้างองค์กรให้เป็น "องค์กรที่น่าทำงานด้วยที่สุด" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Employer of Choice"วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กัน ดีไหมครับ? ว่ากันในระดับโลกเลยก็ได้ผลสำรวจของหลายสำนักออกมาตรงกันว่า ในปี 2558 นี้ บริษัทที่ได้รับยกย่องว่าเป็น"บริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุด" ก็คือบริษัทกูเกิ้ล..ใช่แล้วครับ "อาจารย์กู" ที่พวกเราใช้บริการกันเป็นประจำนั่นแหละ เริ่มจากเดือนธันวาคม 2557 องค์กรชื่อ Glassdoor ได้แถลงผลการสำรวจว่ากูเกิ้ลเป็นบริษัทในอเมริกา  ที่คนอยากเข้าทำงานด้วยมากที่สุด

          พอปลายเดือนมีนาคม 2558 นิตยสารฟอร์บส์ ก็ได้รายงานผลการสำรวจพนักงาน 20,000 คนในบริษัทและองค์กรต่างๆ ของอเมริกา ด้วยคำถามง่ายๆว่า "คุณคิดว่ามีความเป็นไปได้เพียงใด ที่คุณจะแนะนำบริษัทของคุณ ให้คนอื่นเข้ามาทำงานด้วย"โดยให้คะแนนจากสเกล 0-10 ซึ่งผลที่ได้รับก็คือ กูเกิ้ล ได้อันดับสูงสุด และเมื่อต้นเดือนกรกฏาคม 2558 นี้เอง ก็มีรายงานจากสำนัก Piazza ซึ่งสำรวจนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ จำนวน 19,000 คน จาก 340 มหาวิทยาลัยทั่วโลก ว่าอยากทำงานที่ใดมากที่สุด ปรากฏว่า  กูเกิ้ลก็มาอันดับหนึ่งอีกเช่นกัน

           การที่สำนักสำรวจซึ่งใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป กลุ่มเป้าหมายและคำถาม รวมทั้งจำนวนตัวอย่างก็ต่างกัน แต่ผลที่ได้ปรากฏว่ากูเกิ้ล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุด บ่อยครั้งและสม่ำเสมอมานานหลายปีจึงย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า บริษัทนี้ไม่ธรรมดาจริงๆ เอาเป็นว่าเมื่อ2-3 ปีก่อน มีรายงานว่าผู้สมัครเข้าทำงานที่กูเกิ้ล มีจำนวนวันละประมาณ 3,000 คน ซึ่งก็เท่ากับว่าใน 1 ปีมีคนประมาณ1 ล้านคนที่ประสงค์จะเข้าทำงานกับกูเกิ้ล ในขณะที่พนักงานทั้งหมดของกูเกิ้ลมีเพียง4,000 คน เท่านั้น และเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2557 นิตยสารฟอร์บส์ ก็ได้รายงานว่า มีผู้สมัครเข้าทำงาน กับกูเกิ้ลมากถึงปีละ 2 ล้านคนแล้ว!

          แถมยังมีบทความแนะนำว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ทำงานที่กูเกิ้ล เช่นบอกว่า 14% ของคนที่นั่น ไม่มีปริญญา ดังนั้นปริญญาจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเสมอไป และ ที่กูเกิ้ลนั้น ความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สำคัญกว่าเรื่อง ไอคิว นอกจากนั้นก็ต้องมีความพร้อมที่จะปรับตัวเป็นผู้นำก็ได้ เป็นผู้ตามก็ได้ เมื่อสถานการณ์เอื้อไปทางใดทางหนึ่ง ฟอร์บส์ สรุปว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้สมัครต้องผ่านการสัมภาษณ์ถึง  5 ครั้ง ใช้เวลาเฉลี่ย 37 วัน และมีโอกาสได้เข้าเป็นพนักงานเพียง 1:130 เท่านั้น  เมื่อเทียบกับนักเรียนมัธยมที่สมัครเข้าเรียนฮาร์วาร์ด ซึ่งมีโอกาสได้เข้าเรียน1:14

           กูเกิ้ล ได้รับการกล่าวขวัญมานานแล้วว่า โดดเด่นมากในเรื่องของเงินเดือนที่สูง และสวัสดิการดีเยี่ยม รวมทั้งบรรยากาศของสถานที่ทำงาน ซึ่งออกแบบให้คล้ายกับเป็นมหาวิทยาลัย มีรถจักรยานสีสดใสจำนวนมาก ให้พนักงานขี่จากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง มีการดูแลสุขภาพอย่างเป็นเลิศ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายประเภท และมีแม้กระทั่งการจ่ายค่าผ่าตัดแปลงเพศให้ สำหรับพนักงานที่ประสงค์จะทำเช่นนั้น! นอกจากนั้น ถ้าพนักงานผู้ใดเสียชีวิต บริษัทก็จะจ่ายเงินเดือน 50%  ให้แก่คู่สมรสต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี และจ่ายให้บุตรเดือนละ 1,000 เหรียญ จนถึงอายุ 19 ปี ถ้าบุตรเรียนมหาวิทยาลัยเต็มเวลา ก็จ่ายให้ต่อไปเรื่อยๆจนถึงอายุ 23 ปี เป็นต้น

          แล้วอย่างนี้ จะไม่ทำให้คนอยากทำงานที่กูเกิ้ล มากที่สุดได้อย่างไร ความจริง กูเกิ้ล ไม่ใช่บริษัทเดียว ที่เป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยอย่างยิ่ง เพราะในการสำรวจทุกครั้ง ก็มีบริษัทอื่นที่อยู่ในอันดับสูงอย่างสม่ำเสมออีกหลายบริษัท เช่นกันเพียงแต่การที่ กูเกิ้ล ติดอันดับหนึ่ง บ่อยครั้ง และสม่ำเสมอมานานพอสมควร ที่ทำให้ชื่อกูเกิ้ล โดดเด่นยิ่งขึ้น

           คงคล้ายกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่ทำกันบ่อยครั้ง บางครั้งอันดับหนึ่งก็เป็นฮาร์วาร์ด บางครั้งก็แสตนฟอร์ด หรือ เอ็มไอที หรืออ๊อกซฟอร์ด เคมบริดจ์ ฯลฯ สลับกันไปแต่ทุกสถาบันที่กล่าวถึง ก็เป็นเลิศในทางวิชาการทั้งนั้น และไม่สามารถจะตัดกันได้เด็ดขาด ด้วยคะแนนการสำรวจที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

           เรื่องของการทำงานนั้นคนจำนวนมากใช้เวลาของชีวิต ณ สถานที่ทำงาน มากกว่าที่บ้านเสียอีก ซึ่งการทำงานย่อมมีทั้งความสุข ความทุกข์ ความสำเร็จ ความผิดหวัง ระคนกันไป ดังนั้น บริษัทใดก็ตาม ซึ่งมีงานที่ท้าทาย รายได้ดี ความมั่นคงสูง และสภาพแวดล้อมการทำงานส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและใจ รวมทั้งมีเส้นทางเดินของอาชีพที่ดี ก็ย่อมได้รับความสนใจจากคนทำงานจำนวนมากเช่นกูเกิ้ล และบริษัทอื่นๆที่ติดอันดับสูง อีกหลายบริษัท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวเพียงอย่างเดียว คงจะตอบโจทย์ได้ไม่ครบถ้วน เพราะยังมีปัจจัยเฉพาะ เช่นเจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเราไม่สามารถเลือกได้เอง ถ้าอุปนิสัยไปกันได้เป็นอย่างดี ก็ถือว่าโชคดี นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของ "วัฒนธรรมองค์กร"ซึ่งถ้าแปลง่ายๆก็คือ "วิถีการทำงานและการวางเนื้อวางตัว ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ในองค์กรแห่งนั้น" ดังนั้น ความลงตัวจึงอยู่ที่ว่าผู้สมัครงาน มีอุปนิสัยและวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรนั้น ด้วยหรือไม่

           สายการบิน Southwest Airlines ซึ่งมีกำไรมานานถึง45 ปีต่อเนื่องกัน  และพนักงานมีความสุข มีวิธีการในการรับพนักงานคือต้องเป็นคนที่มีความร่าเริงและมีอารมณ์ขัน ประกาศรับพนักงานของที่นี่ ไม่กำหนดอะไรมากมาย  บอกไว้เพียงอย่างเดียวว่า"ถ้าคุณเป็นคนมีอารมณ์ขัน และทำให้คนหัวเราะได้  ก็มาสมัครงานที่นี่ได้เลย" ด้วยวิธีนี้ วัฒนธรรมของสายการบินแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยพนักงานที่มีทัศนคติเป็นบวก และบริษัทก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว คนมักจะร้อง ว้าววว!ถ้าเห็นกูเกิ้ลตอบรับใครให้เข้าทำงานด้วย แต่ผมก็รู้จัก คนไทยคนหนึ่ง ที่กูเกิ้ลสัมภาษณ์ 6-7 ระดับและผ่านทุกขั้นตอนแล้ว แต่ได้ปฏิเสธงานของกูเกิ้ลมาแล้วถึง 2 ครั้ง และเลือกที่จะไปทำงานกับ แอ๊ปเปิ้ล แทนเพราะความลงตัวของแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน

          แต่ก็อยากจะสรุปว่าบริษัทที่ต้องการเป็น "บริษัทที่น่าทำงานด้วยที่สุด"จะต้องจ่ายค่าตอบแทนสูง และมีสวัสดิการเพียบพร้อมแต่การที่จะทำเช่นนั้นได้บริษัทก็ต้องพิถีพิถันในการสรรหาบุคลากรเพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ อย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน พนักงานก็ต้องมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อให้บริษัท ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน เพราะผลตอบแทนและสวัสดิการที่พนักงานได้รับอย่างมากมายนั้น ก็ต้องมาจากความสำเร็จของบริษัทนั่นแหละมาจากที่อื่นไม่ได้

           ถ้าหากบริษัทจ่ายค่าสวัสดิการให้มากมาย แต่พนักงานที่เข้ามาทำงาน กลับเป็นพวกที่ฝากฝังกันเข้ามา พัฒนาความสามารถไม่ขี้น หวังจะเข้ามาเป็นฝ่ายรับเพียงอย่างเดียวแบบนี้ ไม่นานนักองค์กรก็คงไปไม่รอด และพนักงานที่ฝากฝังกันเข้ามา ก็จะทำงานได้สำเร็จผลตามนั้น คือที่ ฝาก เข้ามา ก็จะเข้ามาช่วยกัน ฝัง องค์กร ได้สมความปรารถนาทุกประการ มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในประเทศไทยเรา

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 10 ก.ค. 58  หน้า 18