เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
กรมวิชาการเกษตรปั้นสมาร์ทแล็บ

          กรมวิชาการเกษตรสร้างเครือข่ายสมาร์ท แล็บมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005 ครอบคลุม 8 เขต ทั่วประเทศ เสริมแกร่งสินค้าเกษตรรับเออีซี

          นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปีนี้กรมวิชาการเกษตร ได้เร่งยกระดับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ (Lab) ของกรมวิชาการเกษตรให้เป็นสมาร์ท แล็บ (Smart Lab) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงทางการเกษตร พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพปลอดภัยของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี โดยให้คณะทำงานพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 พัฒนาขีดความสามารถห้องปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคให้ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005 เพื่อยกระดับมาตรฐานการวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการทั้ง 8 เขต ให้มีมาตรฐานเดียวกันและเทียบเท่าสากล สร้างความน่าเชื่อถือของผู้ใช้บริการ

          ปัจจุบันห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้ง 8 เขต ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 : 2005 เรียบร้อยแล้ว ทั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ปุ๋ย ห้องปฏิบัติการวัตถุอันตราย และห้องปฏิบัติการสารพิษตกค้าง ครอบคลุมการให้บริการเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรในส่วนภูมิภาค ทำให้สามารถเข้าถึงห้องปฏิบัติการมาตรฐานในพื้นที่ได้สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายังส่วนกลาง

          ขณะเดียวกันผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการเครือข่ายยังมีความน่าเชื่อถือ สามารถนำไปใช้ประกอบการบังคับใช้ตามกฎหมาย หรือใช้ในการปรับปรุงระบบการผลิตและงานด้านความปลอดภัยทางอาหารได้ นอกจากนี้ระบบเครือข่ายยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดในการพัฒนางานด้านวิเคราะห์และทดสอบของกรมวิชาการเกษตร เกิดความร่วมมือในการขยายขอบข่ายงาน

          นายยสิศร์ อินทรสถิตย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการ เครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรสามารถให้บริการ ทดสอบปุ๋ย วัตถุอันตรายทางการเกษตร และสารพิษตกค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา ได้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปุ๋ยเคมี 6,977 ตัวอย่าง พบปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐาน 1,218 ตัวอย่าง คิดเป็น 17.5% จากการตรวจวิเคราะห์วัตถุอันตรายทางการเกษตร 670 ตัวอย่าง พบว่ามีวัตถุอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐาน 26 ตัวอย่าง คิดเป็น 3.9% ซึ่งสามารถช่วยปกป้องเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยและปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน

          ขณะเดียวกันห้องปฏิบัติการเครือข่ายยังให้บริการตรวจสอบสารพิษตกค้างในสินค้าพืชผักและผลไม้ จำนวน 36,087 ตัวอย่าง ผู้ใช้บริการ 19,103 ราย สามารถช่วยเกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต และให้บริการประกอบการตรวจรับรองแปลงตามมาตรฐานจีเอพี (GAP)ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมาสามารถช่วยผลักดัน มูลค่าส่งออกพืชผักสูงขึ้น 2,397 ล้านบาท และสนับสนุนการส่งออกผลไม้ มูลค่า 13,131 ล้านบาท  คาดว่าหลังเปิดเออีซี ห้องปฏิบัติการเครือข่ายจะมีบทบาทมากขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรปลอดภัยในระดับสากล ช่วยตรวจสอบและควบคุมสินค้าเกษตรนำเข้า ห้องปฏิบัติการเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ เปรียบเทียบผลการทดสอบและตรวจติดตามคุณภาพภายในระหว่างห้องปฏิบัติการเครือข่าย ด้วย มีแผนขยายขอบข่ายการตรวจวิเคราะห์ สารพิษตกค้าง เพิ่มรายการวิเคราะห์วัตถุอันตรายมากขึ้น

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 13 ก.ค. 58  หน้า 07