เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
คุณค่าเกษตรกร...ในสายตาผู้นำ

          สมคิด เรืองณรงค์

          ปกติแล้วต้องถือว่าอาชีพ "เกษตรกร" เป็นพื้นฐานของทุกๆประเทศ เป็นส่วนสำคัญ การผลิตอาหาร หนึ่งในปัจจัย4 ของชีวิต รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงปกป้องดูแลเกษตรกรในบ้านในเมืองของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาญี่ปุ่นที่มีคุณภาพ ชีวิตดี๊ดี พักโรงแรมห้าดาว และสามารถ เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกด้วยรายได้จากการปลูกข้าวของตนเอง ขณะที่บางประเทศไม่มีเกษตรกรให้ดูแลปกป้อง ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก จึงนับเป็นโชคดีของบ้านเราที่มีคนทำอาชีพ "เกษตรกร"นับล้านครัวเรือน ช่วยกันผลิตอาหารเพื่อให้ คนไทยได้กิน ไม่ต้องหวังพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากประเทศอื่น

          ลองไปดูเกษตรกรของสหรัฐ ประเทศมหาอำนาจกันบ้าง ผมเคยอ่านงานเขียนของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ความตอนหนึ่งว่า "เกษตรกรของสหรัฐส่วนมากเป็นคน มีฐานะดี เพราะมีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ ใช้เครื่องมือเครื่องจักรทั้งหมด ใช้เครื่องบินหว่านเมล็ดพืชและยาฆ่าแมลง และเกษตรกร ก็มีจำนวนจำกัด รัฐบาลโดย CCC หรือ Commodity Credit Cooperatio nหรือบรรษัทสินเชื่อเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ จะรับประกันราคาพืชผลทั้งหมด โดยเฉลี่ยสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง 5 เท่า แต่ใครจะเป็น ชาวไร่ชาวนาได้ต้องเป็นผู้ที่รัฐรับจดทะเบียนเท่านั้น จู่ๆ จะประกาศตัวเป็นเกษตรกรแล้วไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดพื้นที่และประเภทของสินค้าเกษตร กำหนดให้เกษตรกร แต่ละครัวเรือนพื้นที่ไหนเพาะปลูกอะไร มากน้อยเท่าไหร่ รัฐบาลกลางจะจัดงบประมาณจากภาษีอากรมาช่วยอุดหนุน บรรษัทสินเชื่อ เพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ให้เกษตรกรทั่วประเทศ จำกัดจำนวนเกษตรกรไว้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ประมาณอีก 97 เปอร์เซ็นต์มิได้เป็นเกษตรกร ... ภาคเกษตรกรรมของสหรัฐเป็นระบบปิดโดยรัฐ ซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรก็คือเกษตรกร ไม่ใช่เกษตรกรก็ไม่ใช่เกษตรกรแยกกันชัดเจน เด็ดขาด" (คอลัมน์คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร)

          น่าจะพอทำให้เรามองเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญกับเกษตรกรเพียงใด มีการวางแผนการผลิต มีเงินงบประมาณ มาอุดหนุนช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนในการหาตลาดรองรับผลผลิต ทั้งในและนอกประเทศ เมื่อประกอบกับพื้นที่ขนาดมหึมาของสหรัฐที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองส่งผลให้การผลิตสัตว์เพื่อบริโภคของสหรัฐนั้น มีต้นทุนที่ต่ำ ดังนั้น มิต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเกษตรกรของสหรัฐ จึงอยู่ดีกินดี

          ล่าสุด ผมได้เห็นบทบาทนี้ของรัฐบาลสหรัฐอีกครั้งจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กำลังทำตามสัญญา เดินหน้านโยบาย "America First" นั่นก็คือ "อเมริกาต้องมาก่อน" ซึ่งรวมถึง "เกษตรกร" ของสหรัฐ ก็ต้องมาก่อนด้วย

          เรื่องของ "หมูมะกัน" ที่เราทราบกัน มาตลอดว่ารัฐบาลสหรัฐพยายามช่วย เกษตรกรคนเลี้ยงหมูหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตเหลือทิ้ง เช่น หัวหมูและเครื่องในหมู มาอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย ซึ่งได้ทำการเจรจาต่อเนื่องมาหลายปี  โดยในปีนี้เป็นยุคของผู้นำ 2 ประเทศ คือ "โดนัลด์ ทรัมป์" และ "ท่านนายก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ของไทย ซึ่งนายก ของเราก็เพิ่งเดินทางกลับจากทำเนียบขาว หลังเจรจาต้าอ่วยกันเป็นที่เรียบร้อย

          ข่าวหนาหูที่ตามมาก็คือว่าไทยไม่รอด... จำต้องเปิดตลาดให้ทรัมป์ส่งหมูปนเปื้อน สารเร่งเนื้อแดงมาขายให้คนไทยกิน... ทั้งๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ช่วยกันอธิบายหลายครั้งหลายคราถึง หายนะของอาชีพหากปล่อยให้หมูมะกัน เข้ามา และไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 200,000 ครอบครัวเท่านั้นที่ต้องหาอาชีพใหม่ แต่หมายรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ พ่อค้าพืชไร่ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมยา-เวชภัณฑ์ ที่จะต้องได้รับ ผลกระทบเป็นลูกโซ่ คิดรวมเป็นมูลค่า สูงถึง 80,000 ล้านบาท

          ผลกลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยให้ตั้ง คณะทำงานร่วมระหว่างไทย-สหรัฐเพื่อศึกษา และพิจารณาผลกระทบจากการนำเข้า เนื้อหมู พร้อมๆ กับรับข้อเรียกร้องจากสหรัฐที่ต้องการให้ไทยเปิดตลาดให้ไก่งวงและเครื่องในวัวมะกันเข้ามาศึกษาเพิ่มด้วย

          อันที่จริงข้อมูลจำนวนเกษตรกรไทย ที่จะได้รับผลกระทบ ข้อมูลงานวิจัยของนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นมหันตภัยของสาร เร่งเนื้อแดง ข้อมูลมูลค่าเศรษฐกิจที่จะ หายไป ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีการเสนอเป็นหนังสือถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแล้วมากมาย... จึงไม่แน่ใจว่ารัฐยังต้องการพิจารณาผลกระทบอื่นใดอีกหรือ?

          ดูเหมือนความพยายามในการปกป้อง และช่วยเหลือเกษตรกรของสหรัฐจะเข้มข้น จริงจัง ซึ่งต้องชื่นชมระดับการให้ "คุณค่า" ต่ออาชีพเกษตรกรของเขา

          นี่คงเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกษตรกร บ้านเขาอยู่ดีกินดี ก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาลไทยจะเห็นคุณค่าเกษตรกรเฉกเช่นเดียวกับสหรัฐบ้าง อาจไม่ต้องถึงกับ อุดหนุนเงินทองเหมือนเขา ขอเพียง อย่าเปิดโอกาสให้เกิดการทำลายเกษตรกรบ้านเราก็พอครับ

          "อาจไม่ต้องถึงกับอุดหนุน เงินทองเหมือนเขาขอเพียงอย่าเปิดโอกาสให้เกิดการทำลายเกษตรกรบ้านเราก็พอ'


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560  หน้า 9