เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รัฐต้องช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน

          ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของประเทศ ภายหลังจากที่องค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงานพยายามช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล" ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ถึงการขานรับต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และบทบาทของสถาบันที่จะช่วยกันดูแล SMEs ซึ่งมีสัดส่วนถึง 95% ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

          บทบาท SMI ใน ส.อ.ท.

          ต้องช่วยกันยกระดับ SMEs อย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ และ GDP SMEs ให้ขยับมาอยู่ที่ 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 42% จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาล คสช. SMEs ถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เราเริ่มจัดระเบียบเช็กจำนวน SMEs พบว่ามีอยู่ 2.76 ล้านราย ซึ่งมีอัตราการจ้างงานถึง 12 ล้านคน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของ SMEs และรับรู้มาโดยตลอด คือ การมีระบบหลายบัญชี ดังนั้น เริ่มขั้นแรกต้องทำให้ SMEs มีเพียงบัญชีเดียว ตอนนี้ทำได้แล้วกว่า 6 แสนราย เพื่อดึง SMEs เข้ามาในระบบก่อน

          ปัญหาหลักของ SMEs

          การอยู่นอกระบบ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือต่างคนต่างทำงานนโยบายต่าง ๆ และงบประมาณถูกกระจายไปตามกระทรวง ทำให้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง เป็น "เบี้ยหัวแตก" ดังนั้น เราจึงได้นำโมเดลจากต่างประเทศมาช่วย เพื่อหวังยกระดับให้เทียบเท่าญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน เป้าหมายลดขั้นตอน ระเบียบ กฎหมายที่เป็นอุปสรรค และมีกองทุนช่วยเหลือ เมื่อกำหนดโรดแมป เราวางโจทย์ที่สำคัญ คือ 1.ทำอย่างไรให้ GDP SMEs ไปถึง 50% 2.ทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมต่อกับต่างประเทศ 3.ต้อง บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานรัฐ-เอกชน นี่ จึงเป็นที่มาของวาระแห่งชาติ รวมถึงการย้ายสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้าไปอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มค้าปลีกอื่น ๆ ด้วย

          ปัญหาอีกอย่าง คือ SMEs ผลิตแล้วไม่รู้จะขายใคร เราจึงเสนอให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้า SMEs ไทย สัดส่วน 30% ของงบฯจัดซื้อทั้งหมด หากทำได้เชื่อว่าท้องถิ่นจะเข้มแข็ง สินค้าจะขายได้ ส่วนเรื่องการเปิดตลาดต่างประเทศ เราจะหยิบ SMEs รายธรรมดาจับแต่งตัวพาไปโชว์ในงานแสดงสินค้า โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เช่น พา SMEs Proactive เพื่อให้เรียนรู้ประสบการณ์โดยเฉพาะเรื่องภาษา

          แผนผลักดัน SMEs ใน 5 ปี

          สำหรับปีแรก 1.พยายามผลักดันเรื่องของการทำบัญชีเดียวให้ได้ เพื่อให้ GDP SMEs ขยับเพิ่มขึ้น หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านตอนนี้ GDP SMEs ของสิงคโปร์ มาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นมาเลเซีย และไทยมาเป็นอันดับ 3 ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียกำลังจะแซงไทย

          2.การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เราต้องผลักดันให้ SMEs ยกระดับเรื่องของประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพ ลดต้นทุน ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทั้งหมดคือสิ่งที่ เราต้องเติมเข้าไป แม้กระทั่งการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยการใช้ระบบการผลิตแบบลีน (LEAN) เป็นการผลิตที่มุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำจัดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไปได้จริง ขณะเดียวกัน นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบันมีนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 สอดรับ กับสิ่งที่ SMI ดำเนินการและปรับเข้ากับสิ่งที่กระทรวงอุตฯกำลังทำ วันนี้ทุกอย่าง ที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมตื่นตัว เพราะโลกกำลังเปลี่ยน เรื่องของ Internet of Things กำลังเข้ามา หากไม่ลดต้นทุนเราจะแพ้อินโดนีเซีย ที่วันนี้ปรับตัว เราจึงเริ่มสแกน SMEs และทราบว่าตอนนี้อยู่ที่ 2.0 จากนั้นมีโจทย์ที่ต้องคิดว่า ผู้ประกอบการจะยกให้พ้น 2.0 ได้อย่างไร

          3.SMEs Innovation เราสามารถนำเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดได้ ในอดีตผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะรับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์ต่าง ๆ (OEM) โดยไม่คิดที่จะทำวิจัยพัฒนา แต่วันนี้ถ้าไม่ทำ ไม่แข่งขัน ไม่มีทางรอด เราจึงมีเรื่องของ "คูปองนวัตกรรม" รูปแบบการช่วยเหลือ คือ SMEs รายใดที่มีนวัตกรรม สามารถนำงบฯไปพัฒนาต่อได้เลยทันที เช่น มี SMEs รายหนึ่งนำเส้นไหมจริง ๆ มาทำเป็นไหมขัดฟัน เป็นต้น

          4.แหล่งเงินทุน สิ่งที่เราเสนอไปคือ สินเชื่อ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 4% วงเงิน 15,000 ล้านบาท วันนี้เห็นผลแล้ว บวกกับนโยบาย สินเชื่อ Policy Lone ประชารัฐ ที่รัฐมีกลไกผ่านสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาเสริมปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 3.75% ถึง 4% เงื่อนไขเบื้องต้นปล่อยกู้รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บริหารกองทุน เข้ามาช่วย ผมเชื่อว่ารัฐมาถูกทางและกล้าที่จะให้เงินถึงมือ SMEs อย่างไรก็ตาม ทาง SMI เห็นว่า รัฐบาลควรมีแผนแม่บทชัดเจนและมีงบฯสนับสนุน SMEs ต่อเนื่องให้ สสว. เหมือนในหลายประเทศ มีหน่วยงานที่คล้ายกับ สสว. ซึ่งมีงบประมาณโดยเฉพาะสนับสนุน 1-1.5% ของ GDP เช่น ที่เกาหลีใต้ ได้งบฯถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หากวันนี้ SMEs คือหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รัฐต้องเข้ามาช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้

          5.ความยากง่ายของการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ถึงแม้มาตรการทุกอย่างจะดีก็ตาม แต่วันนี้ขั้นตอนหลายอย่างคืออุปสรรค จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ถือว่าเป็นภาพสะท้อนที่ดีว่าหลายส่วนช่วยกัน เช่น กรณีที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อแบงก์ตอนนี้เงื่อนไขลดลง

          โครงการเด่นปี 2560

          ปีนี้เตรียมโครงการหลัก ๆ 1.โครงการ SMEs Spring Up เป้าหมายให้ SMEs พัฒนาและก้าวกระโดดเข้าสู่วงการผลิตอย่างเต็มรูปแบบและมีรายได้แน่นอน ผ่านการฝึกอบรมภาคการเกษตร การแปรรูปเกษตรที่เดิมไม่ได้ถูกหยิบเข้ามาอยู่ใน คำจำกัดความว่าเป็น SMEs ชัดเจน ปีที่แล้วเริ่มอบรมไป 1,000 ราย รูปแบบคือให้ SMEs สามารถวินิจฉัยตลาดได้ นอกจากนี้ต้องจับเข้ามาจดทะเบียน เพิ่มความรู้ด้านนวัตกรรม การเงิน ขณะนี้อยู่ระหว่างอบรมอีก 3,000 ราย จาก 10,000 ราย ที่เป็นกลุ่มเข้มแข็งมีศักยภาพ หลังจากผ่านการอบรมแล้ว นำมาพิจารณาว่ายังขาดอะไร เราจะเติมให้

          2.โครงการ ASEAN SMEs Symposium โดยการเชื่อม SMEs ทั้ง 10 ประเทศมาช่วย เพราะเราโตคนเดียวไม่ได้ SMEs ไทยโต SMEs เพื่อนบ้านต้องโตด้วย

          3.การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ให้ SMEs แลกเปลี่ยนความรู้ที่ไม่เน้นการขาย ของ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เอกชนโดยเฉพาะ SMEs จำเป็นอย่างมากที่ต้องตั้งใจปรับตัวเพื่อก้าวพาประเทศไปด้วยพร้อมกัน


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 - 30 เม.ย. 2560  หน้า 5
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง