เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ข้าวไทยเผชิญศึกนอกแข่งเดือดรับผลผลิตล้น

          ขณะที่ภาคการค้าคาดว่าจะมีอยู่ที่ 41.23 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นประมาณ 2.03% จากปีก่อน และส่งผลให้สต็อกผลผลิตในตลาดโลกมีมากระดับ 117.65 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.29% สะท้อนถึงผลผลิต ล้นตลาด

          ในปีนี้ แรงกดดันสต็อกข้าวรัฐบาล เริ่มคลี่คลายลง หลังมีการเร่งระบายสต็อก ซึ่งคาดว่าจะล้างสต็อกได้หมดในเดือนเม.ย.นี้ แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันราคาในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

          นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ กรมฯ จะประกาศระบายในสต็อกรัฐบาลได้หมด โดยหลังการเปิดประมูลข้าวเข้าอุตสาหกรรมล็อตล่าสุดทำให้เหลือข้าวในสต็อกรัฐบาลเพียง 1 ล้านตัน ดังนั้นการเร่งระบายข้าวในสต็อกตามแผนงานครั้งนี้ก็จะเป็นผลดีต่อตลาด และการระบายข้าวนาปรังในเดือน เม.ย.นี้พอดี

          ประกอบกับขณะนี้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเรื่อยๆ และราคาข้าวไทยก็สามารถแข่งกับอินเดีย เวียดนามได้ ส่วนนาปีจะมีการหารือมาตรการรองรับอีกครั้งโดยรวมการระบายผลผลิตในปีนี้จึงไม่น่าห่วงเพราะส่วนหนึ่งไทยจะไม่มีข้าวใน สต็อกรัฐบาลคอยกดดันอีกต่อไป

          "แม้ว่าปัจจัยบวกข้าวในสต็อกรัฐบาล ปีนี้จะระบายได้หมดเป็นผลให้ลดแรงกดดันผู้ส่งออกข้าวและภาคอุตสาหกรรมไปได้มาก ประกอบกับล่าสุดยังมีข่าวดีของคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งซื้อจากบริษัทคอฟโก ผู้นำเข้าข้าวของรัฐบาลจีน ที่ได้ติดต่อขอซื้อข้าวในแสนตันที่ 4 จากสัญญาซื้อขาย 1 ล้านตันที่ทำไว้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันในราคาเท่ากับแสนตันที่ 2 และแสนตันที่ 3 และจะมีการส่งมอบข้าวไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้

          นอกจากนี้ มีสัญญาณซื้อจากตลาด ศรีลังกาที่ได้ติดต่อมาทางนายกรัฐมนตรีเพื่อต้องการจะซื้อข้าวจากไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องละเอียดของข้าวที่ศรีลังกาต้องการจะซื้อ ขณะที่อิหร่านได้มีการตกลงซื้อขายข้าวไทยผ่านเอกชนปริมาณ 1 แสนตัน

          นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจากตลาดใหญ่อย่างฟิลิปปินส์ที่มีแผนจะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 4.5 แสนตันในปี 2559 เพิ่มเป็น 1-1.3 ล้านตันในปี 2560 เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

          นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลัง จากกรมฯ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเดินทางเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เพื่อหารือกับองค์การอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (เอ็นเอฟเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่นำเข้าข้าว และผู้นำเข้าข้าวภาคเอกชน ทางประธานเอ็นเอฟเอระบุว่ามีแผนจะนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 1 - 1.3 ล้านตันเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

          ในช่วงที่ผ่านมาเอ็นเอฟเอจะเปิดประมูลนำเข้าข้าวเป็นชนิดข้าวขาว 25%แต่ในปีนี้มีการพิจารณาเปิดประมูลเพื่อนำเข้าข้าวคุณภาพดีขึ้น เช่น ข้าวขาว 5%10%และ 15%ในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งการที่เอ็นเอฟเอนำเข้าข้าวคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทยทั้งในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) หรือเอกชนต่อเอกชน เพราะจะทำให้มีตลาดขนาดใหญ่มารองรับผลผลิตข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ และเป็นสัญญาณเชิงบวกกระตุ้นราคาข้าวไทยทั้งระบบและส่งผลถึงราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรจะได้รับด้วย

          ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สำหรับการเปิดประมูลข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐของฟิลิปปินส์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ในฐานะภาคเอกชนมองว่าแม้ไทยจะมีโอกาสในด้านของคุณภาพข้าวที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม แต่ต้องกังวลในประเด็นของการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากในช่วงที่จะมีการเปิดประมูลถือเป็นช่วงที่ข้าวฤดูกาลใหม่ของเวียดนามออกสู่ตลาดแล้ว ประกอบกับปัจจุบันเวียดนามยังมีข้าวเก่าค้างสต็อก ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแข่งขันด้านราคาและทำให้ไทยต้องประเมินข้อเสนอราคาอย่างหนัก

          อย่างไรก็ดีปัจจุบันราคาข้าวของไทยต่างกับเวียดนามอยู่ประมาณตันละ 30 ดอลลาร์ เช่น ข้าวขาว 5%ราคาของไทยอยู่ที่ตันละ 374 ดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ตันละ 348 ดอลลาร์ โดยผลผลิตฤดูกาลใหม่ของเวียดนามออกมายังพบว่ามีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้การประมูลข้าวฟิลิปปินส์ที่จะเกิดขึ้นนี้เวียดนามอาจเลือกใช้วิธีแข่งขันด้านราคา

          ดังนั้นการประมูลข้าวฟิลิปปินส์จึงต้องจับตามองว่าราคาที่เวียดนามจะเสนอมานั้นต่ำแค่ไหน โดยหากต่ำกว่าปัจจุบันมากไทยก็อาจแข่งขันยาก

          "เพราะต้นทุนการผลิตเราสูงกว่า หากทำราคาต่ำกว่านี้ก็ลำบาก"

 

          "แม้ปัจจัยบวกข้าวในสต็อกรัฐบาลปีนี้จะระบายได้หมด ทำให้ลดแรงกดดันผู้ส่งออกข้าวและ ภาคอุตฯ"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 เมษายน 2560



เอกสารที่เกี่ยวข้อง