เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
เปลี่ยนนาข้าวเป็นนาอ้อย นโยบายที่ต้องทบทวน

          นโยบายรัฐบาล  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สนับสนุนการเปลี่ยน "นาข้าวให้เป็นนาอ้อย"ในระยะสั้น 7 แสนไร่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อาจจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกทางก็เป็นไปได้

          เมื่อแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือน ก.ค. 2558 ลดลงมาเหลือ 12.5 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น ปีการผลิต 2557/2558 ที่ 18 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งได้ราคาอ้อยขั้นต้นที่โรงงานน้ำตาลจ่ายให้แก่ชาวไร่ที่ 900 บาท/ตันอ้อย

          ปัจจัยสำคัญที่กดให้ราคาน้ำตาลลดลงต่อเนื่องนี้ เป็นผลจากปริมาณน้ำตาลที่ล้นตลาด โดยเฉพาะจากบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก ในขณะที่ความต้องการในตลาดไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว

          ประกอบกับขณะนี้ค่าเงินเรียลของบราซิลได้อ่อนค่าลงกว่า 50% จากเดิม 2 เรียล/เหรียญสหรัฐ มาเป็น 3.5 เรียล/เหรียญสหรัฐ ทำให้ประเทศบราซิลยิ่งต้องเร่งส่งออกน้ำตาลมากขึ้นอีก

          ประเด็นที่น่ากังวลคือ ถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังตกต่ำต่อเนื่องแบบนี้ อาจจะทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่จะประกาศเมื่อสิ้นฤดูกาลออกมาต่ำกว่าอ้อยขั้นต้น ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานน้ำตาลในส่วนของส่วนต่างระหว่างราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย

          สำหรับจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยโรงงานน้ำตาลนั้น จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ประเมินจากน้ำตาลที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยขายน้ำตาลออกไปแล้ว 87% ได้ราคาเฉลี่ยประมาณ 15 เซนต์/ปอนด์ ถ้าขายส่วนที่เหลืออีก 13% ในราคาปัจจุบันคือ 12 เซนต์/ปอนด์ คาดว่าราคาน้ำตาลเฉลี่ยที่ขายได้ในปีนี้จะอยู่ที่ 15.1 เซนต์/ปอนด์ ต่างจากราคาที่ใช้คำนวณอ้อยขั้นต้นที่ 18 เซนต์/ปอนด์ อยู่ 2.9 เซนต์/ปอนด์

          "เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้รายงานต่อ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม แล้ว และ รมว.อุตสาหกรรมก็รายงานสถานการณ์ให้ที่ประชุม ครม.ทราบแล้ว โดยถ้าต้องจ่ายในจำนวนดังกล่าวและโรงงานน้ำตาลต้องการเงินเลย กองทุนน้ำตาลเองมีเงิน ที่นำออกมาใช้ได้ 7,000-8,000 ล้านบาท อาจต้องการการจัดสรรงบประมาณหรือกู้เพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท" แหล่งข่าว เปิดเผย

          ในส่วนของเงินที่จะนำไปจ่ายเป็นเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูผลิต 2558/ 2559  นั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้ล่าสุดที่กองทุนฯ จะต้องชำระให้ ธ.ก.ส. ล่าสุดอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท

          การที่กองทุนฯ ยังมีหนี้เพิ่มขึ้น เพราะเงินที่เก็บมาชำระหนี้ ธ.ก.ส.มีเพียงจากช่องทางการเก็บเงินจากค่าน้ำตาล ในขณะที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย ในโครงการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยอีกหลายล้านไร่ หากไม่ปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารจัดการ อาจทำให้อ้อยกลายเป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่มีปัญหาเหมือนยางพารา

          ประเด็นข้อกังวลนี้ จักรมณฑ์ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. แล้ว รวมถึงกรณีที่บราซิลและอินเดียเตรียมจะฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่รัฐบาลใช้นโยบายอุดหนุนผู้ผลิตอ้อย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงไปปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยด่วน

          ปัจจุบัน บราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 1 ของโลก ในจำนวน 30 ล้านตัน/ปี ไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ประมาณ 8 ล้านตัน/ปี

          โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการปลูกพืชให้เหมาะกับพื้นที่ โดยการปรับพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกอ้อย ซึ่งจะเป็นโครงการ 2 ปี (ปี 2558-2559) พื้นที่เป้าหมาย 7 แสนไร่ ใน 17 จังหวัด แบ่งเป็นปี 2558 จำนวน 3.5 แสนไร่ และปี 2559 จำนวน 3.5 แสนไร่ เป็นโครงการนำร่อง โดยจะเป็นเพียงการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน จะได้รับการชดเชยดอกเบี้ย 3%

          แหล่งข่าวจากวงการอ้อยและน้ำตาล เปิดเผยว่า นโยบายการสนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวนาดอนมาเป็นการปลูกอ้อยต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อย 10.78 ล้านไร่ มีปริมาณอ้อยรวม 113.26 ล้านตัน/ปี และมีปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าหีบ 103 ล้านตัน/ปี หากมีการสนับสนุนนาดอนเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยจะทำให้เพิ่มเป็นปีละ 110 ล้านตัน/ปี

          ปัจจัยเสี่ยงที่จะตามมาคือ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ลดลงเป็นแรงกดดันให้ราคาอ้อย ขั้นต้นฤดูกาล 2558/2559 ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นไม่สอดคล้องกับปริมาณและความสามารถของโรงงานน้ำตาล ที่ปัจจุบันเริ่มตึงตัว

          นี่อาจเป็นแรงกดดันให้ราคาอ้อยที่ดีต่อเนื่องปรับตัวลดลงในอนาคตได้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 9 มิถุนายน 2558  หน้า B12

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง