เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
จับตา...วงการค้าข้าวไทยวิกฤติหนักโรงสีขาดสภาพคล่องส่อล้มละลาย

          ประเทศไทย ยังส่งออกสินค้าเกษตรหลายอย่างเป็นหลัก โดยเฉพาะ"ข้าว" ที่ส่งออกเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีปัญหามาโดยตลอด ทั้งจากปัญหาการเอารัดเอาเปรียบระหว่างพ่อค้า กับผู้ผลิต คือ ชาวนา จนรัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือชาวนาปล่อยให้พ่อค้าฟาดกำไรกันพุงกางโดยไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรต่อสังคมจนเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังของสังคมไทยและเกิดเป็นปัญหาการเมือง มีการแบ่งชนชั้น จนประเทศชาติแตกแยกไม่มีชิ้นดี!

          ดูเหมือนว่า รัฐบาลก็ยังคงตามไม่ทันพ่อค้า หรือยังคงไม่คิดแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ใน "ระบบข้าว"ยังคงปล่อยให้ พ่อค้า เอารัดเอาเปรียบกันต่อไป ซึ่งปีที่ผ่านมา แม้จะมีการปฏิวัติเล็กในระบบของชาวนา คือ บางส่วนสีข้าวขายเอง และมีองค์กรเอกชนใหญ่ๆ มารับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงหรือบางแห่ง ก็เปิดพื้นที่ให้ชาวนาเข้าไปวางขายข้าวได้

          แต่ในระยะยาวสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การสร้างสำนึกที่ดีต่อส่วนรวมให้กับพ่อค้า เลิกกดขี่ เลิกเอารัดเอาเปรียบกันในระบบได้เมื่อไหร่สังคมไทยจะสงบสุขร่มเย็นมากกว่านี้ อีกทั้งเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น เพราะรายได้ของชาวนา ของเกษตรกร ก็คือ "กำลังซื้อ"ของระบบ ถ้าคนส่วนมากมีเงินมีทองจับจ่ายใช้สอย รัฐบาลไม่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าไปได้เอง

          เมื่อปลายสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานศูนย์เมขลา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญของประเทศ ที่ต้องวางระบบการบริหารจัดการน้ำภายในส่วนของการอุปโภค บริโภคการเกษตร และอุตสาหกรรม ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ เช่น การจัดทำผังเมือง การจัดพื้นที่การเพาะปลูกที่เหมาะสมกับแต่ละลุ่มน้ำ การทำเกษตรแปลงใหญ่

          ที่สำคัญ คือ ติดตามความพร้อมการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ สำหรับเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำของทุกหน่วยงานให้มีเอกภาพ และเป็นทิศทางเดียวกัน โดยทุกหน่วยงานสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ การส่งน้ำ การกระจายน้ำ จนถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่ต้องครอบคลุมทั้งพื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน

          นอกจากนี้ ยังให้แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องพิจารณา ตามความเหมาะสมของแต่ละภูมิภาค ที่แบ่งเป็นส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคใต้ ภาคตะวันออก และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ดูเหมือนว่า นายกฯ จะมองเห็นปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำเพราะตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็เจอปัญหามาทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม เจอมาทุกรูปแบบ จึงพอมองออกว่า การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ยังมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกันไป ทางเหนือ อีสาน มีปัญหาภัยแล้งที่หนักมาก ส่วนภาคใต้ ก็จะมีปัญหาน้ำท่วม ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาโลกแตกที่แก้ไม่ได้ แต่ก็อย่าให้ชาวบ้านเดือดร้อนเกินความเป็นจริงก็พอ....

          ทีนี้มาถึงปัญหาเรื่องข้าว ที่ยังมีค้างสต๊อก ข่าวล่าสุด กระทรวงพาณิชย์เตรียมระบายข้าวบิ๊กลอต 2.8 ล้านตันหวังล้างสต๊อกเก่าทั้งหมด

          นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศเตรียมออกประกาศประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาล เป็นการทั่วไป เบื้องต้น จะมีข้าวที่นำมาเปิดประมูล 2.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวเพื่อการบริโภคโดยจะมีข้าวหลายชนิดรวมกัน เช่น ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ

          "การเปิดประมูลข้าวลอตนี้ 2.8 ล้านตัน เป็นการประมูลเพื่อการบริโภค ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะระบายข้าวออกจากสต๊อกที่เหลืออยู่ประมาณ 8 ล้านตัน ให้หมดภายในปีนี้ เพราะไม่อยากอุ้มสต๊อกข้าวนี้ไว้ เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อก อีกทั้งข้าวยังเสื่อมสภาพตามระยะเวลาที่จัดเก็บ" นางอภิรดี กล่าว

          นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ระยะเวลานี้ ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมต่อการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาล เพราะขณะนี้ตลาดไม่มีข้าวออกมา โดยคาดว่าข้าวนาปรัง จะออกมาอีกครั้งในช่วงเดือนมี.ค. อีกประมาณ 1 ล้านตันข้าวเปลือกรวมทั้งข้าวเปลือกของ เวียดนาม ด้วย

          ดังนั้น ในช่วงนี้จึงสามารถระบายได้ แต่ต้องดูปริมาณที่ระบายออกมาหากมีการระบายจำนวนมาก ก็อาจจะกระทบต่อจิตวิทยาในระยะสั้น ที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับลดลงบ้างแต่จะเป็นผลดีในระยะยาว เพราะจะส่งสัญญาณไปที่ตลาดต่างประเทศว่า ข้าวสต๊อกไทยเหลือน้อยแล้ว และมีผลผลักดันให้ราคาปรับขึ้น

          นอกจากนี้ ยังมองว่าข้าวสต๊อกรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าวเก่ามีความต้องการตลาดรองรับอยู่ โดยเฉพาะตลาดแอฟริกาที่นิยมบริโภคข้าวเก่า ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันกับราคาข้าวของประเทศคู่แข่งได้ เช่น เวียดนาม ส่วนตลาดเอเชียนิยมบริโภคข้าวใหม่ ซึ่งก็มีผลผลิตข้าวเปลือกที่กำลังทยอยออกมารองรับไว้อยู่แล้ว

          "ถ้ามองในแง่จิตวิทยาปริมาณข้าวที่ระบายออกมามาก ก็อาจทำให้ราคาปรับลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อระบบข้าวไทยในอนาคต หากมีการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลให้หมดไป หรือเหลือน้อยที่สุด ซึ่งต้องแยกตลาดให้ชัดเจน โดยขณะนี้ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทย (เอฟโอบี) อยู่ที่ 355-360 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ข้าวชนิดเดียวกันของเวียดนามส่งออกที่ 335-340 เหรียญสหรัฐฯ/ตันการส่งออกข้าวในปี 2560 เบื้องต้นสมาคมคาดว่า จะสามารถส่งออกข้าวไทยได้ประมาณ 9.5 ล้านตัน เป็นผลจากการที่รัฐบาลระบายข้าวสต๊อกรัฐออกมา"นายชูเกียรติ กล่าว

          ด้าน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศนนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์สภาวะการส่งออกข้าวในปี 2560 ว่า มีแนวโน้มและทิศทางการส่งออกที่ดีเนื่องจากตลาดที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกา และเอเชีย ยังมีความตัองการนำเข้าข้าวเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อของประเทศผู้ซื้อเริ่มกลับมาดีขึ้น จึงคาดว่าปีนี้จะสามารถรักษาตลาดของผู้ส่งออกข้าวไทยไว้ได้

          โดยประเมินทั้งปี จะสามารถส่งออกข้าวได้ 9.5 ล้านตัน มูลค่าประมาณ4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองจากอินเดีย ที่คาดว่าทั้งปีจะส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตัน ขณะที่ เวียดนาม ทั้งปีจะส่งออกได้ 5.8 ล้านตัน สำหรับการค้าโลกในปีนี้ คาดว่าจะมีการค้าทั่วโลกที่ 40 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิคทั่วโลกมีปริมาณ480 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.6% การบริโภคทั่วโลกอยู่ที่ 477.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.5%และสต๊อกข้าวโลกทั้งปีจะอยู่ที่ 118.71 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.9%

          สำหรับปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทยปีนี้ ได้แก่ การเร่งระบายข้าวในสต๊อกรัฐ การส่งมอบข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับจีนตามสัญญา และความต้องการข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ผู้ซื้อจะไม่ซื้อข้าวล่วงหน้าในปริมาณมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ความผันผวนของค่าเงินบาท และคลาดการเงินจากการดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆ และผลผลิตข้าวของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่สำคัญคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจึงทำให้ความต้องการนำข้าวลดลง

          ส่วนในปี 2560 จะต้องประเมินทิศทางปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกอีกครั้งในช่วงกลางปี 2560 เพราะสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนโดยขณะนี้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นจาก36 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เหลือ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อาจมีผลต่อราคาส่งออกข้าว นอกจากนี้ ตลาดส่งออกข้าวสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน ยังไม่มีการสั่งซื้อเพิ่ม เพราะปริมาณฝนค่อนข้างดี ทำให้ประเทศผู้ซื้อสามารถผลิตข้าวได้มากขึ้น

          มาดูทางด้านแนวโน้มการผลิตซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559 ที่ผ่านมามีพื้นที่เพาะปลูก6.3 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 3.9 ล้านตัน ลดลงจากปี 2558 ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 8.4 ล้านไร่ ผลผลิต 5.3 ล้านตัน

          สาเหตุที่ผลผลิตลดลง มาจากภาวะภัยแล้ง และมีการร้องขอจากทางราชการให้ชาวนาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน งดการทำนาปรัง ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกน้อย และผลผลิตเลยน้อยตามไปด้วย

          ในปี 2560 นี้ ตัวเลขพื้นที่น่าจะขยับขึ้น เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ประเมินว่า ปีนี้จะไม่แล้งเท่าปี 2559 มีต้นทุนน้ำตามแหล่งต่างๆ มากกว่า

          รายงานข่าวจาก กรมชลประทานเปิดเผยว่า ระดับน้ำกักเก็บของเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง พบว่าค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ดี และมากกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยมาจากปริมาณฝนที่ตกลงมามาก เบื้องต้นคาดว่าปี 2560 จะไม่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงเท่ากับปี 2559

          จากรายงานข่าวที่พบพื้นที่ประสบภัยแล้ง จนเป็นเหตุให้ ข้าวนาปรัง เกิดความเสียหาย พบว่าส่วนใหญ่จะเกิดกับพื้นที่การเกษตร ที่ตั้งอยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยทางกรมชลประทานได้ทำหนังสือไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีพื้นที่การเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ให้ออกประกาศขอความร่วมมือไปยังชาวนา ให้ชะลอการปลูกข้าวนาปรังออกไป หรือสำรวจหาแหล่งน้ำของตนเอง เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาผลผลิตเสียหาย แต่ก็พบว่าชาวนายังคงเดินหน้าทำนาปรังอยู่ ทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ

          พื้นที่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือลุ่มแม่น้ำยม แถบ จ.พิจิตร, พิษณุโลก, สุโขทัยเนื่องจากไม่มีระบบชลประทาน และไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเหมือนแม่น้ำปิง, น่านที่มีเขื่อนภูมิพล และ สิริกิติ์ ช่วยเสริมปริมาณน้ำหล่อเลี้ยง แต่ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบภาพรวมเกษตรกรเริ่มเพาะปลูกทำนาแล้ว 4.6 ล้านไร่ จากแผนที่กรมชลประทานตั้งไว้ 2.6 ล้านไร่

          อีกปัญหาหนึ่ง คือ "โรงสี" กำลังประสบกับปัญหา "ขาดสภาพคล่อง"เพราะแบงก์เริ่มเข้มงวดการปล่อยเงินกู้เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจเริ่มรุนแรงมากขึ้น หนี้เน่า NPL ในระบบธนาคาร จึงมากขึ้นตามไปด้วย จนเป็นเหตุให้ธนาคารต้องระมัดระวังในการปล่อยเงินกู้  โดยเฉพาะ ธนาคารกรุงไทย ผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ให้กับธุรกิจโรงสี ได้ระงับการปล่อยกู้ในลักษณะแพ็กกิ้งเครดิต (ต้องมีหลักทรัพย์หรือสินค้ามาค้ำประกัน) หลังธุรกิจโรงสีมีความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะก่อนหน้านี้โรงสีได้กู้เงินไปซื้อข้าวเปลือกจาก

          ชาวนาในราคาสูงมาเก็บสต๊อกไว้  ต่อมาราคาข้าวปรับตัวลดลง หากขายออกจะขาดทุนมาก

          จากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลให้โรงสีแบกสต๊อกข้าว และมีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ถ้าหากโรงสีขายข้าวมาส่งแบงก์ ก็จะมีปัญหาคือ กลัวว่าแบงก์จะไม่อนุมัติเงินมาซื้อข้าวในฤดูกาลใหม่ ยิ่งแบงก์กรุงไทย มีท่าทีเข้มงวด ก็ทำให้สถานการณ์ของโรงสีหนักไปกว่าเดิม เพราะว่าแบงก์กรุงไทย เป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ให้กับโรงสีในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 50% ของแบงก์ทั้งระบบ วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท



เอกสารที่เกี่ยวข้อง