เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ชง นบข.เพิ่มมูลค่าค้าข้าว

          พล.อ.ประจิน กล่าวว่า ในการประชุมหารือและวิเคราะห์ปัญหาของข้าวไทยและนำมา สู่แนวทางในการพัฒนาข้าวไทยในอนาคต ซึ่งจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.)ครั้งต่อไปได้พิจารณา 8 ประเด็น ได้แก่

          1.การปรับโครงสร้างการผลิตข้าวเพื่อ สร้างสมดุลในอุปสงค์และอุปทานข้าวโดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายในการผลิตข้าวไว้ที่ประมาณ 27.17 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปัจจุบันที่มีการผลิตเฉลี่ยปีละ 33 ล้านตันข้าวเปลือก โดยจะต้องปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวลงเหลือ 60.6 ล้านไร่ (11% เป็นพื้นที่นาปรัง) จากปัจจุบันอยู่ที่ 68 ล้านไร่ รวมทั้งจะมีการประกาศพื้นที่แนะนำให้ปลูกข้าวซึ่งมีความเหมาะสมกับการปลูกข้าวเพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรตัดสินใจ โดยจะให้จังหวัดต่างๆเป็นผู้เสนอข้อมูลพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อให้ นบข.รับทราบและประกาศในวันที่ 28 ก.พ.นี้

          2.ส่งเสริมการปลูกพืชและกิจกรรมทดแทนนาข้าวคุณภาพต่ำและเพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงสมดุลการผลิตข้าว ด้วยการลดรอบการทำข้าวนาปรังและทดแทนด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน ไร่นาสวนผสม การเลี้ยงสัตว์ และเกษตรทฤษฎีใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          3.สนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด ประกอบด้วย 1)ปัจจัยการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรมีพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง โดยนำพันธุ์ข้าวที่ดีไปแลกกับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรมีอยู่ ส่งเสริมการลดภาระค่าเช่านา การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องกับการใช้ปุ๋ยและสารเคมี ส่งเสริมการนำแนวทางการวิเคราะห์ธาตุอาหารในไร่นา (ปุ๋ยสั่งตัด) สนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตร ที่มีความจำเป็นด้วยการให้สินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำกับเกษตรกร

          2)กระบวนการผลิตและการเก็บเกี่ยว สนับสนุนให้มีการใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวแทนแรงงานที่ขาดแคลนและมีค่าจ้างสูงขึ้น เพิ่มการอบลดความชื้นโดยคำนึงถึงคุณภาพข้าวที่ต้องไม่ลดลง และใช้การหยอดพันธุ์ข้าวแทนการหว่านเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น 3)การเพิ่มประสิทธิภาพการตลาด ปัจจุบันอำนาจการต่อรองของเกษตรกรในการขายข้าวเปลือกมีน้อยมากเพราะหลังเก็บเกี่ยวแล้วมุ่งไปที่โรงสีโดยตรง การเพิ่มประสิทธิภาพตลาดต้องเน้นที่การรวมตัวของเกษตรกรเป็นกลุ่มสหกรณ์ การพัฒนาระบบตลาดกลางข้าวเปลือกชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการขายข้าวของชาวนา และ 4)การแปรรูป ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มรายได้ โดยอาศัยนวัตกรรมการงานวิจัยของภาควิชาการผ่านกลไกสหกรณ์ที่มีความใกล้ชิดกับสหกรณ์ในพื้นที่

          4.การส่งเสริมและพัฒนาข้าวคุณภาพโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว แบ่งเป็นข้อเสนอนโยบายในระยะสั้น ได้แก่ เสนอแนะให้มีการใช้มาตรการชะลอการขายในรูปแบบจำนำยุ้งฉางในราคาที่ต่ำกว่าตลาด และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อจัดทำไซโลและลานตากเพื่อปรับปรุงคุณภาพการผลิต โดยไม่ควรทำมาตรการรับจำนำข้าวในราคานำตลาดที่จะทำลายตลาดและการผลิตข้าวหอมมะลิ และทำลายคุณภาพข้าวหอมมะลิในระยะยาว ส่งเสริมให้มีการจัดการคุณภาพข้าวหอมมะลิทั้งระบบรวมถึงการจัดทำมาตรฐานความหอมมะลิให้เป็นมาตรฐาน และแยกข้าวหอมในพื้นที่ต่างๆเพื่อให้สามารถแบ่งแยกราคาของข้าวหอมมะลิตามแหล่งผลิตและความนิยมของตลาดได้อย่างชัดเจน ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในระยะยาว ประเด็นด้านคุณภาพของข้าวหอมมะลิ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินนโยบายข้าวหอมมะลิ

          ดังนั้น ในระยะยาวต้องมีการสร้าง ห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยเน้นการสร้างการตลาดที่แตกต่างกันระหว่างข้าวหอมมะลิกับข้าวอื่นๆ โดยส่งเสริมการจำแนกคุณภาพข้าวหอมมะลิในตลาดตามชั้นคุณภาพ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ราคามีความแตกต่างและจูงใจให้เกษตรกรผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น

          5.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้คนไทยบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวเชิงรุก โดยเน้นการสร้างมาตรฐานและภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวไทยทั้งในประเทศและตลาดโลก

          6.การนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาช่วยต่อเติมห่วงโซ่อุปทานขึ้นเป็นห่วงโซ่คุณค่า เช่น ส่งเสริมให้ข้าวเป็นอาหารสุขภาพ หรือเครื่องสำอาง โดยภาครัฐส่งเสริมแหล่งทุนเงื่อนไขผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรฯ

          7.ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้ทำการผลิตในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย เกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคที่มีความใส่ใจต่อผู้บริโภคมากขึ้น

          8.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลข้าวให้มีความเป็นเอกภาพ โดยลดความคลาดเคลื่อนของฐานข้อมูลด้านข้าวจากหลายหน่วยงาน และการลดความสับสนในการนำข้อมูลไปใช้ให้ถูกกับความต้องการ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการเผยแพร่ได้อย่างหลากหลายช่องทางและนำข้อมูลไปใช้ได้ในทางที่ถูกต้อง

          แนะปลูกข้าวคุณภาพสูงเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

          สถานการณ์ข้าวโลกในปี 2559/2560 คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 1.5% โดยคาดว่า จะมีความต้องการข้าวประมาณ 475.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ซึ่งมีความต้องการอยู่ที่ 468.61 ล้านตัน โดยลักษณะเป็นการเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นแต่ความต้องการบริโภคต่อคนไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทำให้ความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นช้าๆต่างจากที่ปริมาณข้าวที่เพิ่มขึ้น ค่อนข้างรวดเร็ว โดยในปีการผลิต 2559/2560 มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 7.91 ล้านตัน

          นายสมพร อิศวิลานนท์นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าทุกประเทศที่เคยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักเริ่มมี รายได้สูงขึ้นทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและระยะต่อไปความต้องการบริโภคข้าวจะลดลงแต่หันไปบริโภคอาหารที่แปรรูปแล้วแทน หรือบริโภคข้าวที่คุณภาพสูงขึ้น ทำให้ราคาข้าวเองก็มีทิศทางเป็นขาลงตามไปด้วยเมื่อเทียบกับพืชเกษตรชนิดอื่นๆ

          ดังนั้น ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายหลักของโลกจะต้องปรับตัวทั้งแง่ของการปรับพื้นที่ผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก รวมทั้งหันไปแปรรูปข้าวเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการ ทำตลาดเฉพาะหรือข้าวอินทรีย์ เพราะหากขายข้าวเจ้า หรือข้าวหอมมะลิธรรมดาแข่งขันกับเวียดนาม พม่า กัมพูชาได้ลำบากแล้ว เพราะประเทศเหล่านั้นต้นทุนถูกกว่า ต้องมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาค้นคว้าเพื่อรักษาความพรีเมียมของข้าวหอมให้คงอยู่ทั้งความหอม ความนุ่ม

          เพราะปัจจุบันพบปัญหาว่า ความหอมของข้าวหอมมะลิไทย ได้ลดลง จากทั้งสาเหตุการทำนาที่เปลี่ยนไป จากการเก็บข้าวตากแล้วค่อยสี มาใช้รถเกี่ยว ตลอดจนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากขึ้น

          ในส่วนของตลาดข้าวเหนียวที่ตลาดขนาดเล็ก และได้รับอานิสงส์จากการบริโภคข้าวเหนียวของคนจีน ทำให้พยุงราคาให้สูงอยู่ได้ แต่ก็ต้องมีการปรับปรุงคือการแนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวที่ไม่ไวต่อแสงจะทำให้ได้ข้าวราคาดี ต้องดูความต้องการของตลาดให้สอดคล้องกับการผลิต

          ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายหลักของโลกจะต้องปรับปรับพื้นที่ผลิตให้สอดคล้องแปรรูปข้าวเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 มกราคม 2560



เอกสารที่เกี่ยวข้อง