เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
"ข้าวหอมมะลิไทย" ทวงคืนแชมป์อันดับ 1 ของโลก

          ข้าวหอมมะลิถือเป็นข้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทยในการบริโภคและการส่งออก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทยและมีบทบาทสำคัญกับชาวนาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากความหอมอร่อยของข้าวหอมมะลิแล้ว ข้าวหอมมะลิยังเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นอาหารหลักของคนไทยอีกด้วย

          จากผลการประกวดที่จัดขึ้นในการประกวดข้าวระดับโลก "World's Best Rice" 2016 ที่จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ข้าว "ผกาลำดวน" ของกัมพูชาได้อันดับที่ 3 ในการประกวด อันดับที่ 2 คือ "ข้าวแคลโรส" ของสหรัฐฯ ส่วนอันดับ 1 เป็น "ข้าวหอมมะลิ" ของไทย และเหตุที่ไทยได้แชมป์ข้าวหอมมะลิไทยทวงแชมป์อันดับ 1 ของโลกในปี 2016 กลับมาได้ ก็เพราะเข้าเกณฑ์การตัดสินที่วัดกันด้วยกลิ่นที่มีความหอม มีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม รสชาติดีเยี่ยม และรูปลักษณ์ที่ดีและสวยงามตามคุณลักษณะของข้าวที่ดี

          ในการประกวดข้าวโลก "World's Best Rice" ได้จัดมาตั้งแต่ปี 2552 และจะจัดหมุนเวียนไปตามประเทศที่ปลูกข้าวเป็นหลัก ข้าวหอมมะลิไทยครองตำแหน่งแชมป์ใน 2 ปีแรก คณะกรรมการตัดสินเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร สมาคมบริษัทที่ปรึกษา เกี่ยวกับการทำอาหารในสหรัฐฯ และพ่อครัวที่มีชื่อเสียงจากประเทศต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ ใช้เกณฑ์การตัดสิน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลิ่นความหอม รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และ รูปร่างลักษณะ โดยใช้วิธีตัดสินแบบการทดสอบด้วย Blind testing คือไม่ให้กรรมการทราบว่าเป็นข้าวของประเทศใด แล้วลงคะแนนตัดสิน โดยคะแนน 40% มาจากข้าวที่ยังไม่ได้หุง ส่วนอีก 60% เป็นข้าวที่หุงแล้ว

          ต่อมาปี 2555 ข้าวที่ชนะเลิศคือข้าว Phaka Malis "ผกาลำดวน" จากกัมพูชา หมายถึง ดอกไม้ มีความหมายถึง "ข้าวดอกไม้มะลิ" หรือ "ข้าวดอกมะลิ" เป็นข้าวของกัมพูชาเองที่มีอยู่แพร่หลายทั้งที่บันเตียนเมียนเจย (อุดรมีชัย ศรีโสภณเดิม) พระตะบอง กัมปงธม กัมปงจาม โพธิสัด ข้าวที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณสมบัติของข้าวไม่ว่าจะความนุ่ม ความหอม ใกล้เคียงการปลูกในประเทศไทย เพราะไม่เน้นการใส่ปุ๋ยเคมีหรือใส่ปุ๋ยเคมีน้อยที่สุด

          ส่วนในปี 2556 ข้าวหอมมะลิจากกัมพูชา ได้คะแนนสูงสุด เท่ากับข้าว California Rose หรือ Calrose จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ จึงเป็นครั้งแรก ที่มีข้าว 2 ชนิดได้ครองชนะเลิศด้วยกัน ซึ่งข้าว Calrose ถูกพัฒนาสายพันธุ์ โดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เดวิส (UC Davis) เมื่อ พ.ศ. 2491 เป็นข้าวเมล็ดขนาดกลาง รูปร่างคล้ายดอกกุหลาบตูม หากปลูกในรัฐ Louisiana จะเรียกว่า Blue rose มีการปลูกข้าว Calrose ในหลายประเทศ เช่นที่ออสเตรเลีย และแถบหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นข้าวชนิดนุ่ม เหนียว เหมาะที่จะทำข้าวซูชิอาหารญี่ปุ่น

          ในปี 2557 - 2558 ข้าวหอมมะลิของกัมพูชายังสามารถคว้ารางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แต่ในปี 2557 ไม่ใช่ข้าว Phaka Malis แต่ เป็นข้าว Phka Romdul "ผกาลำดวน" โดยข้าวกล้องหอมมะลิของไทย ช่วยกู้หน้าคนไทย ด้วยการคว้าตำแหน่งชนะเลิศร่วมกับข้าวกัมพูชา

          และในปี 2559  "ข้าวหอมมะลิไทย" ก็ได้ทวงแชมป์ข้าวอร่อยที่สุดในโลก โดยได้รางวัลชนะเลิศมาครอง ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิไทยทำสถิติครองแชมป์เป็นสมัยที่ 4 แซงหน้ากัมพูชา เป็นการทวงตำแหน่งแชมป์ข้าวหอมคืนจากกัมพูชาที่เคยเป็นแชมป์ 3 สมัยก่อนหน้านี้

          ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน และผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวอินทรีย์มาตรฐาน สหภาพยุโรป (EU) มาตรฐานสหรัฐอเมริกา (NOP) มาตรฐานแคนาดา (COR) และมาตรฐาน ญี่ปุ่น (JAS) เพื่อการส่งออก กล่าวถึงปัจจัยในการปลูกข้าวที่ดีว่า

          "สิ่งมีชีวิต ไม่ว่า พืช หรือ สัตว์ หากมีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติแล้วย่อมมีคุณลักษณะและคุณภาพตามสายพันธุ์ ข้าวเป็นธัญพืช มีรูปมีร่าง มีลักษณะความหอม ความเหนียวนุ่ม และรสชาติ เป็นที่พึงพอใจของมนุษย์ เป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่าและมูลค่ามากที่สุดในประเทศ การปลูกตามแนวเกษตรอินทรีย์จึงเป็นวิธีการที่ถูกต้องที่จะสร้างคุณภาพและคุณค่าของข้าวได้อย่างแท้จริง สารเคมีในการเร่งโต เป็นการเร่งกระบวนการตามธรรมชาติให้ผิดเพี้ยนไป คุณภาพและคุณค่าของธัญพืชจึงด้อยลงไปด้วย"

          ผลที่ได้รับจากชัยชนะครั้งนี้ ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ในการส่งข้าวประกวด กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสว่า คนไทยเลิกปลูกข้าวไม่ได้ เพราะคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ซึ่งชาวนาทุกคนน้อมใส่เกล้าฯ มาโดยตลอด สถานการณ์ราคาข้าวเป็นปัจจัยผันแปร ทำให้การปลูกข้าวของคนไทย ผิดแผกไปจากธรรมชาติของข้าว จนกลายพืชกลายพันธุ์ไปหมด

          "เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน และสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด ได้ยึดถือแนวการเกษตรอินทรีย์ (Organic)ในการผลิตพืชอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้ผนวกเอาเกษตรธรรมชาติ (NA: Natural Agriculture) และเกษตรอนุรักษ์ (CA: Conservative Agriculture) ไว้ด้วย ข้าวจึงเจริญเติบโตตามธรรมชาติของข้าว โดยมีเกษตรกรสมาชิกของเราคอยให้การเอาใจใส่ดูแล และป้องกันการเบียดเบียนจากโรคภัยต่างๆ ตามวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ไม่ใช้สารเคมีเร่งโต

          "หากมีการปนเปื้อนในข้าว และมนุษย์บริโภคเข้าไปแล้วจะเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยที่ร้ายแรง โดยเฉพาะ "มะเร็ง" เราจึงมั่นใจว่าเราได้ทำหน้าที่ผู้ผลิตอาหารที่ดีของโลก เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษยชาติ ผลการประกวดข้าวและข้าวไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ เราขอร่วมภูมิใจกับชาวนาอินทรีย์ทั่วประเทศที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับประเทศชาติของเราครับ ผลกระทบที่จะตามมาในทางธุรกิจของกลุ่มเราคือ มีการสั่งซื้อ สั่งจองข้าวเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวของยอดการซื้อ-ขายของปีที่แล้ว ครับ เราเน้นย้ำกับลูกค้าเสมอว่า เราขายของดี ไม่ได้ขายของถูก ครับ

          "พ่อเจ้าอยู่หัวสอนให้เรารู้จักบูรณาการ คือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยสมัยเก่า จะทำให้ชีวิตเราอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและศักยภาพ อย่างปลูกข้าวแบบไม่ใส่ใจ ปลูกเห่อตามกระแส ภูมิปัญญาเรามีมาแต่เดิม สร้างคุณภาพได้ไม่แพ้ใคร เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับ นานาชาติ

          "อย่าคิดแบบคนสิ้นคิดว่า "ทำไม่ได้" มันเพียงแต่ทำยาก ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ เมื่อทำได้แล้วก็จะเกิดความชำนาญ กลายเป็นทักษะ ที่สุดแล้วจะพัฒนามาเป็นวิถีชีวิต เหมือนกับสมาชิกเครือข่ายฯ ของเราที่ทำกันอยู่ พวกเราไม่เคยตกเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องมาอุ้มชู ช่วยเหลือหรือประกันราคาอะไรกับเราเลย เราดูแลตนเองได้ ช่วยตนเองได้ เราพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง

          "ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรก็ Set Zero ต้อง Zero จริงๆ นะครับ แม้แต่ใจยังต้องทำให้ว่างให้ได้ แล้วก้าวเข้ามา เราพร้อมจะร่วมงานกับทุกภาคส่วนตลอดเวลาครับ อยากให้ชาวนากลุ่มอื่นๆ หรือหน่วยงานของรัฐหันมาใส่ใจทำ หันมาใส่ใจส่งเสริม บ้างแล้วจะรู้ว่ามันไม่ยากอย่างที่คิด" 

 

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา วันที่ 19 มกราคม 2560



เอกสารที่เกี่ยวข้อง