เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ทิศทางราคาข้าว...อ่อนไหว มาตรการชะลอการขายเอาอยู่ ?

ทำนองว่ามีโรงสีท้องถิ่นร่วมมือกับนักการเมืองท้องถิ่น กดราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ และถูกขยายความต่อโดยหลายฝ่าย อาทิ อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ออกมาขานรับ ว่ามีโรงสีกับกลุ่มนายทุนร่วมกันกดราคาข้าวชาวนา และไม่รับซื้อข้าว เนื่องจากปลายปีจะมีข้าวเข้าตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาข้าวตกต่ำเป็นประวัติการณ์

          การออกมาระบุตรงๆ ว่าโรงสีร่วมนายทุนกดราคาข้าวของนายกฯ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ ส่งผลให้โรงสีตกเป็นจำเลยสังคมไปโดยปริยาย กระทั่ง คณะกรรมการสมาคม โรงสีข้าวไทย ออกมาประกาศขอลาออกยกชุด โดยอ้างว่า รับไม่ได้ที่ตกเป็นจำเลย ทั้งที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นนั้น จนนายกฯต้องออกมาขอโทษดับกระแสและคลี่คลายสถานการณ์ลง

          ราคาขยับ 500 บาท

          แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับโรงสีกลไกสำคัญในตลาดข้าวกระเตื้องขึ้น โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ หรือจำนำยุ้งฉางกำลังเริ่มต้น และโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกเจ้า ก็ตามมาติดๆ แต่สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดกลับขยับตัวอย่างอ่อนๆ เท่านั้น

          โรงสีแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า วันนี้ (7 พ.ย.) ผู้ส่งออกรับซื้อข้าว(สาร)หอมมะลิราคา 1.5-1.6 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนข้าวขาว 5% รับซื้อที่ 1.1-1.11 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งยืนราคามากว่าหนึ่งเดือนแล้ว ผู้ประกอบการรายเดียวกันให้ข้อมูลด้วยว่า การรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาหลังมีมาตรการออกมาขยับขึ้นเล็กน้อย เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% รับซื้อที่ราคา 8,500-9,000 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ 500 บาทต่อตันโดยประมาณ

          การที่โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกยังไม่ส่งผลต่อราคาอย่างมีนัย สำคัญ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า หากซัพพลายส์ใหม่จากข้าวเปลือก (นาปีรวมนาปรัง) ที่จะเข้ามาในระบบ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้ อีกไม่น้อยกว่า 20 ล้านตันข้าวเปลือก (14 ล้านตันเดือนพฤศจิกายนและอีก 6 ล้านตันเดือนธันวาคม) จะฉุดราคาข้าวเปลือกให้ถดถอยลงอีก

          ไม่ช่วยชาวนาไม่ได้แล้ว

          ตลอดสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ข่าวข้าวราคาตกต่ำค่อยๆ ยกระดับขึ้นเป็นวาระสังคม ทั้งที่ "ข้าวราคาตก" เป็นข่าวต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา  ก่อนแตกเป็นกระแสเชิงเร้าอารมณ์ "ไม่ขายข้าวผ่านคนกลาง" ตีขึ้นมาคู่กัน หากถามว่า สถานการณ์ดังกล่าวก่อตัวจากจุดไหน? ต้องย้อนกลับไปที่คำปรารภของพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวระหว่างการประชุมนบข.ครั้งก่อนหน้าที่ว่า "อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน รวมถึงรัฐวิสาหกิจ ลงไปช่วยชาวนาอีกแรง"

          คำปรารภของนายกรัฐมนตรีไม่ต่างจากการให้นโยบายด้วยวาจา และส่งผลให้ภาครัฐและเอกชน ออกมาขานรับกันถ้วนหน้า กองทัพบกปรับนโยบายซื้อข้าวตรงจากชาวนา กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทั่วประเทศพร้อมนโยบายชุดใหญ่ ให้ใช้เวทีภาครัฐเพื่อช่วยเหลือชาวนา เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่ขยับคึกคักไม่แพ้กัน เช่น กลุ่ม ปตท.ให้ชาวนาใช้พื้นที่ปั๊ม 1,464 แห่ง ทั่วประเทศขายข้าว บางจากรับซื้อข้าวจากชาวนามาขายต่อที่ปั๊ม 100 แห่ง กลุ่มทรูใช้เครือข่ายร้านกาแฟช่วยชาวนาขายข้าว มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากให้ชาวนา ใช้พื้นที่ทำตลาดแล้ว ยังเสนอให้ลูกชาวนาสามารถใช้ข้าวแลกหน่วยกิตได้อีกต่างห่าง ขณะที่สังคมโซเชียลจุดกระแสซื้อข้าวตรงกับชาวนา ส่งผลให้หน้าร้าน(เพจ) เครือข่ายชาวนามียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทันควัน

          กระแสดังกล่าว ผนวกกับดราม่าการเมือง ฉากซื้อข้าวหอมมะลิ 20 ตันจากชาวนาอุบลราชธานี มาขายที่กรุงเทพฯในราคาลดกระหน่ำ ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดกระแส "ไม่ช่วยชาวนาไม่ได้แล้ว" ฟุ้งกระจายออกไปหลายทิศทางและหลากอารมณ์มากขึ้น

          ราคาข้าวหัน ซ้าย หรือ ขวา

          เมื่อรัฐบาลมีมาตรการและกระแสสังคมหนุน ราคาข้าวจะไปทางไหน? ขวา ขึ้น หรือ ซ้าย ลง

          หากสำรวจสถานการณ์โดยรวม แม้ตลาดข้าวเวลานี้ ไม่ได้ถูกปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดราคาแต่เพียงฝ่ายเดียว หากมีการแทรกแซงอ่อนๆ จากนโยบายรัฐ กระแสเห็นใจชาวนาจากสังคม แต่ปัจจัยใหม่ที่เข้ามา อาจไม่มีพลังมากพอดันราคาข้าวให้ขยับขึ้น เพราะสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ราคาข้าวยังหาทางขึ้นไม่เจอ คือ สต๊อกที่ล้นโลกและล้นประเทศ ที่สำคัญสต๊อกในระบบ กำลังจะถูกเติมด้วยซัพพลายใหม่ ข้าวเปลือกจะเข้าตลาดอีกระลอกในช่วง 2 เดือนหลังของปีนี้ไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัน (ข้าวเปลือก)

          ขณะที่อีกฝั่งนอกจากมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน (คาดว่าจะมีข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการประกันยุ้งฉางไม่น้อยกว่า 20 ล้านตันข้าวเปลือก) เพื่อชะลอซัพพลายแล้ว ด้านฝั่งของดีมานด์ข้าวแม้จะเพิ่มขึ้น แต่เป็นความต้องการที่เกิดจากกระแส "ไม่ช่วยชาวนาไม่ได้แล้ว" ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณและกระแสจะยืนยาวได้ขนาดไหน หรือความต้องการที่มาตามนโยบาย เช่น กระทรวงพาณิชย์จับมือกับ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รับซื้อข้าวสารจากชาวนา เบื้องต้น 2 แสนตัน และเก็บสต๊อกนาน 4 เดือน (ธันวาคม 2559-มีนาคม 2560) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย ซื้อข้าวชาวนา 2.5 หมื่นตัน เพื่อทำกิจกรรมซีเอสอาร์ หรือสมาคมข้าวถุงจัดส่งข้าวราคาเดียวให้กับค้าปลีกทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นการบริโภคเป็นต้น แต่ดีมานด์ดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณและสต๊อกที่ค้างในระบบ (เฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเหลืออีก 7.82 ล้านตันจาก 19 ล้านตัน)

          ชะลอซัพพลาย

          ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ไม่ได้บอกกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ตรงๆ ว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมา จะส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดหรือไม่? เขาอธิบายว่า แนวทางที่จะแก้ปัญหาราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ ก็โดยการชะลอการขายข้าวในยุ้งฉาง เพราะสถิติพบว่าการขายข้าวออกมาในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยว ราคาจะตกมากกว่า 3% และหากเป็นสถานการณ์ขณะนี้ ราคาก็จะยิ่งตกมากขึ้นไปอีก

          นักวิชาการผู้สนใจปัญหาข้าว รายนี้ ขยายความต่อด้วยว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมา ก็คือชะลอซัพพลาย แต่ไม่ใช่การ "พยุงหรือดันราคา" และยืนยันว่าการจะยกราคาสินค้าเกษตรให้สูงกว่าตลาดที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องใช้งบมหาศาล เพื่อจะซื้อส่วนเกินทั้งหมดเก็บไว้ในยุ้งฉาง เหมือนเช่นที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำ และสร้างความเสียหายมาแล้ว

          ประมวลสถานการณ์โดยรวมแล้ว กลยุทธ์รับมือราคาข้าวขาลงของรัฐบาลในขณะนี้ คือ ชะลอการขายข้าวของชาวนาออกไป แล้วรอให้สถานการณ์ตลาดคลี่คลาย ซึ่งเท่ากับว่า ทิศทางราคาข้าวในช่วงต่อจากนี้ไปค่อนข้างอ่อนไหว เพราะมีหลายปัจจัยนอกเหนือการควบคุม เหมือนอย่างที่ "ประสิทธิ์ บุญเฉย" นายกสมาคมชาวนาไทย บอกว่ามาตรการชะลอการขายที่รัฐบาลออกมาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะยังมีข้าวรอเก็บเกี่ยวอีกมาก ที่สำคัญเมื่อสิ้นโครงการ(ชะลอการขาย) หากทิศทางตลาดยังไม่เปลี่ยนแปลง

          คงต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ผู้สาปส่งประชานิยม และประกาศว่าจะไม่ใช้ทั้งมาตรการประกันและจำนำราคาข้าวในการดูแลชาวนา จะไปทางไหนต่อ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 10 - 12 พ.ย. 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง