เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
5ปี APTERR องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินฯเน้นทำงานเชิงรุกขับเคลื่อนองค์กรสู่ความอย่างเข้มแข็ง

            แอปเตอร์ (APTERR) องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสามเผยผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการจัดตั้ง แอปเตอร์ (APTERR) ขึ้นตามความตกลงการสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR Agreement) ซึ่งลงนามรับรองโดยรัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งไทยก็ได้รับความไว้วางใจให้มีการจัดตั้งสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) ขึ้นในประเทศไทย โดยหวังให้เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ และมติของคณะมนตรีแอปเตอร์ (APTERR Council) ภายใต้การทำหน้าที่สำคัญประสานความช่วยเหลือให้แก่สมาชิก ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลกโดยประเทศไทยได้ออกกฎหมายคุ้มครองแอปเตอร์ (APTERR) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสำรองข้าวบริโภคยามเกิดภัยพิบัติในประเทศอาเซียน+3 ส่งผลให้สำนักเลขานุการแอปเตอร์ มีสถานะเป็นนิติบุคคล รวมทั้งได้รับความคุ้มครอง และได้รับเอกสิทธิ์บางประการจากประเทศไทย

          นายชาญพิทยา ฉิมพาลี ผู้จัดการทั่วไป สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR)เปิดเผยว่า แอปเตอร์ เป็นองค์กรความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียนบวกสาม มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรองข้าวไว้สำหรับบริโภค เมื่อเกิดความจำเป็นกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน และเพื่อมนุษยธรรม อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในประเทศสมาชิก รวม 13 ประเทศ โดยได้พัฒนามาจากกลไกการสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน หรือ ASEAN Emergency Rice Reserve (AERR) ภายใต้ความตกลงการสำรองอาหารแห่งอาเซียน หรือ ASEAN Food Security Reserve (AFSR) ซึ่งลงนามในปี 2522 ระยะนั้นได้มีการร่วมกันระดมข้าวสารสำรองไว้ยามฉุกเฉินในระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวนรวมทั้งสิ้น 87,000 ตัน ต่อมาจนกระทั่งปี 2546 ได้มีการขยายขอบเขตสมาชิก รวมอีก 3 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้โครงการนำร่อง EAERR หรือ East Asia Emergency Rice Reserve ทำให้ปริมาณข้าวสารสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 787,000 ตัน โดยจำนวน 700,000 ตันมาจากประเทศบวกสามที่เพิ่มเข้ามา จนในที่สุดเห็นว่าความร่วมมือสำรองข้าวก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากแก่ประชาชนของประเทศสมาชิก จึงพัฒนา EAERR ให้เป็นองค์กรที่มั่นคงถาวร ซึ่งตามความตกลงที่ทำขึ้น ณ ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รวมทั้งการประชุมที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้เกิดสำนักงานแอปเตอร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นทางการตั้งแต่ ปี 2556

          โดยองค์ประกอบหรือกลไกหลักในการทำงานของแอปเตอร์ ได้แก่ (1) องค์คณะบริหารสูงสุดที่เรียกว่า คณะมนตรี (APTERR Council) ประกอบไปด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกที่เป็นข้าราชการอาวุโส ทำหน้าที่ควบคุมกำกับและตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ มีการประชุมกันปีละ 1 ครั้ง (2) กองทุนแอปเตอร์ (APTERR Fund) เป็นเงินสะสมที่ประเทศสมาชิกบริจาคตามข้อตกลงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักเลขานุการแอปเตอร์ (3) ระเบียบข้อบังคับต่างๆ (Rules and Procedures) เช่น ข้อบังคับด้านการบริหาร ด้านการเงิน ด้านการระบายและเติมเต็มข้าว เพื่อใช้เป็นแนวทางและควบคุมกำกับการดำเนินงานของสำนักเลขานุการแอปเตอร์ (4) สต๊อกข้าวในรูปสัญญา หรือ earmarked รวม 787,000 ตัน ซึ่งประเทศสมาชิกต้องสำรองไว้ในแต่ละประเทศ

          นายชาญพิทยา กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการดำเนินงานของแอปเตอร์นั้น หลักๆ คือ การสำรองข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารและช่วยเหลือประเทศสมาชิกของแอปเตอร์ ประกอบไปด้วย 3 รูปแบบ (Tier) คือ Tier 1 เป็นการสำรองข้าวสารไว้สำหรับการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน จัดเป็น Earmarked Reserve ประเภทที่ 1 Tier 2 เป็นการสำรองข้าวสารไว้สำหรับการทำสัญญาซื้อขายเมื่อขณะหรือเมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว จัดเป็น Earmarked Reserve ประเภทที่ 2 และ Tier 3 เป็นการระดมข้าวโดยการบริจาคข้าวสารหรือตัวเงิน เพื่อจัดหาข้าวสารตามความสมัครใจเพื่อช่วยเหลือประทศสมาชิกแบบให้เปล่ากรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน หรือเพื่อมนุษยธรรม จัดเป็น Stockpiled Reserve ซึ่งผลการดำเนินงานช่วยเหลือนับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการระดมข้าวสารตาม Tier 3 เพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศสมาชิกที่ประสบภัยธรรมชาติ เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และไทย รวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 ตัน โดยผู้บริจาคที่สำคัญ คือ ไทย ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย เป็นต้น

          ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นจากประเทศสมาชิกด้วยดีตลอดมา อีกทั้งประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในการเข้าร่วมจัดตั้งแอปเตอร์ นอกเหนือจากเป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจและมิตรไมตรีจิตพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเพื่อนบ้านด้านความมั่นคงทางอาหารในฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวและส่งออกรายใหญ่ของโลกแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการช่วยบริหารจัดการโควตาข้าวเพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดอาเซียนบวกสามของไทย ได้อีกถึงปีละ 15,000 ตัน ซึ่งอนาคตจะมีการเพิ่มปริมาณสำรองให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านการตลาดของประเทศที่เชื่อมโยงกับมาตรการด้านการตลาดข้าวของรัฐ สำหรับการนำเอาข้าวเปลือกจากเกษตรกรโดยตรงเข้ามาเก็บสำรองไว้สำหรับขาย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับราคาที่เป็นธรรมจากการขายข้าวเปลือก ซึ่งนำไปสู่ราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้น เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ผลิตข้าวอย่างแท้จริง

          สำหรับผู้อ่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเลขานุการแอปเตอร์ โทร. 0-2579-4816, 0-2579-4817 หรือ www.APTERR.org


ที่มา  :  หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 7 ต.ค. 59  หน้า 13

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง