เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
แห่ปลูกมะม่วง "90 องศา" ลูกดก - ไร้เสี้ยน - หอมหวาน จีนแปรรูปสู่ตลาดโลก

          ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

          กำลังเป็นที่นิยมของบรรดาเกษตรกรในหลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา หันมาสนใจปลูกมะม่วงโดยใช้เทคนิคให้ลำต้นเอียงระนาบกับพื้น แล้วหักศอกตั้งฉากขึ้นในระดับ 90 องศา จนประสบความสำเร็จทำให้มะม่วงออกลูกดกตลอดทั้งปี โดยแนวความคิดนี้เป็นของ กิจติกร กีรติเรขา อดีตข้าราชการครูใน ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งได้ทดลองกับต้นมะม่วงพันธุ์ "งามเมืองย่า" ตั้งแต่เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเผยแพร่ให้กับเกษตรกรกว่า 100 ราย ในพื้นที่ อ.ปักธงชัย อ.เสิงสาง และ อ.ครบุรี นำไปใช้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ล่าสุดช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีบริษัทนำเข้าผลไม้ยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน ได้มาเซ็นสัญญาสั่งออเดอร์กว่า 500 ตันต่อปี

          "กิจติกร" เผยว่า เทคนิคการปลูกมะม่วงงามเมืองย่า 90 องศานี้ เกิดจากการสังเกตเห็นต้นมะพร้าวที่เอียง 90 องศา ซึ่งมีลูกดกตลอดทั้งปี ต่างจากต้นที่ตั้งตรงซึ่งไม่ค่อยออกลูกนัก จึงได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งความรู้หลายที่ แล้วพบว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเมื่อมะพร้าวมีต้นเอียงราบกับพื้นแล้วปลายตั้ง 90 องศา มันจะคิดว่าใกล้ตาย จึงเร่งดูดสารอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้น และพยายามผลิดอกออกผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแนวคิดนี้ก็น่าจะสามารถนำมาใช้ได้กับต้นไม้ทุกชนิด ดังนั้น จึงได้ทดลองใช้กับต้นมะม่วงงามเมืองย่า

          "ขั้นตอนแรกได้นำกิ่งตอนมาปลูกให้ได้ความสูงประมาณ 2 เมตร หลังจากนั้นจะตัดกิ่งบริเวณโคนลำต้นออกทั้งหมด แล้วปักหลักที่โคนต้นเอาเชือกผูกไว้ ส่วนด้านยอดก็จะปักหลักห่างจากโคน 1 เมตร แล้วค่อยๆ เอาเชือกดัดลำต้นให้เอียงระนาบไปกับพื้น ทีละน้อยจนได้ 90 องศา เมื่อได้ระดับนี้แล้วก็ให้ผูกเชือกไว้กับหลักอย่างถาวร เพื่อให้ยอดต้นมะม่วงตั้งขึ้นในแนว 90 องศา แล้วตัดยอดให้เหลือ 3 กิ่ง เพื่อไม่ให้แย่งอาหารกันมาก ก็จะได้มะม่วงงามเมืองย่า 90 องศาที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งใช้ระยะเวลาในกระบวนการนี้ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นอีกประมาณ 1 ปี มะม่วงก็จะออกลูกดกตลอดทั้งปี

          "ที่ผ่านมามีเกษตรกรในพื้นที่ จ.นครราช สีมา นำเทคนิคนี้ไปใช้ ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 400 ต้น ทิ้งระยะห่างแต่ละต้น 2 X 2 เมตร ปรากฏว่าได้ผลผลิตไร่ละประมาณ 4,000 กิโลกรัม หรือ 4 ตันต่อรุ่น เฉลี่ยน้ำหนักแต่ละลูกประมาณ 1.5 กิโลกรัม เมื่อขายส่งราคากิโลกรัมละ 80 บาท จะได้เงินมารุ่นละ 320,000 บาท โดย 1 ปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 3 รุ่น คิดเป็นมูลค่า 960,000 บาทเลยทีเดียว"

          "กิจติกร" ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรที่ปลูกมะม่วงงามเมืองย่า 90 องศาอยู่กว่า 100 ราย ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีบริษัทนำเข้าผลไม้รายใหญ่ของจีน คือบริษัทเสียนหลัว โอมาร์ก อินเตอร์เทรด จำกัด มาลงนามสัญญา MOU สั่งซื้อมะม่วงงามเมืองย่า 500 ตันต่อปี เพื่อนำไปจำหน่ายทั่วโลก เป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ ขณะนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกมะม่วงงามเมืองย่า 90 องศาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ในโครงการ "1 ไร่ หายจน" เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจการส่งออกมะม่วงไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

          "กิจติกร" ทิ้งท้ายว่า สำหรับความพิเศษของมะม่วงงามเมืองย่า 90 องศานี้ ลำต้นจะไม่สูงมากนัก สามารถยืนเก็บผลผลิตได้อย่างสะดวก ส่วนผลมะม่วงจะมีเนื้อมาก และไม่มีเสี้ยนเหมือนมะม่วงทั่วไป มีกลิ่นหอม และมีรสชาติไม่หวานมากนัก ซึ่งจะถูกใจผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยบริษัทนำเข้าผลไม้จากประเทศจีน ยังได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด อาทิ ไอศกรีม, น้ำผลไม้, แยมมะม่วง และพายมะม่วงอีกด้วย

          ด้าน ประกอบ แถมเกษม เกษตรกรวัย 64 ปี แห่งบ้านคลองยาง หมู่ 3 ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา หนึ่งในผู้ที่นำเทคนิคปลูกมะม่วงงามเมืองย่า 90 องศา มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บอกว่า ก่อนหน้านั้นได้ปลูกพืชเศรษฐกิจมาหลายชนิด อาทิ องุ่นไร้เมล็ด และมะนาว แต่เนื่องจากต้องใช้สารเคมีมาโดยตลอด ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับร่างกายได้รับสารเคมีเข้าไป เริ่มมีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย ต่อมาเมื่อปี 2555 ได้ไปพบกับ "กิจติกร" ซึ่งได้แนะนำวิธีการปลูกมะม่วงงามเมืองย่า 90 องศาปลอดสารพิษ และเริ่มปลูกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยใช้พื้นที่ปลูกทั้งหมด 3 ไร่ ไร่ละ 400 ต้น ใช้เวลา 3 ปี ถึงวันนี้สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว 2 รุ่น รุ่นละไม่ต่ำกว่า 10 ตัน และผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม

          ขณะนี้กำลังเตรียมเก็บผลผลิต เพื่อส่งให้บริษัทนำเข้าผลไม้จากจีน ที่มีใบสั่ง (ออเดอร์) รับซื้อผลผลิตทั้งหมดตลอดทั้งปี

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 12 มิถุนายน 2558  หน้า 28