เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
โอกาสทอง เอสเอ็มอี ไทยมุ่งเจาะตลาด เออีซี

          บริษัท เฮฟต้า จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจ ก่อสร้าง ด้านการติดตั้งหน้าต่าง ประตู งานโครงสร้างเรือนกระจก จากวัสดุ ยูพีวีซี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ถือว่ายัง เป็นรองจาก "วินด์เซอร์" ในเครือเอสซีจี ที่เป็นเจ้าตลาดรายใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 80%

          วันทา เปี่ยมพงศ์สุข กรรมการ ผู้จัดการ "เฮฟต้า" เตรียมขยายตลาดในเออีซี หวังเพิ่มรายได้ โดยตั้งเป้าส่งออกโตมากกว่า 10%

          มีแผนลุยตลาดเออีซีอย่างไร

          เรามีแผนที่จะหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจเพิ่มในเมียนมา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ หลังจากที่เริ่มเปิดตลาดในลาว และกัมพูชาในปีนี้ โดยเตรียมเดินทางร่วมกับภาครัฐไปเมียนมา ช่วงเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเจรจาทางธุรกิจแสวงหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ เนื่องจากมองว่าตลาดในเออีซี มีศักยภาพและเพิ่งเริ่มเปิดประเทศมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานที่สำคัญ ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างยังมีอีกมาก

          คิดว่าภาครัฐควรช่วยอะไร

          ในส่วนของเฮฟต้า รูปแบบการลงทุนจะเน้นการหาคู่ค้า หรือ พาร์ทเนอร์ โดยคู่ค้าจะเป็นผู้ลงทุน 100%ขณะที่เฮฟต้า จะถ่ายทอดองค์ความรู้ การใช้เครื่องจักร การผลิต การขาย และวิธีการติดตั้งในลักษณะของ "พี่เลี้ยง" จึงไม่ต้องการมาตรการสนับสนุนทางการเงิน แต่ต้องการให้ภาครัฐ ช่วยเหลือเรื่องการนำพาธุรกิจเอสเอ็มอี ออกไปทำตลาด หรือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เจอกับคู่ค้า เช่น ที่รัฐเคยจัด "เอสเอ็มอี โปรแอคทีฟ" ตรงนี้สำคัญมาก เพราะเป็นก้าวแรก ในการขยายตลาดต่างประเทศ

          จะแนะนำเอสเอ็มอีออกไปลงทุนอย่างไร

          สิ่งแรกคือ บริษัทต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ต้องมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษากลางของแต่ละประเทศ เพื่อให้สื่อสารกันได้ง่าย จากนั้นต้องศึกษาความต้องการของตลาด สินค้าประเภทไหนจะขายได้ หรือขายไม่ได้ และศึกษากฎระเบียบ หรือเงื่อนไขการค้าของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนนี้ พาร์ทเนอร์จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ

          มีหลักอะไรในการคัดเลือกคู่ค้า

          บริษัท มีจุดยืน คือต้องมั่นใจในคุณภาพสินค้าของเราที่จะส่งออกไป และคู่ค้าต้องห้ามนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าจีน เพราะวัสดุก่อสร้างของบริษัท ผลิตจากยูพีวีซี เป็นงานคุณภาพ เจาะตลาดกลางถึงบน ดังนั้น จะมองหาคู่ค้าที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้สามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ระยะยาว และคุณภาพสินค้าของบริษัทก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยการันตีพาร์ทเนอร์

          สัดส่วนตลาดในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างไร

          ปัจจุบันยังมุ่งทำตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยมีรายได้จากตลาดในประเทศ 90% และต่างประเทศ คือ ลาว กัมพูชา 10% แต่ในอนาคตตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากการ ส่งออกให้มากขึ้น จากโอกาสกระแสเปิด เออีซี และรัฐบาลสนับสนุนการออกไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้บริษัทตื่นตัวมากขึ้น

          มองการเติบโตธุรกิจวัสดุก่อสร้างในประเทศอย่างไร

          มองว่าในประเทศยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการ ทั้งการขยายเส้นทางรถไฟ และถนนออกไปชานเมืองและต่างจังหวัด เช่น รถไฟทางคู่จิระขอนแก่น,มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด, มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น เกิดการกระจายออกไปรอบเมือง ซึ่งจะช่วยให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น

          แนวโน้มตลาดวัสดุ "ยูพีวีซี"ยังไปได้แค่ไหน

          "ยูพีวีซี" ผลิตจากพลาสติกพีวีซี เป็นวัสดุแทนไม้ หรือ ไม้เทียม ซึ่งอะไรที่งานไม้และอะลูมิเนียมทำได้ ก็สามารถใช้ ยูพีวีซี แทนได้เพราะเป็นฉนวนกันความร้อน มีอายุการใช้งานนาน และเป็นกรีนโปรดักส์ ดังนั้น ความต้องการใช้ยังเติบโตอีกมากในระยะยาว ซึ่งตลาดในประเทศมองว่า ปีนี้กำลังซื้อเริ่มฟื้นตัว จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการใช้ ยูพีวีซี ยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนต่างประเทศ ยูพีวีซี ถือเป็นสินค้าน้องใหม่ที่เริ่มเข้าไปทำตลาดจึงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

          ธุรกิจวัสดุก่อสร้างแข่งขันรุนแรงแค่ไหน

          ถือว่า รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี บริษัทจึงต้องสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค รักษาคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย ที่สำคัญต้องพยายามป้อนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าไปในตลาดเป็นระยะ ล่าสุด บริษัทได้ลงทุนโรงรีดเส้นยูพีวีซี ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสินค้า และคิดค้นเส้นยูพีวีซี หลากสี จากเดิมมีเพียงสีขาว ซึ่งเฮฟต้า ถือเป็นรายแรกของตลาดที่สามารถผลิตเส้นยูพีวีซี โดยที่ลูกค้าเป็นผู้เลือกสีได้ตามต้องการ

          มีแผนการลงทุนระยะ 5 ปีอย่างไร

          บริษัท เตรียมงบลงทุน 50 ล้านบาท ช่วงปี 2560-2564 เพิ่มเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเส้นยูพีวีซี ที่มีฐานการผลิต 1 แห่ง อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร เพิ่มขึ้น 1 เท่า จาก 200 ตันต่อปีในปัจจุบัน เป็น 400-500 ตันต่อปี รองรับการเติบโตจากการขยายธุรกิจออกไปในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีคู่ค้า12 แห่ง และคู่ค้าต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตนอกเหนือจาก ลาว และกัมพูชา

          ในปี 2560 เตรียมเปิดโชว์รูมเฮฟต้าในหัวเมืองใหญ่ เพื่อใช้เป็นแขนขา ซัพพอร์ตคู่ค้า รองรับการขยายธุรกิจออกไปการเติบโตในภูมิภาค ตั้งเป้าภายใน 2 ปี จะมีโชว์รูม 10 แห่งทั่วประเทศ และรักษายอดขายให้เติบโตต่อเนื่อง 15-20% ต่อปี เพื่อให้สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ภายใน 5 ปี

          สำหรับปีนี้ คาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท เติบโต 10%จากปี 2556 หรือฟื้นตัวขึ้นจากปี 2557 ที่มียอดขายลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคไม่จับจ่าย

          โอกาสแตกไลน์ธุรกิจในอนาคตแค่ไหน

          ก็พยายามมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยปีนี้ ได้ทำบ้านประกอบสำเร็จ ออกมาทดลองตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการมีบ้านในราคาที่ควบคุมได้

          โดยกำหนดราคาขาย 4.5 แสนบาทต่อหลัง จำนวน 50 หลัง คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 30 ล้านบาท ใน 2 ปี ซึ่งบ้านลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ  ในอนาคตบริษัทกำลังวางแผนที่จะต่อยอดไปสู่การได้บ้านขนาดใหญ่ หรือ บ้านจริงๆ ที่ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 1 เดือนเสร็จ

          เพราะปัจจุบันงานก่อสร้างส่วนใหญ่จะเผชิญปัญหา ผู้รับเหมาหนี้ งานไม่ได้อย่างที่ต้องการ เสียเวลา และงบบานปลาย

          "ตลาดในเออีซี เริ่มเปิดประเทศมีการลงทุนโครงสร้างพื้นที่ฐาน ทำให้ต้องการวัสดุก่อสร้าง'

          สานฝันธุรกิจวัสดุก่อสร้าง

          จบเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัย เวสเทิร์น มิชิแกน ประเทศสหรัฐ จากนั้นเริ่มต้นทำงานตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) ในปี 2537

          จากนั้น ในปี 2539 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์บัตรเครดิต ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย และ รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจแปรรูป อาหาร บริษัท โรยัล คานิน (ประเทศไทย) จำกัด

          ต่อมาในปี 2547 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮฟต้า จำกัด

          มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี

          บริษัทจึงต้องสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค รักษาคุณภาพและบริการหลังการขาย

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 สิงหาคม 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง