เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
แนะชาวนาปรับใช้เทคโนโลยี รวมตัวผลิต "แปลงใหญ่"

          วานนี้ (3 ส.ค.) มีการสัมมนาเรื่อง "โลกเปลี่ยนไว ชาวนาไทยต้องปรับ" จัดโดยกรมการข้าว บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

          นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประชากรของโลกที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นตามไม่สอดคล้องกับพื้นที่การเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง และมีปัญหาภัยธรรมชาติดังนั้นการพัฒนาทางด้านการเกษตรในขณะนี้จึงต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ให้สูงขึ้น ใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย เนื่องจากแรงงานภาคการเกษตรปรับลดลงและ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานสูงอายุ

          ทั้งหมดทำให้กระทรวงเกษตรฯต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ เริ่มจากข้าวที่ ต้องลดพื้นที่ปลูกในเขตไม่เหมาะสม กำหนดให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดปีนี้ไม่เกิน27.7 ล้านตันข้าวเปลือก มีการแจ้งเตือนสภาพภูมิอากาศ เพื่อใช้เตือนภัยเกษตรกรในการตัดสินใจวางแผน ซึ่งรัฐได้ร่วมกับภาคเอกชนในโครงการแปลงใหญ่ข้าว เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มการปลูกพืชหรือ เลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวกัน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตั้งเป้าลดต้นทุนการผลิตให้ได้อย่างน้อย 15-20% เชื่อมโยงกับเอกชนทาง ด้านการตลาดเพื่อลดปัญหาทางด้านราคา ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ที่เกษตรกรไทยต้องเรียนรู้และปรับตัว

          นายซึโมตุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญ (ข้าว) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ชาวนาในญี่ปุ่นคล้ายกับไทยในด้านแรงงานสูงอายุ พื้นที่การเกษตรเริ่มลดลง รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายพัฒนาเกษตรกรรมขึ้น แยกเป็น 4 ด้าน คือ  1. นโยบาย การผลิต 2.การเพิ่มมูลค่าอย่างทวีคูณต่อ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 3.การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกษตรกร และ  4.การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ควบคู่ไปกับการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชนบทมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนนั้นๆโดยนโยบายด้านการผลิต รัฐบาลลดพื้นที่การผลิตลงให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ที่ลดลงจาก 60 กก. เหลือ 50 กก./คน/ปี แต่ผลผลิตที่ได้ยังเกิน ความต้องการ

          ในปีที่ผ่านมาจึงส่งเสริมให้ใช้ข้าว เป็นอาหารสัตว์แทนข้าวโพดที่ญี่ปุ่น ต้องนำเข้าปีละ 5 ล้านตัน โดยให้เงินอุดหนุน เกษตรกรในโครงการนี้  6.6 หมื่นบาท/ไร่ แต่ถ้าปลูกพืชอื่นอุดหนุน 1.2 บาท /ไร่  การทำนาจะรวมพื้นที่แต่ละแห่งให้ได้มากกว่า80% ผลผลิตต้องได้มาตรฐาน JGAP ที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ป้องกันการปลอมปนของข้าวราคาแพงกับข้าวราคาถูกที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

          การรวมกลุ่มของชาวนาทำให้รายได้เพิ่มขึ้นถึง 41 เท่าตัว โดยมีรายได้เฉลี่ย 4.1 ล้านบาท/ปีเทียบกับชาวนารายย่อย ที่มีรายได้ 0.1 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มของชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชน และบริษัท ที่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากสะดวกต่อ การบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ โดยการรวมกลุ่มนี่รัฐบาลจะอุดหนุนเงินลงทุน 30-50 %  สำหรับการซื้อเครื่องจักรและสร้างโรงเรือน แต่ละกลุ่มจะทำนาปีละครั้ง หลังจากนั้นจะปลูกพืชอื่น อีก 2 ครั้ง จะระเบิดดินดานทุก 3 ปี และใช้วิธีการไถกลบตอซังใส่ปุ๋ยคอก เพื่อเพิ่มไนโตรเจนในดินทำให้ได้ข้าวคุณภาพดี ทุกขั้นตอนจะบันทึก ข้อมูล กำหนดเป้าหมายการติดดอก ติดรวง แยกตามสายพันธุ์ พื้นที่เพาะปลูกใช้เป็นคู่มือต่อไป

          นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การลด พื้นที่การปลูกข้าวเพื่อผลผลิตนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่จำนวนชาวนาต้อง ไม่ลดลง ซึ่งประเทศใหญ่เขาประสบผล

          สำเร็จในเรื่องนี้ไปแล้ว

          ส่วนไทยปัจจุบันอยู่ในขั้นการเริ่มต้นเพราะยังมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ต้องอิงราคาในตลาดโลก ที่ไม่มีวันจะทำให้ราคาสูงกว่าได้ ช่วงขาลงของราคาสินค้าเกษตรนี้กดดันให้ไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมด ที่ยังมีปัญหาทั้งด้านการผลิต การบริโภคข้าวลดลง  จากสถิติ 10 ปีนี้แม้จะสูงอยู่ในแถบแอฟริกา แต่หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงซึ่งเห็นแล้วในเอเชีย ลดลงทุกประเทศยกเว้นฟิลิปปินส์ การพัฒนาของเทคโนโลยีจะทำให้เกษตรกรกรรมเข้าสู่ปฏิวัติเขียวครั้งที่ 2 กฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น  สภาพ อากาศเปลี่ยนเกิดภัยแล้งและน้ำท่วมจะเกิดบ่อยและรุนแรงมากขึ้น

          ดังนั้นการปรับโครงสร้างจึงควรเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร ที่ต้องพัฒนาทั้งไบโอเทคโนโลยี และการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยการพัฒนาพันธุ์ให้เร็วขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับตลาดได้ เปิดกว้าง งานวิจัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะจีเอ็มโอที่บริษัทข้ามชาติ พัฒนาไปไกลมากพร้อมให้ การสนับสนุนประเทศในเอเชียยกเว้นไทยในการใช้เทคโนโลยีนี้ตั้งเป้าสร้างรายได้ เกษตรกรเพิ่มอีก 20% จะส่งผลให้ไทยล้าหลัง งานวิจัยที่ต้องเร่งดำเนินการนี้รัฐบาลต้อง ดึงนักวิชาการเข้ามาช่วย รวมทั้งสร้าง แอพพลิเคชั่นเริ่มจากร้านปัจจัยการผลิตและราคาในท้องถิ่น ที่แอฟริกาใช้แล้ว โดยการสนับสนุนจากประเทศใหญ่ๆ เนื่องจากการคมนาคมในแอฟริกาไม่ดี จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

          "ตอนนี้ไทยยังมีโอกาส กรณีข้าวไทยมีตลาดใหญ่ที่สุด ส่งออกข้าวคุณภาพมากที่สุด มีข้าวหลากหลายพันธุ์ ขาดเพียงการ วิจัยที่รัฐฝ่ายเดียวไม่มีทางสำเร็จ ต้องร่วม กับเอกชนและมหาวิทยาลัยที่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่มาก อย่างกรณีข้าวหอมมะลิไทยไม่หอม แล้ว ต้องรู้ให้ได้ว่าเป็นผลมาจากอะไร ทั้ง เรื่องธาตุอาหารในดิน สิ่งแวดล้อม จากการ วิเคราะห์พบว่าตลาดข้าวของโลกมี 2 อย่างที่ต้องการคือหอมและความนุ่ม  แค่ 2 โจทย์นี้ ใน 2-3 ปีข้างหน้าต้องเห็น ถ้ากรมการข้าว ทำได้สำเร็จจะเป็นงานชิ้นโบแดง"

          การปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 100 ปีจึงสามารถลดช่องว่างระหว่างรายได้นอกภาคการเกษตรให้ใกล้เคียง กับรายได้ในภาคการเกษตร ซึ่งส่งผล ให้เกิดเกษตรรุ่นใหม่สานต่องานได้ แต่ไทยไม่มีเวลามากขนาดนั้นต้องเร่ง ดำเนินการให้เร็วที่สุด ต้องทำทุกวิถีทาง นั่นคือต้องช่วยกันทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล เกษตรกร และเอกชน

          นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริษัทบางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่แล้วเพราะอินเดียประสบภัยแล้งผลผลิตข้าวลดลง ในขณะที่ ผลผลิตข้าวไทยยังมีอยู่มาก แต่คุณภาพข้าวของไทยปรับลดลงจริง ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นผลมาจากอะไร แต่คุณภาพโดยรวมยังเป็นที่ยอมรับของตลาด

          ส่วนลักษณะการทำนาของเกษตรกร จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนานกว่า 2 ปีต่อเนื่อง นั้น ชาวนาภาคอีสานเปลี่ยนมาทำนาหยอดมากขึ้น ซึ่งลดต้นทุนการผลิต ทำได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับนาหว่านผลผลิตต่อไร่มากขึ้นแต่ในปีนี้เมื่อสภาพฝนเป็นปกติ เกษตรกรที่เตรียมนาหยอดไม่สามารถทำได้ต้องกลับมาทำนาหว่านเช่นเดิม สิ่งเหล่านี้เกษตรกรต้องเรียนรู้เพื่อปรับสภาพโดยที่รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายถ่ายทอดข้อมูลด้วย


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  4 สิงหาคม 2559  หน้า2

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง