เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
"วิรัช พรหมมี" เกษตรกร GAP ดีเด่นภาคใต้ตอนล่าง จากการส่งเสริมของ "สวพ.8"

          กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่ให้การตรวจสอบและรับรอง แหล่งผลิตพืช ตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice หรือ GAP) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ตามนโยบายอาหารปลอดภัย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งผลผลิตพืชตามระบบ GAP เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

          นายอนันต์ อักษรศรี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่การผลิตตามระบบ GAP กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดให้มีการคัดเลือก "เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการให้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม" ให้เป็นอีกหนึ่งสาขาที่จะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้คัดเลือกในแต่ละปี ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกร GAP ดีเด่น ในปีงบประมาณ 2559 ได้แก่ นายวิรัช พรหมมี บ้านเลขที่ 124 หมู่ที่ 1 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

          นางศิริกุล โกกิฬา ผอ.กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สวพ.8 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายวิรัช พรหมมี เป็นคนจังหวัดตรัง โดยกำเนิด เดิมมีอาชีพเป็นครู แต่ครอบครัวทำสวนยาง เริ่มต้นทำเกษตรจากต้นมังคุดเพียง 9 ต้น ที่งอกขึ้นมาเองโดยไม่ได้ปลูก และด้วยเหตุผลที่มองว่ามังคุดปลูกง่ายและคงจะดูแลได้ไม่ยาก ประกอบกับในเวลานั้นเป็นช่วงที่ยางพาราหมดอายุกรีดพอดี จึงตัดสินใจปลูกมังคุดแซมยางพาราในปี 2528 พื้นที่ 9 ไร่ สภาพพื้นที่ปลูกมังคุดของลุงวิรัชโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ ลักษณะดินเป็นดินร่วน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี ใช้ระยะปลูก 7 x 7 เมตร ได้ต้นมังคุด ประมาณ 200 ต้น การให้น้ำโดยทั่วไปอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่ในระยะเวลาที่ฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน จะมีการใช้น้ำจากลำธารธรรมชาติ และประปาหมู่บ้าน โดยให้น้ำแบบระบบสายยาง หลังจากนั้นจะทำการงดน้ำในช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อกระตุ้นการออกดอก หลังจากออกดอกแล้วก็จะมีการให้น้ำและใส่ปุ๋ย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์กับน้ำหมักชีวภาพเพื่อช่วยในการบำรุงต้น และช่วยในการปรับสภาพดินให้ดีขึ้น โดยจะซื้อปุ๋ยอินทรีย์แบบอัดเม็ด และเลือกใช้ปุ๋ยที่ได้มาตรฐาน มีเลขทะเบียนรับรองที่ชัดเจน ใส่ต้นละประมาณ 1-2 กิโลกรัม แต่ในส่วนของน้ำหมักจะนำผลผลิตเน่าเสียที่หล่นจากใต้ต้นมาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพใช้เอง โดยจะใช้น้ำหมักในช่วงการติดดอก เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์ไม่สลัดดอกทิ้งมากเกินไป ตลอดระยะเวลาที่ติดดอกออกผล มีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 20-30 วัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ผลผลิตมังคุดมีรสชาติ ที่ดี ในระหว่างนั้นจะมีการดูแลกำจัดวัชพืชภายในแปลงโดยใช้วิธีการตัดหญ้าแทนการใช้สารเคมี

          นายวิรัชเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยในแต่ละปี มังคุดให้ผลผลิตประมาณ 10 ตัน เป็นที่น่าพอใจมาก หลังจากมีการเก็บเกี่ยวแล้วจะทำการตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออกแล้วทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง สามารถรับแสงแดดได้ทั่วถึง จากนั้นจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดต้นละประมาณ 2-3 กิโลกรัม และมีการใช้น้ำหมักที่ผลิตเองในการบำรุงลำต้นพร้อมกับการปรับสภาพดิน เป็นการเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการผลิตในรุ่นต่อไป ในส่วนของสถานที่จัดเก็บปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมีการจัดเก็บเป็นสัดส่วนเพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ และที่สำคัญตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน นายวิรัชจะมีการบันทึกข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เช่น การให้ปุ๋ย การให้น้ำ รายรับ รายจ่าย และการปฏิบัติงานอื่นๆ ภายในแปลง เพื่อเป็นข้อมูลที่ใช้ในการลดต้นทุนการผลิตในรอบต่อไป และนายวิรัชจะมีการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าในแปลงปลูกจะไม่มีการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรเลยก็ตาม

          ด้านการตลาด นายวิรัชไม่จำเป็นต้องออกไปขายผลผลิตที่ตลาด เพราะมีพ่อค้ามารับซื้อแบบเหมาถึงสวน เนื่องจากพ่อค้าทราบว่าแปลงมังคุดของนายวิรัชได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP พืช ทำให้ในแต่ละปีนายวิรัช จะมีรายได้จากสวนมังคุด GAP อย่างน้อย 50,000-100,000 บาท ในขณะที่มีต้นทุนประมาณ 5,000-10,000 บาทเท่านั้น นับว่าเป็นรายได้ที่น่าพอใจ ซึ่งเมื่อมังคุดขายได้ราคาดีแล้ว นายวิรัชจึงมีความคิดที่จะปลูกพืชอื่นๆ แซม เช่น ทุเรียน ลองกอง กล้วย ขนุน ผักหวานป่า เพื่อนำมาบริโภคในครัวเรือน และผลผลิตที่เหลือก็สามรถขายเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง จากการที่นายวิรัชมีการจัดการคุณภาพภายในแปลงดี มีความปลอดภัยและยังมีความเป็นผู้นำ ความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จึงได้รับการพิจารณา คัดเลือกเป็นเกษตรกร GAP ดีเด่นของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ในปี งบประมาณ 2559


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 21 กรกฎาคม 2559  หน้า 13
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง