เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
สถานการณ์ข้าวอาเซียนปี 2015 : ประเด็นข้าวไทยต้องเร่งปรับปรุง

          ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
          ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


          ต้นเดือนที่ผ่านมา ผมได้ไปบรรยายเรื่อง "ข้าวภาคเหนือ : รุ่งหรือร่วงใน AEC" ซึ่งเป็นงานสัมมนาของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แต่ก่อนที่ผมจะลงรายละเอียดของข้าวในภาคเหนือ ผมขอนำเสนอสถานการณ์ข้าวของอาเซียนในระยะ 3 ปี (2013 - 2015) ดังนี้ครับ ตามรายงานของ "ASEAN Food Security Information" ได้รายงานว่า พื้นที่เก็บเพาะปลูกของข้าวเปลือก (Paddy Planted Area) ปี 2015 อินโดนีเซียมีพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่ 85 ล้านไร่ ตามด้วยประเทศไทยจำนวน 80 ล้านไร่ (แยกเป็นพื้นที่ข้าวนาปี 65 ล้านไร่และพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 15 ล้านไร่) และเวียดนามจำนวน 50 ล้านตัน

          ส่วนพม่ามีพื้นที่จำนวน 46 ล้านไร่ ประเทศที่มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกในระยะสามปีคือ สปป.ลาว (6.5 ล้านไร่) พม่าและกัมพูชา (20 ล้านไร่) ส่วนการผลิตข้าวเปลือกของอาเซียนในปี 2013 อยู่ที่ 214 ล้านตัน และลดลงเหลือ 212 ล้านตัน ในปี 2015 ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผลผลิตข้าวเปลือกมากที่สุดอยู่ที่ 71 ล้านตันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ตามด้วยผลผลิตข้าวเปลือกของเวียดนามที่ 44 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 20 ของการผลิตของอาเซียน ส่วนไทยผลิตที่ 33 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นข้าวนาปี 27 ล้านตัน และข้าวนาปรัง 6 ล้านตัน ผลผลิตข้าวเปลือกของพม่าผลิตเป็นอันดับที่สี่ด้วยผลผลิตเท่ากับ 29 ล้านตันคิดเป็นร้อยละ 15 ที่น่าสังเกตคือผลผลิตข้าวเปลือกของพม่าเพิ่มขึ้นจาก 27 ล้านตันเป็น 29 ล้านตัน ในช่วงสามปีพบว่าประเทศในกลุ่ม CLMV มีการเพิ่มผลผลิตข้าวเปลือกทุกประเทศ โดยพม่ามีการเพิ่มมากที่สุด ส่วนอัตราการสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารของอาเซียน มีความใกล้เคียงกับของประเทศไทย โดยอาเซียนอยู่ 1 ตันข้าวเปลือกได้ข้าวสาร 625 กิโลกรัม ส่วนประเทศไทยข้าวเปลือก 1 ตัน ได้ข้าวสาร 660 กิโลกรัม และถือได้ว่าประสิทธิภาพการแปรสภาพของไทยดีกว่าในประเทศอาเซียน จากข้าวเปลือกของอาเซียนพบว่า ประเทศอินโดนีเซียมีข้าวสารมากที่สุดอยู่ที่ 41 ล้านตัน ตามด้วยเวียดนาม 28 ล้านตันและข้าวสารของไทย 25 ล้านตัน ตามด้วยข้าวสารของพม่าจำนวน 17 ล้านตัน หลังจากหักการบริโภคแล้วพบว่า ปี 2015 กัมพูชามีข้าวที่จะส่งออกได้อีก 2 ล้านตัน พม่ามีข้าว

          สามารถส่งออกได้อีก 2.2 ล้านตัน ไทยมีข้าวที่สามารถส่งออกได้ 11 ล้านตัน และเวียดนาม 7 ล้านตัน เมื่อพิจารณาสต็อกข้าวของอาเซียน ปี 2013 มีสต็อกข้าวจำนวน 27 ล้านตัน เพิ่มเป็น 40 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่เป็นสต็อกที่เพิ่มขึ้นมาจากของประเทศไทยจากจำนวน 16 ล้านตันในปี 2013 แล้วเพิ่มเป็น 28 ล้านตันในปี 2015 นั้นหมายความสต็อกร้อยละ 72 อยู่ที่ประเทศไทย สำหรับผลผลิตต่อไร่ของอาเซียนโดยเฉลี่ยในปี 2013 อยู่ที่ 684 กิโลกรัมต่อไร่ และเพิ่มเป็น 689 กิโลกรัมต่อไร่ในปี 2015 ประเทศที่มีผลผลิตต่อไร่

          สูงที่สุดในอาเซียน คือ ประเทศเวียดนาม 894 กิโลกรัมต่อไร่ (แต่รายงานของระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน ผลผลิตต่อไร่ของเวียดนามอยู่ที่ 902 กก.ต่อไร่ ในปี 2557) ตามด้วยอินโดนีเซีย 827 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตของมาเลเซียมีประสิทธิภาพการผลิตเป็นอันดับที่สามจำนวน 699 กิโลกรัมต่อไร่ ตามด้วยผลผลิตต่อไร่ของประเทศฟิลิปปินส์ ลาว พม่า และกัมพูชา สำหรับผลผลิตต่อไร่ของไทยเป็นอันดับที่แปดของอาเซียน อยู่ที่ 481 กิโลกรัม ต่อไร่ (ตัวเลขของ สศก. ผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปีอยู่ที่ 436 กก.ต่อไร่ และ ข้าวนาปรัง 642 กก.ต่อไร่) ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของบรูไน (ตามรายงานของกรมการค้าข้าว ไทยมีผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 456 กิโลกรัม ต่อไร่) สำหรับเป้าหมายการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกข้าวในปี 2015 ดังนี้เวียดนามเป้าหมาย ส่งออกจำนวน 7-7.5 ล้านตัน กัมพูชามีเป้าหมายส่งออก 1 ล้านตัน อินเดีย 7 ล้านตัน พม่า 2.5 ล้านตัน และประเทศไทยมีเป้าหมาย 8-8.5 ล้านตัน

          ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ หรือ 513,120 ตร.กม. (มากเป็นอันดับที่สามของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย 1.9 ล้าน ตร.กม.และพม่า 676,578 ตร.กม.) ในจำนวนนี้เป็นเนื้อที่ทำการเกษตร 47 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ภาคเหนือมีพื้นที่มากที่สุดของประเทศ 106 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 32.5 ล้านไร่ เป็นอันดับสองรองจากภาคอีสาน เป็นพื้นที่ทำนาร้อยละ 64 (20.8 ล้านไร่) รองจากภาคอีสานที่มีพื้นที่ทำนาร้อยละ 67 ของพื้นที่ทำการเกษตร เป็นข้าวนาปี 14.6 ล้านไร่และนาปรัง 6.2 ล้านไร่สำหรับข้าวนาปี จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือ นครสวรรค์ร้อยละ 16.6 ตามด้วยพิจิตรและกำแพงเพชร ส่วนข้าวนาปรังปลูกมากที่จังหวัดพิษณุโลกร้อยละ 18 ตามด้วยพิจิตรและนครสวรรค์ สำหรับประสิทธิภาพการผลิตข้าวนาปีและข้าวนาปรังของภาคเหนือถือได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 439 กก.ต่อไร่ กับ 533 กก.ต่อไร่ ตามลำดับ หันมาดูต้นทุนในการผลิตกันบ้าง ข้าวนาปีของภาคเหนือมีต้นทุนต่อตันอยู่ที่ 8,475 บาทต่อตัน ซึ่งถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตของภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แต่ต้นทุนข้าวนาปรังของภาคเหนือนั้นอยู่ที่ 9,632 บาทต่อตันซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตของภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

          สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเงินที่เกษตรเหลือ พบว่าการคิดเงินที่เกษตรกรเหลือในกระเป๋าต่อตัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใดก็ตาม ติดลบทุกภูมิภาค เพียงแต่ละติดลบมากน้อยแตกต่างกันไปและก็เป็น การติดลบทั้งข้าวนาปีและนาปรังด้วย หากเราจะต้องนำข้าวแข่งในอาเซียน ประเทศไทยต้องเร่งทำหลายเรื่อง

          ผมขอเรื่องเร่งด่วนก่อนคือ การจัดทำข้อมูลข้าวไทยใหม่สิ่งที่ผมพบคือหลายหน่วยงานข้าวมีข้อมูลไม่ตรงกัน เช่น พื้นที่การปลูก ผลผลิตต่อไร่ เป็นต้น ในกระทรวงเดียวกันข้อมูลข้าวก็ไม่ตรงกัน ระหว่างกระทรวงข้อมูลยิ่งไม่ตรงกันใหญ่ และเมื่อเทียบข้อมูลข้าวของไทยกับหน่วยงานต่างประเทศก็ไม่ตรงกันอีก ประเด็นต่อมากต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นโดยเร็ว ในอาเซียนเราต่ำสุดแล้ว และสุดท้ายรวมทั้งจัดการลดต้นทุนการผลิตให้ลดลงด้วย หากไม่เร่งทำปัญหาหลักของข้าวไทย ดูแล้วข้าวไทยในอาเซียน เหนื่อยแน่ๆ ครับ

          ผลผลิตต่อไร่ของไทยเป็นอันดับที่แปดของอาเซียนอยู่ที่ 481 กิโลกรัมต่อไร่

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 16 มิถุนายน 2558  (ASEAN 2)

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง