เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ปลูกกล้วยไข่แซมสวนไม้ผล สร้างรายได้ดีกว่าพืชหลัก

กล้วยไข่ เป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบุรี ตาก และชุมพร โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดประมาณ 25,731 ไร่ ซึ่งจะปลูกกล้วยไข่ เพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นหลัก

          นายนพดล แดงพวง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จันทบุรี กล่าวว่า การปลูกกล้วยไข่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกมากในอำเภอท่าใหม่ อำเภอมะขาม และอำเภอโป่งน้ำร้อน ลักษณะพื้นที่เป็นที่ดอนหรือพื้นที่ราบไม่มีน้ำท่วมขัง อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติหรือคลองชลประทาน การคมนาคมสะดวก สามารถขนส่งผลผลิตได้รวดเร็ว ซึ่งเกษตรกรจะนิยมปลูกกล้วยไข่แซมในสวนผลไม้เพื่อป้องกันลมพายุจากภัยธรรมชาติที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตกล้วยไข่ อีกทั้งกล้วยไข่จะได้อาศัยร่มเงาจากไม้ผลชนิดอื่น ที่สำคัญกล้วยไข่ยังถือเป็นพืชเสริมที่เป็นทางเลือกในระหว่างรอเก็บเกี่ยวไม้ผลหลัก ที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี

          เนื่องจากการผลิตกล้วยไข่ของเกษตรกส่วนใหญ่จะปลูกเพื่อการส่งออกเป็นหลัก จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด สำนักวิจัยและพัฒนา การเกษตร เขตที่ 6 ได้วิจัยทดสอบพัฒนาการผลิต กล้วยไข่ให้เกษตรกรโดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ และปริมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการผลิตกล้วยไข่ ของเกษตรกร ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิตกล้วยไข่เพื่อให้ได้คุณภาพสำหรับส่งออกนั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) มีขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้แก่ การใช้หน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ มีความสูงไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร มีลักษณะใบขิง หลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ระยะปลูก 2x2 เมตร มีจำนวนต้นประมาณ 80-100 ต้นต่อไร่ ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือคอก การใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ การจัดการดูแลรักษาตามระยะที่เหมาะสม การแต่งใบ การแต่งหน่อ การไว้หน่อเพื่อทดแทนต้นแม่ การค้ำเครือ การห่อผลและการป้องกันโรคแมลงศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว จะเก็บหลังจากตัดปลีประมาณ 45 วัน โดยการผลิตกล้วยไข่ เพื่อการส่งออกนั้นจะเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีความสุกแก่ที่ 70-80%

          จากการปฏิบัติตามเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพของกรมวิชาการเกษตร พบว่าเกษตรกรสามารถผลิตและจำหน่ายกล้วยไข่ให้กับพ่อค้า หรือผู้ประกอบการ ณ จุดรับซื้อผลผลิต โดยกว่า 80% จะเป็นผลผลิตกล้วยไข่ เกรดคุณภาพ สามารถส่งออกได้ นอกจากนี้เกษตรกรยังมี การวางแผนการผลิตเพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงที่ ผู้บริโภคมีความต้องการสูง โดยเฉพาะเทศกาลสำคัญของประเทศคู่ค้าอย่างวันตรุษจีน เป็นต้น ทำให้กล้วยไข่มีราคาค่อนข้างสูง ระหว่าง 65-90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ สร้างรายได้เฉลี่ย 2,000-5,000 บาทต่อสัปดาห์

          นอกจากนี้ จากการศึกษาระบบการปลูกกล้วยไข่ร่วมในแปลงไม้ผลเศรษฐกิจเพื่อเปรียบเทียบรายได้ ต้นทุนการผลิต ในพื้นที่แปลงตัวอย่างของเกษตรกร พบว่า การปลูกกล้วยไข่ในสวนมังคุด จะมีรายได้จากกล้วยไข่เฉลี่ย 34,500 บาทต่อไร่ต่อปี มีรายได้จากมังคุดอย่างเดียวเฉลี่ย 25,800 บาทต่อไร่ต่อปี ส่วนการปลูกกล้วยไข่ในลองกอง พบว่า รายได้จากกล้วยไข่เฉลี่ย 22,000 บาทต่อไร่ต่อปี ขณะที่ปลูกลองกองอย่างเดียวมีรายได้เฉลี่ย 33,250 บาทต่อไร่ต่อปี แสดงให้เห็นว่ากล้วยไข่เป็นพืชเสริมที่มีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ ที่คุ้มค่าตลอดทั้งปี ทั้งยังมีต้นทุนการผลิตต่ำ และไม่ กระทบต่อการผลิตพืชหลัก ที่สำคัญคือตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีความต้องการสินค้ากล้วยไข่ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้นด้วย

          ตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไข่ร่วมกับไม้ผล ได้แก่ คุณยุทธยงค์ พาที ปลูกกล้วยไข่แซมในไม้ผล โดยมีพื้นที่ใช้ทำสวนไม้ผลทั้งสิ้น 17 ไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลองกอง พริกไทย และมังคุด ในพื้นที่ทำสวนได้แบ่งพื้นที่ทดลองปลูกกล้วยไข่ร่วมในมังคุดจำนวน 4 ไร่ ปรากฏว่าเมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตและรายได้ที่ได้รับแล้ว พบว่าการปลูกกล้วยไข่สามารถทำรายได้สูงกว่ามังคุด โดยมีต้นทุนการผลิตมังคุดอยู่ที่ 4,250 บาทต่อไร่ต่อปี และมีรายได้จากมังคุดเป็นเงิน 52,000 บาท ในขณะที่กล้วยไข่มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,870 บาทต่อไร่ต่อปี แต่สามารถจำหน่ายผลผลิตกล้วยไข่และมีรายได้มากถึง 98,400 บาท เนื่องจากกล้วยไข่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อปี ประกอบกับราคากล้วยไข่ในแต่ละช่วงที่เก็บเกี่ยวอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากกล้วยไข่สูงกว่ามังคุด

          นายนพดล กล่าวเสริมว่า จากผลของรายได้ที่จูงใจบวกกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภค คาดการณ์ว่ากล้วยไข่จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกพืชหนึ่ง โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีจะมีแนวโน้มของพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากล้วยไข่จะเป็นพืชปลูกเสริมในแปลงไม้ผลได้ดี แต่ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสมด้วยจึงจะได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพ ทางสวพ.6 จึงได้พยายามผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวมไปถึงโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าคุณภาพและปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก ซึ่งผลก็จะสะท้อนกลับมาถึงเกษตรกรที่จะมีรายได้และความมั่นคงในอาชีพต่อไป

 

          บรรยายใต้ภาพ

          นายนพดล แดงพวง



เอกสารที่เกี่ยวข้อง