เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
คาดเอสเอ็มอีขอฟื้นฟู 7 พันราย

เอสเอ็มอีแบงก์แจงพ.ร.บ.ล้มละลายฉบับใหม่ หนุนรายย่อยฟื้นกิจการ ช่วยแบงก์ลดเอ็นพีแอล โต้ไม่มีล้มบนฟูก เบื้องต้นคาดมีผู้ประกอบการเข้าข่ายยื่นฟื้นฟู 7 พันราย วงเงิน 5 หมื่นล้าน เฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์ 600 ราย วงเงิน 3 พันล้าน เผยผลงาน5เดือนกำไร 898 ล้าน ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 1.32 หมื่นล้าน

          พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับใหม่เริ่มมีผล บังคับใช้ เปิดช่องให้นิติบุคคลขนาดเล็กที่มี หนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา ที่มีหนี้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปยื่นศาลขอ ฟื้นฟูกิจการได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก เจ้าหนี้คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของเจ้าหนี้ทั้งหมด ถูกมองว่าเป็นการเปิดช่องให้เอสเอ็มอี ล้มบนฟูก

          นางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ยืนยันว่าพ.ร.บ.ล้มละลายฉบับใหม่ มีส่วน ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ไม่ให้ล้มละลาย และยังช่วยในการฟื้นฟูกิจการได้ เนื่องจากจะทำธนาคารกล้าที่จะปล่อย สินเชื่อใหม่ จากเดิมที่การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ยังไม่ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว โดยลูกหนี้นิติบุคคลที่จะขอฟื้นฟูกิจการ ได้นั้น ต้องมีหนี้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ 2 ใน 3 ถึงจะสามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้

          ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีจำนวนเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลมีมูลหนี้ตั้งแต่ 3-10 ล้านบาทอยู่จำนวน 5-6 หมื่นราย ในส่วนนี้เป็นกิจการที่ประสบปัญหายอดขายตก และเข้าข่ายจะขอฟื้นฟูกิจการประมาณ 3 พันราย วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เฉพาะลูกค้าของเอสเอ็มอีแบงก์คาดว่าจะยื่นฟื้นฟูกิจการได้ประมาณ 600 ราย วงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเอ็นพีแอล "ยืนยันกฎหมายฉบับนี้ไม่ทำให้เอสเอ็มอี ล้มบนฟูก เพราะเอสเอ็มอีไม่มีฟูกให้ล้ม มีแต่เสื่อผืนหมอนใบ ตรงกันข้ามกฎหมายนี้นอกจากช่วยให้เอสเอ็มอีฟื้นกิจการได้แล้ว ยังเป็นประโยชน์กับธนาคารพาณิชย์ ที่จะได้ เงินคืน เพราะทุกแบงก์ต่างก็มีเอ็นพีแอลทั้งนั้น"

          นอกจากนี้สสว.ยังมีเงินกองทุนพลิกฟื้น กิจการวงเงิน 1 พันล้านบาท ให้เอสเอ็มอีกู้ รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท แบบไม่มีดอกเบี้ยเป็นเวลา 7 ปี  โดยจะมีการจัดงาน "สานพลัง SMEพลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ" ในวันที่ 27 มิ.ย.ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้ความรู้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ธุรกิจสะดุดสามารถฟื้นฟูกิจการได้

          ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคาร มีกำไรสุทธิ 898 ล้านบาท เฉพาะเดือนพ.ค. มีกำไร 180 ล้านบาท มีการปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้ 1.32 หมื่นล้านบาท หรือ 4.3 พันราย เฉลี่ยต่อราย 3 ล้านบาท แต่มีหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 67 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจ

          "มั่นใจว่าสิ้นปีเอ็นพีแอลจะปรับลดลงต่ำกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีเอ็นพีแอล 2.1 หมื่นล้านบาท"

          นอกจากนี้มั่นใจว่าสินเชื่อใหม่จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 3.5 หมื่นล้านบาท นอกจากการให้สินเชื่อปกติ ยังร่วมมือกับสสว.และสมาพันธ์ เอสเอ็มอีในการคัดกรองลูกค้า ล่าสุดทาง สมาพันธ์เอสเอ็มอีได้คัดกรองส่งลูกค้ามาแล้ว 591 ราย วงเงิน 2.81 พันล้านบาท

          นอกจากนี้ ยังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายโครงการสินเชื่อ Policy loan ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพราะยังเหลือวงเงินอยู่อีก 4 พันล้านบาท

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มิถุนายน 2559 หน้า 19



เอกสารที่เกี่ยวข้อง