เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
คอลัมน์: รักชีวิตรักษ์สิ่งแวดล้อม: กินก็ได้...ขายก็ดีโรงเรียนผักกูดที่ท่าดี

          สุวัฒน์ คงแป้น ข้อมูล : ดร.วิริยะ แต้มแก้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

          "ท่าดี" เป็นตำบลหนึ่งของ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช อำเภอที่ได้ชื่อว่า คุณภาพของอากาศดีที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาหลวง จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักผลไม้นานาชนิด หรือที่คนใต้เรียกว่า "สวนสมรม" หรือเกษตรผสมผสาน หรือ "สวนพ่อเฒ่า" และ ต.ท่าดี ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่ง "จำปาดะ" ดั้งเดิมของ จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย

          ด้วยเหตุที่ ต.ท่าดี ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา มีคลองท่าดีเป็นสายน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน เหมาะต่อการทำการเกษตร ประชาชนจึงนิยมทำสวนผลไม้และสวนยางพารา นั่นคือชาวบ้านได้หันไปสู่เกษตรเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น โดยลืมไปว่าพืชผักที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติล้วนแต่เป็นพืชอาหารและสมุนไพรทั้งสิ้น

          ต่อมาเมื่อมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าดีขึ้นในปี 2551 ทำให้มีการเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ ในตำบลเข้าด้วยกัน ก็พบว่ามีกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานเรื่องการจัดการผักพื้นบ้านอยู่ด้วย สภาองค์กรชุมชนจึงหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการจัดการพืชผักพื้นบ้าน ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายชนิด จนนำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายผู้ผลิตผักพื้นบ้านสู่ตลาดกลางชุมชน มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้บริโภคที่กว้างขวางออกไป

          ครั้นเมื่อสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าดีมีการสำรวจข้อมูลทั้งตำบลเพื่อจัดทำแผนพัฒนาตำบลภาคประชาชน ก็ได้มีการประสานงานกับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล หน่วยงานรัฐภายในอำเภอ ฯลฯ ทำการสำรวจข้อมูล พืชผักประจำท้องถิ่น ภายใต้โครงการ "พัฒนาผักพื้นบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสู่ตลาดชุมชนท่าดี" พบว่า ต.ท่าดี ถึงแม้พืชผักจะลดน้อยลง เนื่องจากการเปลี่ยนพื้นที่ไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากขึ้น แต่ก็ยังมีพืชผักพื้นบ้านอยู่จำนวนมาก เช่น อุตพิด ย่านาง ลำเท็งมรุย ขอนส้ม ชะพลู เหรียง ผักกูด ฯลฯ จึงนำข้อมูลดังกล่าวไปวางจังหวะก้าว เรื่องการนำพาท่าดีสู่เศรษฐกิจพอเพียงภายใน 3 ปี เช่นการจัดเวทีทำความเข้าใจให้ชาวบ้านกลับมาเห็นคุณค่าของผักพื้นบ้าน และเข้าร่วมโครงการสำรวจพืชพื้นถิ่นอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การจัดทำผังและแผนที่เพาะปลูก เป็นต้น

          ลุงสมบูรณ์ หมื่นขำ อายุ 73 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 สมาชิกรายหนึ่ง เล่าว่า ปลูกผักกูด 5 ไร่ โดยทำมาตั้งแต่ปี 2557 แรกๆ ก็เพราะไม่มีผักกินจึงไปขอเก็บผักจากสวนคนอื่น เจ้าของสวนบอกให้เอาไปปลูกจะได้มีผักกินตลอดปี จึงปรับจากการปลูกเงาะอย่างเดียวมาปลูกผักแซมในสวนเงาะ

          "แรกๆ ก็ปลูกไว้กินเอง แต่มันเหลือกินก็นำไปขายเล่นๆ เพียงมัดละบาทก็ขายดี เห็นว่าสร้างรายได้ จึงได้ปรับปรุงคุณภาพให้ดี" เอาใบตองมาห่อแล้วขายมัดละ 2 บาท ก็ขายดี ระยะหลังก็เอาไปขายที่ตลาดมัดละ 4 บาท ก็ขายดีเหมือนเดิม จนมีคนเห็นตัวอย่างก็หันมาปลูกมากขึ้น ทั้งๆ ที่ผักเหล่านี้ เมื่อก่อนขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ มันมีมากจนเราไม่เห็นคุณค่าของมัน เวลาทำสวนยางหรือสวนเงาะก็ตัดทิ้งจนเตียนหมด วันนี้ต้องหันมาหามันอีก" ลุงสมบูรณ์ บอก

          ปัจจุบันมีชาวบ้านปลูกผักกูดจำนวน 21 ราย โดยปลูกแซมในสวนผลไม้หรือพื้นที่ว่างข้างบ้าน เป็นการปลูกแบบปลอดสารเพราะใช้น้ำหมักชีวภาพ ผลผลิตจะนำไปจำหน่ายในตลาดชุมชนทุกวันอังคารและวันศุกร์ ซึ่งในการขายยังมีผักอื่นๆ อีกด้วย เช่น ผักเหรียง ซึ่งขายกิโลกรัมละ 60 บาท

          ลุงสมบูรณ์เล่าอีกว่า การทำงานให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักพื้นบ้าน นับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะคนมักจะหวังพึ่งรายได้จากพืชหลักอย่างยางพารา ก็เลยต้องใช้เทคนิคเข้าช่วย เช่น ใครมาขอผักกินก็ให้มาเก็บเองที่บ้าน จะได้พูดคุยและแนะนำให้เอาไปปลูกเหมือนที่ตนเคยเป็นมาแล้ว จะได้มีผักปลอดสารกินและมีรายได้ทุกวัน ซึ่งลุงเองมีรายได้จากผักวันละ 500 บาท ทุกวัน

          เพื่อทำให้การตลาดมีความมั่นคงและเป็นระบบมากขึ้น เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จึงขยายพื้นที่จากการปลูกที่บ้านไปสู่การปลูกแซมในสวนผลไม้ เพราะในสวนเป็นที่ร่มอากาศชื้นเหมาะแก่การปลูกผักพื้นบ้าน โดยมีหน่วยงานเกษตรอำเภอมาให้ความรู้เพิ่มเติม เน้นการปลูกแบบอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการเก็บตัวอย่างไปวิจัยสารตกค้างเป็นระยะ มีการทำระบบน้ำประปาภูเขาเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก ตลอดจนมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่สมาชิกผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ที่น่าสนใจก็คือ แนวทางการทำงานดังกล่าวได้ถูกยกระดับไป

          สู่การเรียนท่ามกลางการปฏิบัติจริง ที่เรียกว่า "โรงเรียนผักกูด" โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งโรงเรียนผักกูดนี้ ไม่ได้เน้นเฉพาะการปลูกเท่านั้น แต่ยังมีการนำผักพื้นบ้านไปสู่การแปรรูปเป็นอาหารเพื่อทำให้สังคมทราบว่าผักพื้นบ้านสามารถทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ยำผักกูด แกงส้ม ลาบปลาดุก ผักกูดชุบแป้งทอด ลวกราดกะทิกินกับน้ำพริก หรือต้มกะทิกุ้งสด ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลทำให้ตลาดกว้างขวางขึ้น จนปัจจุบันผักพื้นบ้านติดตลาดมากขึ้น กลุ่มคนรักสุขภาพให้ความสนใจ มีการนำไปวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าในเมืองนครศรีธรรมราชทุกวัน กล่าวได้ว่าตลาดยังเปิดกว้างอีกมากสำหรับผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ

          เพื่อให้มีการขยายผลกว้างขวางยิ่งขึ้น สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น จัดทำแผนขยายผลสู่ทุกหมู่บ้าน มีการตั้งหัวหน้ากลุ่มรวบรวมผักจากหมู่บ้านโดยรับซื้อจากสมาชิกเพื่อมาทำเป็นกำ แล้วแบ่งให้พ่อค้ารายย่อยเพื่อส่งตลาดหัวอิฐหรือตลาดในอำเภอเมือง (กำใหญ่กำละ 1 กิโลกรัม) และยังทำเป็นกำเล็กๆ เพื่อนำไปจำหน่ายเอง (โดยกลุ่ม)ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดชุมชน ฯลฯ เพื่อตัดวงจรไม่ให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาแทรกแซงราคา

          ช่วน ยอดวิจารณ์ แกนนำสภาองค์กรชุมชนตำบลท่าดี บอกว่า เกือบ 10 ปี ที่สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าดี ลองผิดลองถูกและล้มลุกคลุกคลาน แต่เมื่อหันมาใช้ข้อมูลและปัญหาในชุมชนไปสู่การพูดคุยก็ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด และมีการทำงานโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้วันนี้ตำบลท่าดี เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้ทุนในพื้นที่ ทั้งทุนทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา และพลังชุมชน

          วันนี้หากมีข้าวสวยร้อนๆ กินกับน้ำพริกผักกูดลวกราดกะทิ และต้มจืดกะทิผักกูดใส่กุ้งสด รับรองว่าอร่อยจนลืมอดีตที่เคยฝากท้องไว้กับร้านสะดวกซื้อกันเลยทีเดียว

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 19 มิถุนายน 2559 หน้า 10



เอกสารที่เกี่ยวข้อง