เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ธสน.ดันยอดประกันส่งออกตั้งเป้าขยายลูกค้าเอสเอ็มอี 10%

          ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) หรือ ธสน.แถลงเปิดวิสัยทัศน์เนื่องในโอกาส นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ เข้ารับตำแหน่งใหม่ว่าธนาคารมีแผนจะขยายกลุ่มลูกค้า ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจ ส่งออกตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีในปีนี้ 10% จากปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าอยู่ประมาณ 2 พันราย กว่า 80% เป็นผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี

          ขณะเดียวกันตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้า เอสเอ็มอีในปีหน้าอีก 15% โดยจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าในกลุ่ม การประกันการส่งออก

          "เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผมได้เข้าไป รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ซึ่งท่านให้มุ่งเน้นการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  และไม่ต้องการให้ทำธุรกิจแข่งขับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งตรงกับนโยบายของธนาคาร  ที่จะไม่ทำธุรกิจแย่งลูกค้ากับธนาคารพาณิชย์  แต่จะเป็นพันธมิตรในการช่วยเหลือผู้ส่งออก  โดยเฉพาะความร่วมมือในธุรกิจประกันการส่งออก"

          นอกจากนี้ ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ยังมี นโยบายชัดเจนว่า จะไม่มุ่งเน้นการทำกำไรสูงสุด จากเดิมที่เอ็กซิมแบงก์ เป็นธนาคารที่มีกำไรต่อตัวต่อสินทรัพย์สูงสุดในบรรดาแบงก์รัฐ แต่ธนาคารจะมุ่งเน้นการให้บริการ และเพิ่มจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอี  ดังนั้นจึงจะมีการบริหารอัตราดอกเบี้ย  รวมถึงเบี้ยประกันส่งออกให้มีประสิทธิภาพและถูกลง

          นายพิศิษฐ์ ยังย้ำว่า ธนาคารกำลังเร่ง พัฒนาบริการเบ็ดเสร็จ เพื่อผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยใช้สินเชื่อควบคู่กับประกัน การส่งออกและลงทุน เป็นเครื่องมือขยายธุรกิจ และบุกตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการค้าการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี (CLMV) คือ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม รวมถึงตลาดใหม่ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

          โดยธนาคารมีแผนจะเปิดทยอยเปิดสำนักงานตัวแทนกลุ่มในประเทศ CLMV เพื่อให้บริการลูกค้าที่เข้าไปลงทุนใน กลุ่มประเทศดังกล่าว คาดว่า จะสามารถ เปิดที่เมียนมาได้เป็นแห่งแรกภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเปิดอีก 2 แห่งในประเทศที่เหลือภายในปีหน้านี้

          ทั้งนี้เอ็กซิมแบงก์ ยังมุ่งเน้นการสร้าง กลุ่มผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจที่แข็งแรง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 1. กลุ่ม สมาร์ท สตาร์ทอัพ (Smart Start Up) หรือ ผู้เริ่มต้นทำธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมในการสร้าง มูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ เพื่อการเติบโตทางการตลาดอย่างก้าวกระโดด

          2.กลุ่ม Advanced S หรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูง  มียอดขายและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง  พร้อมขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 3. กลุ่ม Amazing M หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่เข้มแข็ง

          และ 4. ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ที่ต้องการการสนับสนุนจาก ธนาคาร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ แต่ยังแข่งขันในตลาดระดับบนไม่ได้  ธนาคารจะให้การสนับสนุนเงินทุน เพื่อปรับโครงสร้างการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี วิจัย และพัฒนานวัตกรรม ย้ายฐานการลงทุน ไปยังต่างประเทศ รวมทั้งรับประกันความเสี่ยงทางการค้า และการเข้าไปลงทุนใน ต่างประเทศด้วย

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 มิถุนายน 2559 หน้า 05



เอกสารที่เกี่ยวข้อง