เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
อินทรีย์ยังไงก็ In Trend

          ลองนึกถึงฮิปปี้รุ่นลุงป้า อินดี้รุ่นน้าหรือชาวสโลว์ไลฟ์ผู้ใช้ชีวิตช้าๆ แต่ฉลาดเลือกแบบฮิปสเตอร์ จากนั้นค่อยมานึกถึงร้านอาหารเก๋ๆ การกินแบบ DIY ซึ่งพิถีพิถันกับส่วนประกอบ จนมาถึงความนิยมกินคลีนเพราะห่วงใยสุขภาพแบบปัจจุบัน

          แน่ว่ารายละเอียดของ 'การกิน' ข้างต้นล้วนผูกโยงเข้ากับประเด็นย่อยๆ ที่ยิ่งใหญ่อย่างเรื่อง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ระบบเกษตรเป็นธรรม สุนทรียศาสตร์ ฯลฯ แต่ท่ามกลางความยิบย่อยเหล่านี้ มีจุดร่วมเดียวกัน คือ การเลือกวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ

          กูรูการกินอาจมีชื่อเรียกเฉพาะ แต่สำหรับเราเรียกวัตถุดิบอันปราศจากสารเคมีซึ่ง ถูกนำมาปรุงอาหารว่าเป็น ผลผลิตที่มาจากการทำ "เกษตรอินทรีย์" โดยที่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์จากการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ หรือขั้นตอนใดๆ สำหรับการผลิตอาหารก็ตาม ขอเพียงแต่ต้องใช้กระบวนการตามธรรมชาติ พร้อมๆ กับคงไว้ซึ่งความสมดุลของสิ่งแวดล้อม นั่นคงไม่ผิดความหมายไปจากเกษตรอินทรีย์แบบที่เข้าใจกัน

          ลองนึกถึงฮิปปี้รุ่นลุงป้า อินดี้รุ่นน้าหรือชาวสโลว์ไลฟ์ผู้ใช้ชีวิตช้าๆ แต่ฉลาดเลือกแบบฮิปสเตอร์ จากนั้นค่อยมานึกถึงร้านอาหารเก๋ๆ การกินแบบ DIY ซึ่งพิถีพิถันกับส่วนประกอบ จนมาถึงความนิยมกินคลีนเพราะห่วงใยสุขภาพแบบปัจจุบัน

          แน่ว่ารายละเอียดของ 'การกิน' ข้างต้นล้วนผูกโยงเข้ากับประเด็นย่อยๆ ที่ยิ่งใหญ่อย่างเรื่อง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ระบบเกษตรเป็นธรรม สุนทรียศาสตร์ ฯลฯ แต่ท่ามกลางความยิบย่อยเหล่านี้ มีจุดร่วมเดียวกัน คือ การเลือกวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษ

          กูรูการกินอาจมีชื่อเรียกเฉพาะ แต่สำหรับเราเรียกวัตถุดิบอันปราศจากสารเคมีซึ่ง ถูกนำมาปรุงอาหารว่าเป็น ผลผลิตที่มาจากการทำ "เกษตรอินทรีย์" โดยที่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์จากการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ หรือขั้นตอนใดๆ สำหรับการผลิตอาหารก็ตาม ขอเพียงแต่ต้องใช้กระบวนการตามธรรมชาติ พร้อมๆ กับคงไว้ซึ่งความสมดุลของสิ่งแวดล้อม นั่นคงไม่ผิดความหมายไปจากเกษตรอินทรีย์แบบที่เข้าใจกัน

          อินทรีย์ยัง In trend

          ไม่ใช่แค่รสชาติต้องดีเท่านั้น แต่เมื่อ ทุกวันนี้หันซ้าย-มองขวามีแต่คนรักสุขภาพ อาหารที่ทำมาจากวัตถุดิบอินทรีย์ ปลอดสารพิษจึงเป็นที่นิยม และเจาะตลาดได้กับคนทุกวัย

          ยิ่งเหตุผลข้างต้น ถูกนำไปรวมกับความรู้สึกเมื่อได้ไล่สายตาดูหน้าฟีดบนเฟซบุ๊ค เห็นบรรดาพรีเซนเตอร์-เน็ตไอดอล โชว์หุ่นสวย สุขภาพดี โดยไม่ลืมมีเบื้องหลังเป็นบรรดาอาหารออร์แกนิก อาหารคลีน ผักปลอดสารพิษสั่งตรงจาก ชุมชน ฯลฯ ซึ่งจริงอยู่ที่ว่าเรื่องราวทั้งหมด จะมีเบื้องหลังคือกลยุทธ์โฆษณา-ประชาสัมพันธ์ แต่นั่นก็อธิบายได้ไม่ใช่หรือว่า เพราะมีความต้องการ (Demand) อาหารปลอดสารพิษอยู่จริง จึงเกิดการสนองตอบ (Supply) ของผู้ประกอบการแต่ละผลิตภัณฑ์ และทั้งหมดช่วยส่งให้เกษตรอินทรีย์ยังคงความอินเทรนด์ อยู่เสมอ

          รายงานผลการวิจัยเรื่อง"พฤติกรรมการบริโภคผักปลอดสารพิษของชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ตอนหนึ่งระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานผักปลอดสารพิษมีมากกว่า 1 ปัจจัย แต่อันดับแรกคือประเด็นด้านสุขภาพ ที่ผู้บริโภคเล็งเห็น เรื่องความปลอดภัยของสารพิษตกค้าง รองลงมาคือการได้รับอิทธิพลจากข่าวสารและได้รับอิทธิพลจากผู้อื่น อาทิ เพื่อน ผู้มี ชื่อเสียง แพทย์

          อย่างไรก็ตาม การรับประทานมีความสัมพันธ์กับอายุด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีแนวโน้มจะบริโภคผักปลอดสารพิษมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า

          "การกินอาหารที่มาจากเกษตรอินทรีย์ มันมีมานานแล้ว ร้านอาหารที่เจาะคนกลุ่มนี้ มีมาทุกสมัย เพราะนอกจากจะต้องมีจุดขายเรื่องดีไซน์ คือต้องสวย ต้องเก๋ ต้องมี คาแรกเตอร์แล้ว ยังต้องเอาเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบมาเป็นจุดขาย อาจจะเป็นการนำเข้า จากต่างประเทศ ไม่ก็เป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติจริงๆ ปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ เกษตรอินทรีย์ยังจึงเป็นที่นิยมอยู่ แม้จะผ่านมานานแค่ไหน" กฤช ทองเหลือง เจ้าของ ร้าน Farm Story  จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีจุดขายในเรื่องเมนูอาหารจากผักปลอดสารพิษอธิบาย ความต้องการอาหารปลอดสารพิษ ซึ่งมีเกษตรอินทรีย์เป็นสายพานหลัก ไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะใน ต่างประเทศก็ล้วนคงไว้ซึ่งกระแสนิยมดังกล่าวโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป และอเมริกา

          ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันมูลค่า ตลาดสินค้าอินทรีย์ทั่วโลกรวมกันมากกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพืชผลการเกษตรอินทรีย์ของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวอันเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูกแบบอินทรีย์มากที่สุด มีผลผลิตที่ได้มากกว่าร้อยละ 96 ที่ส่งออกสู่ต่างประเทศ มีประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์เป็นตลาดสำคัญ ส่วนข้าวอินทรีย์ที่มีชื่อเสียง ของไทย ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเหลืองปะทิว ข้าวเหนียว รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากข้าว เช่น ข้าวอบกรอบ น้ำนมข้าว ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้า ต่างประเทศ มองภาพรวมความต้องการผลิตผลเกษตรอินทรีย์ว่า มีแนวโน้มเพิ่ม มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแส

          รักในสุขภาพ ความรู้ทางด้านการแพทย์ และ ยังเป็นการสร้างทางเลือกด้านการบริโภค ให้มีคุณภาพมากขึ้น

          อย่างไรก็ตามสำหรับการค้าผลิตผลเกษตรอินทรีย์ของไทยส่วนใหญ่ยังบริโภคอยู่ ในประเทศเป็นหลัก แต่การส่งออกยังถือว่าน้อยและขึ้นลงไม่แน่นอน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาระหว่างเรื่องการทำตลาดกับผู้ผลิต ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือการทำเกษตรแบบอินทรีย์มีปัจจัยที่ต้องควบคุมหลายด้าน อาทิ สถานที่เพาะปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยวซึ่งต้องปลอดสารพิษทุกๆ ขั้นตอน ขณะที่ปัจจัยหลักที่ว่ามานี้ มีความผันผวนสูง ทำให้ไม่สามารถทำการตลาดเพื่อซื้อขายที่แน่ชัดล่วงหน้าได้ "ผู้ทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์มีมากขึ้น เพราะอาหารปลอดสารพิษมีความต้องการ ตามเทรนด์การรักสุขภาพ การบริโภคในประเทศจึงมีมากขึ้น แต่ถ้ามองถึงการส่งออกให้กับ ต่างประเทศ จำเป็นต้องมีผลผลิตที่แน่นอน เพื่อทำการตลาดกับต่างประเทศ ซึ่งตัวผู้ผลิตเอง ก็ต้องได้รับมาตรฐาน  IFOAM (Inter- national Federation of Organic Agriculture Movements) รองรับก่อน และเกษตรกรไทยที่ได้รับการรับรองยังมีน้อย อีกทั้งที่ผ่านมายังไม่มีการเก็บข้อมูลถึงเกษตรที่ทำในระบบอินทรีย์จริงๆ มีเพียงการประเมินว่าอยู่ในระดับหลักแสนล้านบาทจากทั้งหมด" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบายตอนหนึ่ง ระหว่างร่วมงาน "ถิ่นหอมมะลิภูเขาไฟ เยือนชุมชนสาวยาว พบเรื่องราวข้าวยั่งยืน" ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำ ฐานข้อมูลผลิตผลจากเกษตรอินทรีย์ในประเทศ

          ไลฟ์สไตล์ปลอดสาร

          คงไม่ต้องสาธยายถึงความดีงามของเกษตรอินทรีย์ เอาแค่ในแง่มุมของผู้บริโภค ซึ่งทุกวันนี้ ผู้ซื้อต้อง 'รู้เท่าทัน' กลเม็ดการโฆษณา นั่นเพราะว่า นอกจากความนิยมการรักสุขภาพที่ทำให้ผลิตผลจากระบบเกษตรอินทรีย์ถีบราคาสูงขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องของกลยุทธ์ทางการตลาดให้ผู้บริโภคต้องคิดก่อนที่จะควักประเป๋าสตางค์

          กฤช เจ้าของร้าน Farm Story จ.เชียงใหม่ บอกว่า จุดขายของผลิตผลจากเกษตรอินทรีย์นั้น มีสาเหตุอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ต้องการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์จริงๆ กับ 2.เป็นเพียงคำโฆษณาที่เชื้อเชิญลูกค้าให้มา ใช้บริการเท่านั้น

          เพราะต้องยอมรับก่อนว่า การทำเกษตรแบบอินทรีย์จริงๆ ในเชิงธุรกิจมีข้อจำกัดมาก อาทิ ราคา การเข้าถึงผลิตผล ปริมาณสินค้า ที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องฤดูกาลเพราะปลูก ฯลฯ ดังนั้น การ 'จั่วหัว' สร้างแบรนด์ตัวเองว่า 'ปลอดสารพิษ' จึงอาจหมายถึงแค่ 'บางส่วน' ไม่ใช่ 'ทั้งหมด' "ถ้าบอกว่าเป็นร้านอาหารที่มาจาก เกษตรอินทรีย์ มันก็ต้องหมายถึงว่าทุกอย่างต้องเป็นอินทรีย์หมด แต่ความเป็นจริงคือมันทำไม่ได้หรอกครับ หมูอินทรีย์ ผักอินทรีย์ บางช่วงมันก็หายาก ราคาก็แพงกว่า จะเอา มาเป็นวัตถุดิบมันก็ไม่ต่อเนื่อง ถ้าคุณลงเมนู ว่า มี แต่เอาเข้าจริงมันขาดช่วงไป คงไม่ได้ อย่างผักปลอดสารพิษจะมาเป็นฤดูกาล ไม่ได้ มีกินทั้งปี เราจึงต้องครีเอทเมนูมา และใช้ผลผลิตอินทรีย์เป็นส่วนประกอบหลัก แต่ ส่วนประกอบย่อยๆ ไม่เว้นกระทั่งน้ำปลา น้ำมัน กระเทียม ฯลฯ มันก็ยังมาจากการเพาะปลูกแบบปกติเข้าไปผสมอยู่ดี" เขาอธิบาย

          สำหรับส่วนใหญ่ ร้านอาหารที่แปะป้ายว่า "ออร์แกนิก" จึงหมายถึงแค่เพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด ต่อจากนั้นก็คงเป็นเรื่องของการดีไซน์ สร้างบรรยากาศ และการเล่าเรื่องที่จะทำให้ลูกค้า 'อิน' ไปกับคอนเซปต์เกษตรอินทรีย์แบบที่ตั้งใจเอาไว้

          ในมุมของเกษตรกร อำนาจ หมายยอดกลาง สมาชิกเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา บอกว่า ทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย ทั้งการตราผลผลิตว่า เป็นสินค้าปลอดสารพิษช่วยเพิ่มมูลค่าได้จริง แต่เกษตรกรเองต้องปรับวิถีของการทำงานด้วย ทุกวันนี้เกษตรกรต้องไม่จำกัดตัวเองแค่เป็น ผู้ปลูก แต่ต้องโฆษณาเอง ขายเอง และ ขนส่งเองทั้งหมด ถึงจะคุ้มทุนและยืนอยู่ได้ในระยะยาว การก่อตั้งเครือข่ายทำเกษตรอินทรีย์เพื่อควบคุมการเพาะปลูกของสมาชิก ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะร่วมมือกับสมาชิกให้ควบคุมกระบวนการเพาะปลูกทั้งหมด ตั้งแต่การ เตรียมดิน ใส่ปุ๋ย การดูแล เก็บเกี่ยว ในชุมชน เพื่อไม่ให้สิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ระบบอินทรีย์ เข้ามาปะปน

          จากนั้นคือการต่อสายตรงของผู้บริโภคเพื่อกำจัดกลไกของพ่อค้าคนกลาง-ซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งว่ากันว่าบวกเปอร์เซ็นต์กำไร แบบน่าเกลียด จนทำให้ผู้บริโภคคิดว่า ผักปลอดสารพิษซึ่งมาจากการทำเกษตรอินทรีย์แพงกว่าผักที่เพาะปลูกจากแปลงเคมีปกติ "เมื่อเรามีเครือข่ายปลูกผักปลอดสารพิษ มันจะเกิดความเข้มแข็ง เรามั่นใจว่าของเราดีแล้วก็ต้องหาคนซื้อให้ได้ ทุกวันนี้ชาวนา ชาวสวนต้องพัฒนาตัวเอง เริ่มรับออเดอร์จากลูกค้า ที่โทรมาสั่ง อาทิตย์หนึ่งก็ไปส่งของในเมือง ครั้งหนึ่ง ทำให้ลูกค้าเชื่อว่า ถึงเราจะมาไม่บ่อย แต่ซื้อกับเราแล้วถูกกว่าไปซื้อในห้างแน่นอน เราต้องปรับตัว จะปลูกอย่างเดียวแล้วปล่อยให้เขากดราคาคงไม่ได้ เพราะอย่างที่รู้ว่า ถ้าทำผักปลอดสารพิษต้องลงทุนวางระบบ ทั้งการให้น้ำ การให้ปุ๋ย ที่รายจ่ายค่อนข้างสูงกว่าระบบปกติ ในช่วง 3-5 ปีแรก จากนั้นก็จะเริ่มดีขึ้น คืนทุนได้" อำนาจอธิบาย

          ของดี ยังมีที่ยืน

          ถึงจะเป็นเรื่องที่พูดมานาน แต่ทุกวันนี้การทำเกษตรอินทรีย์ และสร้างเป็นธุรกิจอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันกลายเป็นอีกหมุดหมายสำหรับคนรุ่นใหม่ๆ ที่เบื่อหน่ายกับชีวิตในเมือง

          ทุกวันนี้เกษตรกรอาชีพรุ่นเก่าๆ เริ่มรีไทร์ตัวเองออกไปและถูกแทนที่ด้วยบรรดาลูกหลาน คลื่นลูกใหม่ๆ ซึ่งพอมีที่ทางของครอบครัวตัวเองเริ่มเข้ามาสานธุรกิจต่อ พร้อมๆ กับ นำเอาเทคโนโลยีใกล้ตัวมาใช้ เช่น การทำเพจซื้อขายสินค้า การรับออเดอร์ทางไลน์ การบรรจุผลิตภัณฑ์ในแพคเกจเก๋ๆ กระทั่งบางรายผนวกเรื่องเกษตรเข้ากับการท่องเที่ยว ทำโฮมสเตย์ รับลูกค้าจากต่างประเทศ

          จุฑารัตน์ เสียมกำปัง เกษตรกรรุ่นใหม่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งอดีตเคยทำงานประจำเป็นพยาบาล มองว่า การทำเกษตรอินทรีย์ยังมีอนาคตและคุ้มค่าหากมีการบริหารจัดการ ที่ดี เพราะมั่นใจว่า ความต้องการของผู้บริโภค มีอยู่แล้ว แต่คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อต้องเข้าถึงผู้ซื้อให้ได้ พยายามตัดขั้นตอนพ่อค้าคนกลาง และวางแผนด้านการขนส่งให้คุ้มค่า ส่วนใครจะต่อยอดเป็นอื่นคงแล้วแต่ไอเดียของแต่ละคน

          อนุกูล ทรายเพชร ผู้ก่อตั้ง Folk Rice อีกหนึ่งกลุ่มนักธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งจับประเด็นเรื่องข้าวอินทรีย์หลอมรวมเข้ากับเว็ปไซต์ และแอพลิเคชั่น เพื่อให้ผู้ซื้อกับผู้ผลิตได้มาพบกัน บอกว่า คนเจเนอเรชั่นปัจจุบันไม่ได้มองเกษตรอินทรีย์เป็นแค่เทรนด์อีกแล้ว แต่มันคือความจำเป็นของอนาคต เพราะเรื่องเกษตรผูกโยงเกี่ยวกับความมั่นคงอาหาร โภชนาการ และความเป็นธรรมในสังคม

          "ประเด็นเรื่องเกษตรอินทรีย์มีมา ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน และแนวคิดของ เกษตรอินทรีย์มันแทรกซึมอยู่กับคน รุ่นใหม่ๆ เราจึงชินกับคำว่า ผลไม้อินทรีย์ ท่องเที่ยวเชิงอินทรีย์ ทอผ้าธรรมชาติ ฯลฯ แต่หากคนรุ่นใหม่ จะจับประเด็นเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องลบข้อด้อยของโครงสร้างแบบเก่า ที่มีอยู่ได้"

          "อย่างเรื่องการกินผมมองว่า เราต้อง จัดความสมดุลของอาหารให้ทุกคนมีกิน ไม่ใช่คนรวยกินเหลือ แต่คนจนไม่มีกิน ด้านโภชนาการซึ่งต้องเอาให้ชัดว่า การมีอาหารอินทรีย์กิน ไม่ได้หมายถึงการมีสุขภาพดี แต่ต้องกินให้หลากหลาย ตรงกับความต้องการของตัวเอง และยังมีเรื่องของความเป็นธรรมที่เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีรายได้ ที่แน่นอน ดีกว่านี้ ผู้บริโภคต้องเข้าถึงเกษตรอินทรีย์ได้อย่างทั่วถึง" ผู้ประกอบการธุรกิจเรื่องเกษตรอินทรีย์อธิบาย และวิเคราะห์ว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องบริโภคและรักตัวเอง เรื่องของเกษตรอินทรีย์ไม่มีทางที่จะตกเทรนด์ อย่างแน่นอน

          ต่อให้ละคร ซีรีส์ หรือกระแสนิยม จะนำพาแฟชั่น และไลฟ์สไตล์การกินใหม่ๆ ให้ใครได้พูดถึง และแชร์ซ้ำกันบนโลกออนไลน์กันมากเพียงใด แต่เรื่องของ 'เกษตรอินทรีย์' จะยังคงอยู่ โดยแฝงตัวไปกับทุกเทรนด์ ทุกที่ ทุกเวลา

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 พฤษภาคม 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง