เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
SMEs ปรับตัวอย่างไร ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

          อุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย ผู้ช่วย กก.ผจก.ใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน
          สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย


          ต้นเดือนที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย ได้มีการรายงานผลการสำรวจสภาพเศรษฐกิจพบว่า เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้รายได้ของไทยที่พึ่งพา การส่งออกถึง 70% ยังคงลดลงอย่าง ต่อเนื่อง ถึงแม้ราคาน้ำมันจะร่วงหล่นลงอย่างรุนแรงน่าจะมีผลดีต่อประเทศไทย แต่กลับส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่ อยู่ในกลุ่มที่มีการซื้อขายล่วงหน้าลดลง ทำให้กำลังซื้อในระดับรากหญ้าของไทยลดลงตามไปด้วย หนี้ครัวเรือนของประเทศสูงขึ้น

          ขณะเดียวกันการเก็บภาษีของรัฐบาล ในปีที่ผ่านมาลดลง ทำให้ขาดเม็ดเงิน ที่จะมาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ภายในประเทศ เม็ดเงินที่สะพัดหมุนเวียนใน ระบบที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มาก แม้ว่าภาครัฐจะพยายามกระตุ้นให้การใช้จ่ายของภาครัฐออกมามาก แต่น่าจะเห็นผลประมาณไตรมาส 3 เมื่อกำลังซื้อโดยรวมลดลง

          สิ่งที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกก็คือ ร้านค้าขายของ คือจะขายของได้ลดลง ภาคการผลิตและโรงงานก็จะได้รับ ผลกระทบคือลดการผลิตลง ใช้แรงงาน ลดลง สอดคล้องกับผลการสำรวจความ เชื่อมั่นของนักธุรกิจในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2558 พบว่ามีการปรับค่าลดลง และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ปรับค่าลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจะลดการจับจ่ายใช้สอยเพราะคิดว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี

          เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังไม่เติบโตเท่าที่ควร สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องคำนึงเพื่อปรับตัวรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ อันดับแรก คือ ต้องทำในสิ่งที่ตนเองถนัด ทำในสิ่งที่ตนรู้ลึกรู้จริง อย่าแตกไลน์ทำในสิ่งที่ตนไม่ถนัดเป็นอันขาด เพราะจะเกิดความเสี่ยงมาก

          จากนั้นต้องดูว่าประสิทธิภาพการผลิตของตัวเองแข่งขันในตลาดได้หรือไม่ มีอะไรต้องปรับปรุง เช่น เครื่องจักร ถ้ามีความพร้อมปรับปรุงได้ต้องรีบทำทันที และต้องหาทางพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต

          รวมถึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแข่งขันไม่ได้แน่นอน ทำแผนการตลาดล่วงหน้า โดยสมมติฐานว่า หากยอดขายลดลง X% ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับกิจการ

          สำหรับลูกค้า SMEs บางท่านที่มีภาระสินเชื่อกับสถาบันการเงิน หากดูแนวโน้ม ว่ายอดขายไม่เป็นไปตามที่ประมาณการ ควรรีบเข้าพบขอคำปรึกษากับ เจ้าหน้าที่ที่ดูแล เพื่อจะได้ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ เช่น อาจมีการปรับเงื่อนไขการชำระเงินใหม่ บางรายอาจได้รับการลดการผ่อนชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย หรืออาจต้องใส่เงินเข้าไปในธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่อง สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งแต่ละกรณีก็จะมีวิธีการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ Cash Flow ของกิจการ

          สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับ กลุ่มลูกค้า SMEs อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเจอภาวะอะไรมาก็ตาม เขาจะช่วยแก้ปัญหา แต่ SMEs ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง มี ความตั้งใจที่จะแก้ไข ผมขอให้กำลังใจ และขอให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้นะครับ ฟ้าหลังฝนย่อมสดใส เสมอครับ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 2558  หน้า 14