เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
คอลัมน์: Co-Workers: เทคนิคการให้คำปรึกษาลูกน้อง

          ณรงค์วิทย์ แสนทอง ผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์ตรงในงานด้านการบริหารเชิง กลยุทธ์ และงานด้านทรัพยากรมนุษย์ มากกว่า 15 ปี ปัจจุบันวิทยากร นักเขียน และประธาน ที่ปรึกษา narongwits.com ได้แนะนำเคล็ดลับการให้คำปรึกษาลูกน้องอย่างมีอาชีพ ดังนี้

          1.รวบรวมข้อมูล

          เมื่อทราบว่าลูกน้องคนไหนมีปัญหาแล้วควรเรียกมาพูดคุยเพื่อรวบรวมข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะบางครั้งปัญหาที่แสดง ให้เห็นในปัจจุบันอาจเกิดจากสาเหตุที่ซับซ้อน เช่น ทำงานผิดพลาดบ่อยเพราะเป็นหนี้เยอะ ที่เป็นหนี้เยอะเพราะติดการพนัน ที่ติดการพนันเพราะถูกภรรยาทิ้ง สาเหตุที่ถูกภรรยาทิ้งเพราะติดเหล้าและอารมณ์ร้อน ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นมาจากไหน

          2.กำหนดประเด็นปัญหา

          ถ้ากำหนดประเด็นปัญหาไม่ได้หรือไม่ถูก ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาก็จะผิดไปด้วย หัวหน้าต้องกำหนดได้ว่าปัญหาของลูกน้องคนนั้นๆ เป็นปัญหาอะไร งานหรือเรื่องส่วนตัวอย่างเดียว หรือปัญหาส่วนตัวที่มีผลต่องาน หรือปัญหางานที่ ส่งผลกระทบต่อเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ต้องกำหนดประเด็นปัญหาย่อยๆ ให้ชัดด้วย

          3.ให้คำปรึกษาตรงกับลักษณะปัญหา

          ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว หัวหน้าจำไว้เลยว่าหลักการแก้ไขปัญหาคือ "ช่วยให้เขาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเขาเอง" เราทำหน้าที่เพียงผู้กระตุ้น สอบถาม ให้กำลังใจ ช่วยคิดทางเลือก ช่วยตรวจสอบข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก เราเป็นเพียงผู้ให้ข้อคิด ต้องไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะชี้นำว่าควรทำอย่างไร ถ้าเรื่องงาน เราในฐานะหัวหน้าสามารถชี้แนะชี้นำหรือแม้กระทั่งสั่งได้ว่าเขาควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

          4.ตามผลการให้คำปรึกษา

          ควรมีการติดตามผลการให้คำปรึกษาแนะนำลูกน้องจนกว่าเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ควรเรียกลูกน้องมาคุยบ่อยๆ ในช่วงแรก ถ้าประเมินดูแล้วพบว่าปัญหาเริ่มคลี่คลายจึบค่อยๆ ขยายเวลาให้นานขึ้นก็ได้ แต่ควรจะติดตามผลการให้คำปรึกษาไปจนกว่าปัญหานั้นจะหายไป มิฉะนั้นลูกน้องจะวนอยู่กับปัญหาเดิม เราในฐานะหัวหน้าเองก็วนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ ของลูกน้องไปตลอดเช่นกัน

          5.บันทึกและสรุปผล

          การให้คำปรึกษาที่ดีควรจดบันทึกผลการให้คำปรึกษาว่าแต่ละปัญหาได้ให้คำปรึกษาแก่ ลูกน้องไปอย่างไร และนำเอาผลการบันทึกนี้มา ทบทวนว่ามีข้อที่ควรปรับปรุงตรงไหนบ้าง นอกจากนี้ผลการให้คำปรึกษาในหลายๆ กรณีมีอะไรที่คล้ายคลึงกันบ้าง จะได้นำมาเป็นแนวทางในการให้คำปรึกษาแก่ลูกน้องคนอื่นต่อไป

          ณรงค์วิทย์ สรุปว่า การบริหารคนไม่ใช่แค่การใช้คนให้ทำงานให้เท่านั้น แต่ต้องดูความเป็นอยู่ของคนในทุกเรื่อง เพราะทุกเรื่องของคนสามารถส่งผลกระทบต่องานได้ ถ้ามัวแต่ไปแก้ที่ปลายเหตุคือผลการปฏิบัติงาน อาจสายเกินไปหรือแก้ได้ก็ไม่ดี เพราะสาเหตุที่แท้จริงในชีวิตลูกน้องยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 เมษายน 2559 หน้า C4