เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

วิกฤตการศึกษาไทย ผลิตคนไม่ตรงตลาด กระทบการค้า-ยากจนไม่สิ้นสุด

ข่าววันที่ : 15 ม.ค. 2567


Share

tmp_20241501140714_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 15 ม.ค. 2567

              นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงมุมมองการศึกษาไทย กับการตอบโจทย์การค้าและการลงทุน ว่า เมื่อวิเคราะห์ปัญหาของระบบการศึกษาไทย จะพบปัญหาการผลิตบุคลากรที่ไม่ตรง หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งเกิดขึ้นจากค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการเข้าศึกษาในสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ

              ดังนั้นจึงส่งผลให้ไทยขาดแคลนแรงงานในสายอาชีวะจำนวนมาก ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทย รวมถึงมีความเสี่ยงที่อาจขาดแคลนแรงงานบางสาขาในอนาคต ตลอดจนขาดการยกระดับบุคลากรการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีในการสอนให้เพิ่มสูงขึ้น 

              โดยผลการศึกษาของสมาคมนานาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินผลด้านการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการศึกษาภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติ หรือ ICILS พบว่า สัดส่วนของครูที่มีการใช้อุปกรณ์ ICT ในห้องเรียนของไทย อยู่ที่ 51% ของจำนวนครูทั้งประเทศ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวของไทยอยู่ต่ำกว่าเกาหลีใต้ 76% ฮ่องกง 79% และออสเตรเลีย 90% 

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาในระบบการศึกษาไทย ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนที่เกิดขึ้นมีดังนี้ 

              1. ขาดแรงงานทักษะใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2565 พบว่า ไทยมีผู้ทำงานจริงเพียง 39.6 ล้านคน จากประชากร 66.1 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจด้านแรงงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 พบว่า ไทยยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมในทุกระดับการศึกษา 

              โดยผลสำรวจด้านแรงงานจากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน พบว่า มีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จำนวนทั้งสิ้น 168,992 คน แบ่งออกเป็นความต้องการแรงงานในระดับต่าง ๆ คือ

              - ระดับปริญญาตรีขึ้นไป 29,037 คน
              - ระดับ ปวช.-ปวส. 38,079 คน
              - ระดับ ป.6-ม.6 96,786 คน
              - อื่น ๆ อีก 5,090 คน

              สะท้อนว่าระบบการศึกษาของไทยยังพัฒนาแรงงานได้น้อยกว่าความต้องการของตลาดอยู่มากพอสมควร 

              2. ผู้ประกอบการต่างชาติเผชิญระดับค่าแรงสูงในสายงานที่ขาดแคลน มีการแย่งตัวแรงงานด้วยการแข่งขันด้านค่าแรง ทำให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนแรงงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 

              3. แรงงานที่มีลักษณะการทำงานซ้ำ ๆ อาจถูกแทนที่ด้วยระบบการทำงานอัตโนมัติ และอาจส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานรวมของประเทศลดลง 

              4. การศึกษาที่ขาดคุณภาพส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะมีผลิตภาพต่ำ และมีทักษะที่ไม่หลากหลาย ทางเลือกในการประกอบอาชีพจึงมีน้อย เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

              นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า การศึกษานับเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว ทั้งยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร ไม่สามารถสร้างหรือปรับเปลี่ยนได้ในเวลาอันสั้น ควรต้องเร่งพัฒนาการศึกษาตั้งแต่วันนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ ผ่านแนวทางในการพัฒนาดังต่อไปนี้ 

              1. สำรวจความต้องการของอุตสาหกรรม ว่ามีความต้องการในแต่ละสาขามากน้อยแตกต่างกันอย่างไร อุตสาหกรรมใดที่จะเป็นอนาคต และคำนวณระดับความต้องการเพื่อนำไปออกแบบหลักสูตรส่งเสริมผู้เรียนต่อไป 

              2. เพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้และปฏิบัติการนอกห้องเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจภาพรวมของการทำงาน และเลือกเรียนทักษะให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการพัฒนาตนเองต่อไปได้อย่างถูกต้อง 

              3. พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้พร้อมถ่ายทอดทักษะใหม่ โดยผู้ถ่ายทอดต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และต้องเข้าใจการประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ จึงจะพัฒนาผู้เรียนได้อย่างถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ 

              4. เพิ่มระดับการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนา เพื่อให้นโยบายและการปฏิบัติสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

              5. สถาบันการศึกษาทั้งระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวะ  ต้องมีหลักสูตรการสอนเพื่อสร้างทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล หรือ Smart Labor จึงจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัจจุบันเข้ากับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลิตภาพและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้โดยไม่สูญเสียคุณค่าความสำคัญ 

              6. ปรับทัศนคติและคุณภาพของการศึกษาในสายอาชีพ แม้ที่ผ่านมา ไทยจะสามารถยกระดับของอาชีวศึกษาจนประสบความสำเร็จแล้วผ่านความสำเร็จในโครงการ EEC Type A Model ซึ่งส่งเสริมให้แรงงานสายอาชีวะจากสถาบันการศึกษา สามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นแรงงานคุณภาพที่มีระดับรายได้สูง

              แต่มุมมองที่มีต่อสถาบันอาชีวศึกษา กลับพบว่าสังคมยังมีทัศนคติในเชิงลบ ส่งผลให้ผู้ปกครองหรือผู้เรียนไม่ให้ความสนใจเข้าศึกษาในสายอาชีพ ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงภาพลักษณ์อย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างทัศนคติและคุณภาพที่ดีในการศึกษาสายอาชีวะ เพิ่มจำนวนผู้เรียนเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมในอนาคต


ที่มา  :  ฐานเศรษฐกิจ  15 มกราคม 2567
https://www.thansettakij.com/business/economy/585861