เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

แบงก์เร่งอัพเกรดระบบ รับเกณฑ์ ธปท. “ห้ามล่มเกิน 8 ชม.ต่อปี”

ข่าววันที่ : 10 ม.ค. 2567


Share

tmp_20241501104737_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 15 ม.ค. 2567

“กสิกรไทย” รองรับธุรกรรมพุ่ง
              โดย ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 2567 ธนาคารมีแผนพัฒนาแอปพลิเคชั่น “K PLUS” ที่มีผู้ใช้งาน 21.7 ล้านราย อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางการเงิน

              รวมถึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้งาน โดยจะเน้น 4 ด้าน ได้แก่

              1. บริการด้านการใช้จ่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้ร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้าและแพลตฟอร์มระดับโลกในการเชื่อม K PLUS จ่ายเงินได้สะดวกทั้งออนไลน์และออฟไลน์

              2. บริการด้านการลงทุน จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้ครบทุกความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และรวบรวมข้อมูลการลงทุนให้ตัดสินใจได้เหมาะสมยิ่งขึ้น 3.บริการ Digital Self-service ที่ช่วยให้ลูกค้าทำธุรกรรมด้วยตัวเองผ่าน K PLUS ได้ โดยไม่ต้องไปสาขา และ 4.การเพิ่มความปลอดภัยของ K PLUS ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตั้งเป้ามีผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 22.7 ล้านรายในปีนี้

              “ธนาคารได้เตรียมระบบให้สามารถรองรับจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นสูงสุดใน 1 วินาที (Maximum Transaction per Second) ได้ถึง 2 เท่า และยังสามารถปรับเพิ่ม Capacity รองรับจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นในแต่ละฟีเจอร์อีกด้วย”


“SCB” ลั่นขัดข้องทั้งปีต้องลดลง
              ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าบริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า แผนงานด้านโมบายแบงกิ้งของธนาคารปีนี้จะให้ความสำคัญ 3-4 เรื่องด้วยกัน คือ

              1. ด้านเสถียรภาพ จะเห็นว่าการแก้ปัญหาเรื่องระบบขัดข้องของธนาคารทำได้ดีต่อเนื่อง จากปี 2565 มีการขัดข้องอยู่ที่ราวกว่า 10 ชั่วโมง มาในปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ราว 3 ชั่วโมงครึ่ง และคาดว่าทิศทางในปี 2567 จะยังลดลงต่อเนื่อง

              2. ด้านความปลอดภัย จากปี 2566 ธนาคารได้ดำเนินการตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อปิดช่องโหว่ เช่น การสแกนใบหน้าก่อนโอนเงิน และอัพเกรดเวอร์ชั่นระบบปฏิบัติการ เป็นต้น ปีนี้ก็ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง เพราะมิจฉาชีพไม่หยุดนิ่งในการหาจุดอ่อนของระบบตลอดเวลา

              และ 3. การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเป็นสมองกลในการช่วยวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล

              “ที่ผ่านมาธนาคารได้เริ่มทดลองใช้ AI ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (SSME) สามารถช่วยลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนสมัคร อนุมัติสินเชื่อ และการติดตามทวงถามหนี้ได้เร็วขึ้น หลังจากทดลองในกลุ่ม SSME พบว่าผลตอบรับค่อนข้างดี ควบคุมหนี้เสียได้ โดยปัจจุบันสามารถอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 6,500 ล้านบาท ปี 2567 ตั้งเป้า 10,000 ล้านบาท”

              โดยจากผลตอบรับดังกล่าว ไทยพาณิชย์ จะขยายประเภทสินเชื่อเพิ่มเติม ภายในไตรมาส 2/2567 จะเริ่มทดลองในสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อนิติบุคคลรายย่อยจะทยอยตามมา รวมถึงสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อ My Home My Cash และสินเชื่อ My Car My Cash

              “ธนาคารใช้งบประมาณลงทุนและพัฒนาระบบต่อเนื่อง ทั้งด้านไอที ดิจิทัล และคอร์แบงกิ้ง รวมแล้วก็หลายพันล้านบาท”

              สำหรับ SCB EASY ธนาคารไม่ได้วางเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้ แต่จะเน้นเรื่องการเสริมบริการให้มากขึ้น และทำงานได้เร็วขึ้น เพื่อให้ลูกค้าที่ยังคงใช้สาขาหันมาใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าอยู่ที่ราว 17.5 ล้านราย โดยเป้าหมายรวม คือ การพัฒนาบริการธนาคารสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์ โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 จะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลให้เป็น 25% หรือราว 40,000 ล้านบาท จากปี 2566 สามารถทำได้อยู่ที่ 7% คาดว่าปี 2567 สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 13%

              “เป้าหมายในปี 2567 เรายังคงโฟกัสเรื่องของเสถียรภาพและความปลอดภัย พร้อมนำเอา AI มาใช้ช่วยในวิเคราะห์สินเชื่อ และมาช่วยแนะนำบริการให้ลูกค้า Smart AI Recommendation โดยเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุก ๆ 3 เดือน เราจะทยอยขึ้นสินเชื่อประเภทอื่นนอกเหนือจาก SSME ซึ่งหลังจากทดลองในสินเชื่อรถ และบ้านพบว่า AI ใช้เวลาอนุมัติเร็วกว่าปกติ 5 เท่า และหากดูหนี้เสียก็ไม่ได้แย่มาก ซึ่งต่ำกว่าช่องทางออฟไลน์”


“กรุงศรี” ตั้งทีมมอนิเตอร์่
              นายรถพร เอกบุตร ผู้บริหารสายงานพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นเพื่อลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารจะเน้นการปรับปรุงเสถียรภาพของระบบ “Krungsri Mobile App” ให้สามารถรองรับทุกการใช้งาน และปริมาณธุรกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และเสริมความปลอดภัยในการใช้งาน โดยธนาคารได้ตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

              โดยเฉพาะในวันที่มีปริมาณธุรกรรมที่สูงเป็นพิเศษ เช่น ในช่วงสิ้นเดือน เป็นต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในทุกการใช้งาน

              นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญทางด้านภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านความปลอดภัย เช่น การสแกนหน้ายืนยันตัวตนในการโอนเงินที่มีวงเงินสูง การตรวจสอบและป้องกันแอปพลิเคชั่นแปลกปลอม และการกำหนดเวอร์ชั่นระบบปฏิบัติการขั้นต่ำทั้ง iOS และ Android ให้สูงขึ้น

              รวมถึงการสื่อสารสร้างความเข้าใจในการใช้งานโมบายแบงกิ้งตลอดในปี 2567 ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานภายในสิ้นปี 2567 ให้มากกว่า 7 ล้านราย

จะเห็นได้ว่า ทุกแบงก์เองต่างก็พยายามเต็มที่เพื่อพัฒนาระบบโมบายแบงกิ้งให้ระบบมีเสถียรภาพมากที่สุด ขณะเดียวกันการอัพเกรดระบบ ยังต้องรองรับในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าอีกด้วย


ที่มา  :  ประชาชาติธุรกิจ   10 มกราคม 2567
https://www.prachachat.net/finance/news-1475470