เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

FETCO ชี้เทรนด์ลงทุน วิเคราะห์ “หุ้น-ทอง-บิตคอยน์”

ข่าววันที่ : 14 ม.ค. 2567


Share

tmp_20241501102113_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 15 ม.ค. 2567

              แต่แนวโน้มราคาสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจในงานแถลงข่าว FETCO ประจำเดือนมกราคม 2567 เมื่อเร็ว ๆ นี้

 

โค้งสุดท้าย “Perfect Storm”
              ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ปี 2567 นี้ ในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปีที่เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของ “Perfect Storm” หลังจากเริ่มเข้าสูวัฏจักรดังกล่าวตั้งแต่ปี 2565 และตลอดปีที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกระทั่งเงินเฟ้อถึงจุดสูงสุด (พีก) และเฟดเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

              จนกระทั่งตอนนี้เฟดจบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ระดับ 5.5% มาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 และเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มลดลง สินทรัพย์ต่าง ๆ ก็ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้จะเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น

              ทั้งนี้ ดอกเบี้ยสหรัฐเข้าสู่ระดับพีกมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ซึ่งประเมินกันว่าเหลือเวลาอีก 8 เดือน ที่เฟดจะต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง เพื่อให้เชื้อของเงินเฟ้อหมดไป ดังนั้น หลังจากนี้เชื่อว่าเฟดจะไม่ “เขย่าตลาด” อีกต่อไป และจะเป็นการประชุมเฟดที่น่าเบื่อไปอีกเป็นเวลา 8 เดือน

              “จะเริ่มเห็นเฟดมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดดอกเบี้ยประมาณปลายปีนี้ ซึ่งสำหรับผมคิดว่า เราได้ผ่านแก่งที่มีความท้าทายอย่างยิ่งมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มเห็นปลายทางอุโมงค์อยู่ข้างหน้า”

 

ตลาดหุ้นกลับสู่ภาวะปกติ
              ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้ตลาดหุ้นต่าง ๆ ปรับตัวกลับมาที่เดิมแล้ว อาทิ ดาวโจนส์ที่เคยตกลงไป -22% เมื่อปี 2565 หลังจากนั้นค่อย ๆ ดีขึ้น และปัจจุบันกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนที่จะเริ่มมีการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ถือว่าเป็นสัญญาณที่ว่าตลาดหุ้นเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ในปี 2566 ที่ผ่านมา ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยติดลบไป -15% โดยเงินทุนไหลออกไปเกือบ 2 แสนล้านบาท จากที่ปีก่อนหน้าเข้ามาในระดับใกล้เคียงกัน

              ซึ่งปีนี้ก็น่าจะดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 137.00 ปรับขึ้น 38.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” โดยนักลงทุนมองว่าการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

โดยหมวดธุรกิจที่นักลงทุนมองว่าน่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)

 

“บิตคอยน์” เริ่มเป็นขาขึ้น
              ขณะที่ราคาสินทรัพย์อย่าง “บิตคอยน์” นั้น “ดร.กอบศักดิ์” กล่าวว่า ปีนี้ บิตคอยน์จะเป็นโอกาสในการลงทุนอีกรอบ จากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนค่อนข้างหนักใจ เพราะราคาเคยตกลงจาก 70,000 เหรียญสหรัฐ เหลือ 17,000 เหรียญ หายไป 77% ซึ่งตนเองบอกนักลงทุนอยู่เสมอว่า อย่าถอดใจ ซึ่งในวันนี้ราคาบิตคอยน์กลับขึ้นมาเกิน 44,000 เหรียญ หรือขึ้นมาเกือบ 200% จากจุดต่ำสุดแล้ว

              “สินทรัพย์ตัวนี้ (บิตคอยน์) ก็จะไม่ไปไหน จะอยู่กับเรา แล้วก็จะเป็นโอกาสของการลงทุน แต่ก็จะผันผวน ดังนั้น อยากให้นักลงทุนลองทบทวนดู นำบทเรียนจากช่วงที่ผ่านมา มาใช้ในการลงทุนในช่วงนี้ต่อไป เพราะต้องเข้าใจว่าสินทรัพย์ลักษณะนี้มีขึ้นมีลง ถึงจุดหนึ่งต้องถนอมความมั่งคั่งเอาไว้ แล้วหลังจากนั้นก็ต้องเลือกว่าจะเข้าตอนไหน ออกตอนไหน ไม่ง่าย แต่ต้องเอาบทเรียนช่วงที่ขึ้น ๆ ลง ๆ มาเป็นบทเรียน”

 

สงครามดันราคา “ทองคำ”
              “ดร.กอบศักดิ์” กล่าวอีกว่า ในส่วนของ “ทองคำ” ที่ผ่านมา ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เพราะสามารถทำราคาทะลุเหนือ 2,000 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ขึ้นมาได้ 2-3 รอบ รอบแรกคือตอนสถานการณ์โควิด-19 และมาอีกช่วงตอนที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากนั้นในปีที่ผ่านมา ก็มีในช่วงที่เกิดความกังวลใจในสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

              “ขณะนี้ทองคำก็ยังอยู่แถว ๆ 2,000 เหรียญสหรัฐกว่า ๆ ก็ดีกว่าที่ทุกคนคิดไว้ เพราะปีที่แล้วคนกังวลกันว่า เมื่อเฟดถอนสภาพคล่องและปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทองคำจะเป็นอย่างไร”

 

4 ปัจจัยท้าทายปีมังกร
              ทั้งนี้ ในปี 2567 มีปัจจัยท้าทายระยะสั้น 4 ปัจจัยด้วยกันที่จะเป็นธีมของการลงทุนในปีนี้ ได้แก่ 1.การชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกโตต่ำที่สุด จากเดิมที่คาดไว้ในปี 2565 แต่ปีดังกล่าวเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ซบเซาอย่างที่คาด โดยปีนี้ยุโรปก็ยังอ่อนแอ โตได้แค่ 1% ขณะที่สหรัฐก็จะอ่อนแอมากกว่าปีที่แล้ว ด้านละตินอเมริกาก็ไม่ดี มีแต่เอเชียที่ดูดี

              “ผมพูดอยู่เสมอว่า มรสุมไม่จำเป็นต้องพัดทุกที่ หนาวเย็นก็ไม่จำเป็นต้องหนาวเย็นทุกที่ จะมีบางที่ที่มีปัญหา และบางที่พอไปได้ ของเราโชคดีที่จะพอไปได้”

              2. วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนจะไม่ดีในปีนี้ 3.ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะวิกฤตสงครามในตะวันออกกลางที่ยังไม่จบ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดทะเลแดง ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า และ 4.วิกฤตในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) และความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่ยังไม่จบง่าย ๆ

 

เทรนด์กระตุ้นเศรษฐกิจกำลังมา
              ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-4% ต่อปี ขึ้นกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ปีนี้อาจจะไม่ได้สวยหรู โดยยังมีความท้าทาย ต้องบริหารจัดการ ทั้งนี้ การส่งออกน่าจะพอไปได้ ขณะที่การท่องเที่ยวก็ยังดี เพียงแต่แรงส่งอาจจะน้อยลง

              “ข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจไทย หลังจากเซมา 2-3 ปี ก็คือเรื่องส่งออกที่เริ่มมีเสถียรภาพ เริ่มทรงตัวได้ ส่วนการบริโภค การลงทุนก็เหมือนกับทรงตัวได้ ขณะที่การท่องเที่ยวก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่ดูมีปัญหาคือภาคการผลิต ที่ตอนนี้กำลังการผลิตลงมาต่ำกว่าก่อนโควิด 10% ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเรากำลังถูกทดแทนด้วยสินค้าจีนที่กำลังกดดันผู้ผลิตของเรา”

              นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่เป็นบวกกับเศรษฐกิจไทย ก็คือกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามามาก เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ถึง 22% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

              “อีกข่าวดีก็คือ เรากำลังจะเข้าสู่ช่วงใหม่ของเศรษฐกิจโลก จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อม ๆ กันจากธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป ซึ่งทั้งหมดจะเปลี่ยนเซนติเมนต์ในช่วงปลายปี ให้เป็นเซนติเมนต์ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่ข้างหน้าแล้วปัญหาเงินเฟ้อได้จบแล้ว และจะนำไปสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจโลกและการลงทุน” ดร.กอบศักดิ์กล่าว


ที่มา  :  ประชาชาติธุรกิจ  14 มกราคม 2567
https://www.prachachat.net/finance/news-1478357