เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ดีอี-กระทรวงเกษตรฯ พร้อมจัดทำฐานข้อมูล Big Data เพื่อพัฒนาภาคการเกษตร

ข่าววันที่ : 11 ม.ค. 2567


Share

tmp_20241201141827_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 12 ม.ค. 2567

               ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมแถลงข่าว “ผลการทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566” โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทลสำหรับการทำสำมะโนการเกษตรครั้งที่ 7 พ.ศ. 2566เป็นการบูรณาการร่วมกันของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาฐานข้อมูลสถิติทางการเกษตรให้เกิด Big Data ที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และครอบคลุมทุกมิติสามารถนำมาใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

               ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯมีแนวทางขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมเกราะความแกร่งและความมั่นคงให้เกษตรกรไทย โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตร ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมีเป้าหมายหลัก “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”ของรัฐบาลอีกทั้งยังให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการยกระดับการช่วยเหลือโดยมีแนวทางการสร้างและขยายโอกาสบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพอย่างแท้จริงและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดอาชีพด้านเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยจะมีการ kick off แจกโฉนด ในวันที่ 15 มกราคม 2567 นี้

               สำหรับด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ ได้ชู “โครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ 3 เพิ่ม 3 สร้าง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งได้รับการพักชำระหนี้ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับพักชำระหนี้ โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาต่อยอดการประกอบอาชีพนอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ตั้งเป้าหมายให้ “เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง พัฒนาทรัพยากรเกษตร ให้ยั่งยืน เพื่อให้ภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ 1) การยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง 2) การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ส่งเสริมการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG/Carbon Credit เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร โดยสร้างระบบประกันภัยเกษตรกรไทยสุขใจถ้วนหน้า และการบริการทางการเกษตร

               ทั้งนี้ ข้อมูลสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตร จำนวน 8.7 ล้านราย (ร้อยละ 37.5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ) และมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 142.9 ล้านไร่ (ร้อยละ 44.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ) ซึ่งมีการทำกิจกรรมการเกษตร ดังนี้ การปลูกข้าว ร้อยละ 46.2 ปลูกพืชไร่ ร้อยละ23.4 ปลูกยางพารา ร้อยละ 19.0 ปลูกพืชยืนต้น ไม้ผล สวนป่า ร้อยละ 8.4 และปลูกพืชผัก สมุนไพร และไม้ดอก ไม้ประดับ ร้อยละ 0.5.

 

ที่มา  :  ฐานเศรษฐกิจ  11 มกราคม 2567
https://www.thansettakij.com/technology/technology/585552