เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ไทยพาณิชย์ ดึง AI เสริมแกร่งดิจิทัลแบงก์-บริหารความมั่งคั่ง ดันรายได้ค่าฟี 25 เปอร์เซ็นต์

ข่าววันที่ : 6 พ.ย. 2566


Share

tmp_20230711103824_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 7 พ.ย. 2566

                 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตที่ 3.1% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ถึง 3.9%

                 จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ธนาคารให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและดูแลคุณภาพสินเชื่อ ดังนั้น การเติบโตของสินเชื่อของปีนี้จึงเติบโตอย่างมีคุณภาพ ในช่วง 9 เดือนแรกสินเชื่อเติบโตที่ 5% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ขับเคลื่อนจากสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ สินเชื่อความยั่งยืน และสินเชื่อบ้าน ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างรวม (Outstanding Loan) อยู่ที่ 2.35 ล้านล้านบาท

                 สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือน 2566 ธนาคารมีรายได้ 1.1 แสนล้านบาท เติบโตจาก 9.9 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยเติบโตอย่างโดดเด่นเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของภาคธนาคารซึ่งสอดรับกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

                 ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตเช่นเดียวกัน โดยมาจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงิน

                 ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 2 นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถรักษาผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) ได้ในระดับสองหลัก และควบคุมค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income) ใน 9 เดือนแรก ไว้ได้ที่ 37.4% ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้

                 ผลการดำเนินงานสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ในระยะแรกที่ได้เริ่มดำเนินมาตลอด 1 ปีนี้ ด้วยการสร้างเสถียรภาพและความสมดุลให้เกิดขึ้นภายในองค์กร และเพื่อให้ลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น มั่นใจในจุดแข็งของธนาคารที่เป็นอยู่ ด้วยการปักหมุดแนวทางที่ธนาคารจะปรับตัวเพื่อเป็นดิจิทัลแบงก์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคและลูกค้าที่จะย้ายไปสู่ระบบดิจิทัลในท้ายที่สุด รวมถึงการประกาศเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งอันดับหนึ่งในประเทศไทย

                 ในการดำเนินงานต่อจากนี้ ธนาคารจะเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจให้ลูกค้าสัมผัสถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ที่รู้สึกได้ ผ่านโฟกัสสำคัญใน 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือการพัฒนาบริการธนาคารสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ในอนาคตจะย้ายไปอยู่บนบริการดิจิทัลเกือบทั้งหมด โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบทั้งงานภายในและภายนอก

                 รวมถึงการแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ผ่านช่องทางดิจิทัล โดยมีเป้าหมายภายในปี 2025 จะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลให้เป็น 25% หรือราว 40,000 ล้านบาท

                 ปัจจุบันรายได้ดิจิทัลของธนาคารอยู่ในระดับ 7% เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่มีอยู่เพียง 3% โดยธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทุกแพลตฟอร์มรวมกันกว่า 25 ล้านราย โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ทำธุรกรรมมียอดรวมแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านรายการ หรือกว่า 89% ของธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร

โดยในระยะนี้ ธนาคารได้เริ่มปรับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเรียนรู้และทำความรู้จักลูกค้าในช่องทางบริการต่างๆ ด้วยการสร้าง Chat bot ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยจะเริ่มที่การบริการ Call Center จากนั้นจะขยายสู่ SCB Connect เพื่อทำให้การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในลักษณะที่เป็น Client Interface ตรงกับความต้องการลูกค้าถูกที่ ถูกเวลา

                 โดยมีแพลตฟอร์ม SCB EASY รองรับการทำธุรกรรมของลูกค้า โดยทั้ง SCB Connect และ SCB EASY จะทำงานควบคู่กัน เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและในอนาคตยังมีแผนในการใช้ AI ให้คำแนะนำทางด้านการลงทุนให้กับลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจ Wealth Management อีกด้วย

                 นอกจากนี้ ธนาคารใช้เทคโนโลยีเอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อเสริมศักยภาพแก่ทุกผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า โดยได้เริ่มไปแล้วในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก (SSME) เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์วงเงินเพื่อธุรกิจ ภายใต้ชื่อ Up เงินทันใจ และมีวงเงินอนุมัติแล้ว 2,000 ล้านบาทภายใน 5 เดือนแรก

                 นอกจากนี้ธนาคารเตรียมผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลไปยังผลิตภัณฑ์เทรดไฟแนนซ์และซัพพลายเชน ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และผลิตภัณฑ์การลงทุน เป็นต้น เพื่อร่วมกันผลักดันรายได้ดิจิทัลให้เป็น 25% ให้ได้ในปี 2025

                 ส่วนที่ 2 ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การเป็นที่หนึ่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ด้วยการยกระดับจุดแข็งของธนาคารที่มีชื่อเสียงทางด้านการใช้ความรู้ความสามารถทางด้านการลงทุน และ Human Touch ของ ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือ Relationship Manager (RM) ในการให้บริการลูกค้ามั่งคั่งในทุกระดับ

                 ตั้งแต่ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (สินทรัพย์ภายใต้บริหารการจัดการ หรือ AUM 100 ล้านบาทขึ้นไป) ผ่าน ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ บริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคาร และ จูเลียส แบร์ ผู้นำตลาดธุรกิจบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้ลูกค้าสามารถขยายโอกาสในการลงทุนทั่วโลกได้แบบไร้พรมแดน โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกผันผวน ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ยังคงสามารถดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ (Offshore) จนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับกลุ่มลูกค้า UHNWIs และ HNWIs ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

                 ขณะเดียวกัน ธนาคารให้การดูแลลูกค้าในกลุ่ม Wealth ซึ่งประกอบด้วย SCB PRIVATE BANKING (AUM มากกว่า 50 ล้านบาท) SCB FIRST (AUM 10-50 ล้านบาท) SCB PRIME (AUM 2-10 ล้านบาท) ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่กว่า 500,000 ราย รวมสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) กว่า 1.6 ล้านล้านบาท

                 ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจให้เกิดขึ้นด้วยรูปแบบการให้บริการที่ครบวงจรและไร้รอยต่อ โดยตั้งเป้าหมายความเป็นที่หนึ่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่ง AUM ต้องเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 20% จากปัจจุบันที่เติบโตเฉลี่ย 10%

                 นอกจากนี้ ภาพของการบริหารจัดการความั่งคั่ง (Wealth Management) ในอนาคตที่ธนาคารมองก็จะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่อยู่เพียงกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์ตามกำหนดแล้วเท่านั้น แต่ยังมองถึงการขยายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการเริ่มต้นสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Potential) เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาวและเป็นไปได้สำหรับทุกคน

                 มุ่งเน้นการมอบทางเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนพื้นฐานที่เข้าถึงง่าย และจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการมอบทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยรูปแบบธุรกิจนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2567

 

ที่มา  :  https://www.prachachat.net/finance/news-1431158