เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำกว่าคาด

ข่าววันที่ : 6 พ.ย. 2566


Share

tmp_20230711103153_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 7 พ.ย. 2566

              ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/11) ที่ระดับ 35.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 35.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

              ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง หลังในวันศุกร์ (3/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรโดยออกมาต่ำกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้นเพียง 150,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 188,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.8%

              ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างงานรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.0% เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ซึ่งหลังจากตัวเลขด้านตลาดแรงงาน ได้ถูกเปิดเผยออกมานั้น ตัว CME Fed Watch Tool ปรากฏว่าแนวโน้มที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมมีโอกาสถึงร้อยละ 90

              นอกจากนี้ทางสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 51.8 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 53.6 ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.0

              อย่างไรก็ดี ดัชนียังอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว และทางเอสแอนด์พี โกลบอล ได้มีการเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.6 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 50.1 ในเดือนกันยายน แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.9

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงสายของวันนี้ (6/11) กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนตุลาคม อยู่ที่ 107.72 ลดลง 0.31% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป 10 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.60% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคม อยู่ที่ 104.46 เพิ่มขึ้น 0.66% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 10 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.41%

              ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคาคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ 2566 ไว้ที่ 1.0-1.7% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 1.35% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานสำคัญ คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ขยายตัว 2.5-3.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ย เฉลี่ยทั้งปี 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์

              ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.40-35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

              สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/11) ที่ระดับ 1.0727/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 1.0644/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3/11) สำนักงนสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยข้อมูลการส่งออกของเยอรมนีลดลงเกินคาดในเดือนกันยายน เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลงได้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

              ทั้งนี้การส่งออกของเยอรมนีลดลง 2.4% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งลดลงมากกว่าการคาดการณ์ในโพลสำรวจของ LSEG ที่การลดลง 1.1% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0720-1.0756 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0742/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

              สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/11) ที่ระดับ 149.54/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 150.28/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

              โดยในช่วงเช้าวันนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เผยพร่รายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 กันยายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการเติบโตของค่าจ้าง

              โดยรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของ BOJ มองว่า การยกเลิกใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ควรจะเกิดขึ้นเมื่อ BOJ สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%

              อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งถัดมาซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมนั้น คณะกรรมการ BOJ ประกาศปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2566 ขึ้นสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.5%

              ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 149.23-149.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 149.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

              ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐ ประจำเดือนกันยายน (7/11), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนกันยายน (8/11), ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ ในวันพุธ (8/11) และวันศุกร์ (10/11) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (9/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นของสหรัฐประจำเดือนพฤศจิกายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (10/11)

              สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.75/-8.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12.10/-11.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ที่มา  :  https://www.prachachat.net/finance/news-1431294