เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

นักวิชาการ หนุนรัฐบาลใหม่รื้อเกณฑ์จ่ายเบี้ยคนชรา หวั่นอนาคตกระทบฐานะคลัง

ข่าววันที่ : 20 ส.ค. 2566


Share

tmp_20232208112726_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 22 ส.ค. 2566

              รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมือง กล่าวว่า เห็นด้วยหากรัฐบาลใหม่จะออกเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ โดยจะพิจารณาจ่ายเบี้ยจากความจน หรือ ตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้ มีฐานะร่ำรวย เพื่อดูแลความยั่งยืนทางการคลังระยาว เนื่องจากรัฐบาลมีภาระที่ต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งจากสถานการณ์ผู้สูงอายุของไทย ในปัจจุบันพบว่า ผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และ 16 ปีข้างหน้า คาดว่า ไทยจะมีผู้สูงอายุประมาณ 21-22 ล้านคน และที่ผ่านมารัฐบาลมีภาระงบประมาณจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุปีละ 50,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 86,000 ล้านบาท และปี 2567 จะเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท

              ประกอบกับทิศทางสวัสดิการของพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้น เช่น นโยบายแจกเบี้ยคนชราอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,000 บาทต่อเดือน เชื่อว่า ในระยะเวลาอีกไม่นาน งบประมาณรายจ่ายเบี้ยเพื่อดูแลผู้สูงอายุจะพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จนทำให้รัฐบาลในอนาคตต้องถูกบังคับ ให้ตัดรายจ่ายงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เนื่องจากประสบปัญหาด้านฐานะการคลัง

              ทั้งนี้ เชื่อว่า ปัญหาพวกนี้จะเกิดขึ้น เพราะงบประมาณของเราเหลือเป็นงบลงทุน และตอนนี้ก็เหลือเพียง 20% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก โดยปกติประเทศที่เข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ต้องมีงบลงทุนในสัดส่วนที่ 35% ซึ่งเบี้ยผุ้สูงอายุจะขยับขึ้นตอนอายุ 77 ปี และเบี้ยส่วนนี้จะไปเพิ่มในงบประจำ เมื่องบประจำเพิ่มขึ้นก็จะกินงบลงทุน และเมื่อเบี้ยคนชราขยายตัวมากขึ้น รายจ่ายรัฐบาลก็เพิ่มขึ้น 

              รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยที่อยู่ในวัยทำงาน มีประมาณ 65% ดูแลคนไม่ทำงานราว 35% และใน 35% จะมีคนชราอยู่ 2 ใน 3 คน และอีก 10 ปีข้างหน้า คนที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงเหลือ 55% ต้องดูแลคนไม่ทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 45% หรือเฉลี่ย 3.1 คน มีอัตราภาระดูแลคนที่ไม่ทำงาน 1 คน และอีก 10 ปีข้าง คนที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงเหลือเพียง 1.5 คน แต่ต้องดูแลคนไม่ทำงาน 1 คน 

              เมื่อทิศทางออกมาเป็นเช่นนี้ รายได้ภาษีของรัฐบาลจากวัยทำงานจะลดลง ขณะที่รายจ่ายภาษีจากการจ่ายเบี้ยคนชราจะเพิ่มขึ้นมาก จึงมีคำถามว่า รัฐบาลจะบริหารยังไร หากรัฐบาลบอกว่า ทางออก (ถ้าทำได้) คือ เพิ่มรายได้ของประเทศ ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 3% ตลอดกว่า 10 ปี เป็นขยายตัวได้ 5% ซึ่งบอกได้เลยไม่มีทางทำได้ เพราะจะเห็นได้ว่า มีเพียงในยุคที่มีนโยบายรถคันแรกเท่านั้น ที่จีดีพีพุ่งขึ้น หลังจากนั้น 1 ปี จีดีพีก็ลดฮวบลงมาเหมือนเดิม 

              อย่างไรก็ตาม มองว่า การตัดเบี้ยผู้สูงอายุร่ำรวยเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้สูงอายุที่ร่ำรวยมีจำนวนจำกัด เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่ยากจนที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว ทางออกคือ รัฐต้องขยายระยะเวลาเกษียณอายุการทำงานออกไปจาก 60 ปี เป็น 65-70 ปี เพื่อจะได้มีรายได้จากภาษีคนวัยทำงานเพิ่มขึ้น พร้อมกับเร่งพัฒนาทักษะแรงงานทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะแรงงานผู้สูงอายุเท่านั้น เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานไทยให้สามารถแข่งขันในระดับนานาประเทศได้ โดยการนำงบประมาณมาพัฒนาแรงงานประเภทฝีมือโดยใช้รวมกับเทคโนโลยีเพราะผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity ) เพราะตอนนี้ผลิตภาพเราลดลง แม้เราใช้ศักยภาพแรงงานเต็มที่อย่างไร ก็สู้ไม่ได้ เพราะเราไม่เก่ง ขณะที่แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า ถูกกว่าเรา จึงเป็นเหตุผลที่เศรษฐกิจไทยโตได้เพียง 3% ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ต้องพัฒนาด้านคุณภาพการศึกษา ที่ปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งเพิ่มรายรับอื่นๆ เพื่อชดเชยรายจ่าย เช่น พัฒนาศักภาพท่องเที่ยว เกษตร หรือ บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจร 

              ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าว ว่า การเลือกจัดสรรรัฐสวัสดิการผู้สูงอายุ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจประเทศ หากพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศไม่ดี แต่เลือกที่จะจัดสรรสวัสดิการมากไป ก็อาจประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือ พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ไม่จัดสรรสวัสดิการจะทำให้ประชาชนเกิดความทุกข์ หากเลือกสวัสดิการถ้วนหน้าจะมีข้อด้อย คือ ใช้งบประมาณสูงกว่าแบบเฉพาะเจาะจง (targeting) แต่ก็มีข้อด้อยเช่นกัน คือ คนที่ควรจะได้รับสิทธิบางคนก็เข้าไม่ถึงสิทธิ ในขณะที่คนที่ไม่ควรได้สิทธิบางคนกลับได้รับสิทธิ แบบในกรณีของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่พบว่าคนจนจริงๆ ไม่ได้บัตรในรอบแรกกว่า 2 ล้านคน ในขณะที่แจกบัตรไป 12 ล้านใบ ทั้งๆ ที่คนจนตามนิยามของสภาพัฒน์ มีแค่ 4-5 ล้านคนเท่านั้น 

              อย่างไรก็ดี หากพิจารณา ณ ตอนนี้ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าที่ใช้ในปัจจุบัน ใช้งบประมาณไม่เยอะ น่าจะประมาณไม่ถึงแสนล้านบาท และแม้ว่าอนาคตจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ก็ทำให้งบประมาณใช้อย่างมากก็ 250,000 ล้านบาท ก็ถือว่าอยู่ในวิสัยที่การคลังรับได้ แต่หากพิจารณาแนวโน้มของนโยบายจะพบว่า มีหลายพรรคที่อยากจะเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือนแบบถ้วนหน้า จะทำให้งบประมาณเพิ่มเป็น 4.3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน และอาจจะเพิ่มเป็น 7.2 แสนล้านบาทต่อปีใน 10 ปีข้างหน้า อันนี้อาจจะกระทบกับสถานะทางการคลังได้

 

ที่มา  :  โพสต์ทูเดย์  20 สิงหาคม 2566