เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จีนยันร่วมสนับสนุนเพื่อแก้ไขความเสี่ยงหนี้รัฐบาลท้องถิ่น

ข่าววันที่ : 21 ส.ค. 2566


Share

tmp_20232208102320_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 22 ส.ค. 2566

              ถ้อยแถลงหลังการประชุมร่วมกันเมื่อวันศุกร์โดยธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและหลักทรัพย์ของประเทศ มีขึ้นท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ลุกลามรุนแรงของจีนกำลังเริ่มทะลักเข้าสู่ระบบการเงินของตน

              เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักหลายรายการเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลักในวันจันทร์นี้ แต่นักวิเคราะห์มองว่า การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ยังน้อยเกินไป สายเกินไป โดยจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่านี้ เพื่อสกัดกั้นการเกิดขาลงของเศรษฐกิจ

              ตามคำแถลงของ PBOC แผนกการเงินควรเพิ่มเครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขความเสี่ยงด้านหนี้สิน เสริมความแข็งแกร่งในการตรวจสอบความเสี่ยง และยึดมั่นในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเชิงระบบ 

              เมื่อปลายเดือนก.ค. สำนักโปลิตบูโรของจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงด้านหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และกล่าวว่าจะดำเนินการหลายมาตรการ แต่ยังไม่มีการประกาศแผนใดๆ

              สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ว่า จีนจะเสนอโควตาการออกพันธบัตรแก่รัฐบาลท้องถิ่นรวมมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (1.37 แสนล้านดอลลาร์) สำหรับการรีไฟแนนซ์

              นักวิเคราะห์เชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือที่ประสานกันน่าจะเกี่ยวข้องกับการระดมทุนเพิ่มเติมหรือช่องทางการรีไฟแนนซ์ การแลกเปลี่ยนหนี้และการขยายเวลาการชำระเงิน และการปรับโครงสร้างหนี้

              หน่วยงานท้องถิ่นที่มีภาระหนี้ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของจีน นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า หลังจากลงทุนมากเกินไปในโครงสร้างพื้นฐานหลายปี ผลตอบแทนจากการขายที่ดินลดลง และต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19

              ฐานะทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งถดถอย หลังจากการตกต่ำอย่างรุนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟู ทำให้บริษัทผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก

              PBOC ยังย้ำว่าจะปรับนโยบายสินเชื่อให้เหมาะสมสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก นวัตกรรมเทคโนโลยี และภาคการผลิตมากขึ้น

              แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า ผู้บริโภคและบริษัทจำนวนมากไม่มีอารมณ์ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายหรือการกู้ยืม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทำให้ในเดือนก.ค. การปล่อยสินเชื่อรายใหม่ของธนาคารต่างๆลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี

 

ที่มา  :  โพสต์ทูเดย์  21 สิงหาคม 2566