เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ไตรมาสแรกยอดตัดขายพุ่ง 20% แตะ 5 หมื่นล้าน แบงก์จ่อโละหนี้เสีย 2 แสน ล.

ข่าววันที่ : 5 ส.ค. 2562


Share

tmp_20190508100603_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 5 ส.ค. 2562

          ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อย บ้าน ที่ดิน
          "ทีเอ็มบี รีเสิร์ช" ชี้แบงก์พาณิชย์ทั้งระบบยังทยอยตัดหนี้เสียขายต่อเนื่อง เผยไตรมาสแรกทั้งระบบโละขายกว่า 5 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คาดทั้งปีแตะ 2 แสนล้าน  ด้านบริษัทบริหารหนี้ ระบุ ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านที่นำออกขาย คาดครึ่งปีหลังแบงก์ยังนำออกประมูลเพิ่ม
          นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า ภาพรวมการขายหนี้เสีย และการตัดหนี้สูญ(Write off) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ พบว่ายังทยอยเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง โดยการขายหนี้เสียและการไรท์ออฟ ในไตรมาสแรกปี 2562 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีจำนวน 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น ราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 4 หมื่นล้านบาท หากแยกประเภทหนี้เสียที่นำออกขายและไรท์ออฟในไตรมาสแรก พบว่า ส่วนใหญ่เป็นหนี้รายย่อย 50% หรือราว 23,773 ล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้ทั้งหมดที่แบงก์นำมาขายและตัดเป็นหนี้สูญ อีกส่วนเป็นหนี้ภาคธุรกิจ เช่น หนี้ในกลุ่ม ค้าปลีก-ค้าส่ง มีมูลค่าราว 12,816 ล้านบาท  ส่วนที่เหลือเป็นหนี้เสียในภาคการผลิต ภาคธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น
          สำหรับแนวโน้มข้างหน้า คาดว่าจะเห็น ธนาคารพาณิชย์ทยอยขายหนี้เสียต่อเนื่อง สอดคล้องกับเอ็นพีแอลที่ยังอยู่ในระบบค่อนข้างสูง จึงคาดว่าทั้งปีจะเห็นธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบนำหนี้เสียออกขายและไรท์ออฟสูงเกินกว่า 2 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2561 ทั้งปีที่มียอดขายหนี้เสียและไรท์ออฟรวมกว่า 1.9 แสนล้านบาท "หนี้เสียส่วนใหญ่ที่แบงก์นำมาขาย พบว่า 50% เป็นหนี้รายย่อย แต่หากดูสินเชื่อรายย่อย พบว่ามีสัดส่วนเพียง 30-45% เมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบเท่านั้น สะท้อนว่าอัตราการเกิดหนี้เสียส่วนใหญ่มาจากหนี้รายย่อย ที่เหลือเป็นหนี้จากค้าปลีกค้าส่ง ที่พบว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหาจากการดิสรัปชั่นของธุรกิจรายใหญ่ และการหันไปซื้อขายออนไลน์มากขึ้นทำให้ กลุ่มนี้ แย่ลง ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังมีทิศทางที่จะเห็นแบงก์นำหนี้เสียออกมาขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ โดยหากดูครึ่งปีหลังปีก่อน ทำให้แนวโน้มการขายหนี้และไรท์ออฟหนี้ ปีนี้ไม่ต่ำกว่า2แสนล้านบาทแน่นอน"
          ด้านนายนิยต มาศะวิสุทธิ์ ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า ภาพรวมการขายหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ มีให้เห็นต่อเนื่อง เชื่อว่า จะไม่น้อยกว่าครึ่งปีแรก ที่มีการยื่นหนังสือ ให้บริษัทเข้าประมูลรับซื้อหนี้แล้วเกือบ 50,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าภาพรวมการนำหนี้ออกมาขายทั้งระบบ ไม่น่าจะต่ำกว่าปีก่อนที่เกือบ 2 แสนล้านบาท โดยหนี้เสียที่แบงก์นำออกมาขาย ส่วนใหญ่มีหนี้ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งหนี้เอสเอ็มอี หนี้รายย่อย หนี้บ้าน และเห็นแบงก์ใหม่ๆนำหนี้เสียออกมาขายกันมากขึ้น เพื่อปรับฐานะการสำรองก่อนที่มาตรฐานบัญชีใหม่จะมีผลบังคับใช้
          อย่างไรก็ตาม การรับซื้อหนี้เสียมา บริหาร ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทซื้อแล้ว 1 หมื่นล้านบาท จากทั้งปีที่คาดว่าจะรับซื้อ หนี้มาบริหารที่ราว 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท จึงมีโอกาสที่จะเห็นการรับซื้อหนี้เสีย สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ได้ในปีนี้
          นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า มองทิศทางการขายหนี้ของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการนอนแบงก์ ในครึ่งปีหลัง มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับครึ่งปีแรก เนื่องจากครึ่งปีหลัง เป็นช่วงที่แบงก์จะนำหนี้มาขาย เพื่อลดเอ็นพีแอลในช่วงสิ้นปี ทำให้เริ่มเห็นมีการยื่นให้บริษัทเข้าประมูลรับซื้อหนี้แล้วตั้งแต่ครึ่งปีแรก เพื่อให้เข้ารับซื้อหนี้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยคาดว่า จะเห็น การนำหนี้ออกมาให้บริษัทประมูลปีนี้หลายหมื่นล้านบาท โดยหากดูการรับซื้อหนี้ของบริษัทมา บริหารในครึ่งปีแรก อยู่ที่กว่า 1 พันล้านบาท และคาดว่าครึ่งปีหลังจะเห็นการเข้าไปรับซื้อหนี้อีกราว 2-3 พันล้านบาท โดยทั้งปี บริษัทตั้งงบในการเข้าไปรับซื้อหนี้มาบริหาร ราว 4.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นหากเทียบกับปีก่อน ที่มียอดการรับซื้อหนี้มาบริหาร เพียง 2.5 พันล้านบาทเท่านั้น
          ทั้งนี้ ส่วนหนี้ที่รับซื้อมาบริหารส่วนใหญ่ ปีนี้เป็นหนี้ที่มีหลักประกันค่อนข้างมาก เนื่องจากแบงก์อยู่ในช่วงการตั้งสำรองตาม มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ทำให้มีภาระการแบกรับเอ็นพีแอลของหนี้เสียที่มีหลักประกันสูง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเห็นการนำหนี้เสีย เช่น บ้าน หรือที่ดิน ออกมาขาย ค่อนข้างมาก อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาเห็นหนี้เสีย ของที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่แบงก์นำมาขายค่อนข้างมาก
          "พระเอกของปีนี้ คือหนี้เสียที่มีหลักประกัน เช่นหนี้เสียบ้าน ที่เห็นแบงก์ นำออกมาขายค่อนข้างมาก เพราะแบงก์ต้องเคลียร์ IFRS9 และมีหนี้เสียของบ้านใน ระบบเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เห็นแบงก์นำหนี้ มีหลักประกันออกมาขายเพิ่มขึ้น หากเทียบ กับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้อุณหภูมิการขายครึ่งปีหลังน่าจะร้อนแรงกว่าครึ่งปีแรก และจะเห็นแบงก์ที่ยืนให้เราเข้ารับซื้อหนี้กว่า 5 มากกว่า 5 แบงก์"

 

ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 5 สิงหาคม 2562