เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เปิดตัว "บัตรวีซ่าเดบิต-ไลน์" ธ.ก.ส.

ข่าววันที่ : 13 พ.ค. 2562


Share

tmp_20191305092136_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 13 พ.ค. 2562

 

          สุรัตน์ อัตตะ
           suratatta0402@gmail.com


          ตอบโจทย์การใช้ชีวิตลูกค้ารุ่นใหม่
          แม้จะเปิดตัวช้ากว่าชาวบ้าน แต่ก็ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบสำหรับการเปิดตัวบัตรเดบิต ธ.ก.ส.และไลน์ออฟฟิเชียล ภายใต้ชื่อ "BAAC Family" เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และเป็นช่องทาง สื่อสารข่าวสารส่งตรงจากธนาคารถึงมือลูกค้า
          "ถึงแม้จะเปิดให้บริการช้าไปนิด แต่ก็มั่นใจในความพร้อมทั้งตัวลูกค้าและธนาคารในการให้บริการ ซึ่งลูกค้าของ ธ.ก.ส.เองก็เริ่มมีความชำนาญในการใช้บัตรสวัสดิการของรัฐ และบัตร อสม. ที่ทางธนาคารเปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้ รวมถึงบัตรเอทีเอ็มและยังตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีด้วย"
          อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าวเปิดตัวบัตรเดบิต ธ.ก.ส. และไลน์ ออฟฟิเชียล ณ สำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. โดยระบุว่า ธ.ก.ส.พร้อมเปิดให้บริการ บัตรเดบิต ธ.ก.ส.เพื่อตอบสนองการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทย ที่สามารถจับจ่ายซื้อของ ชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้เงินสด และยังเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าโดยการพัฒนาช่องทางและบริการที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
          ความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยด้วยระบบการชำระเงินวีซ่า(VISA) อีกทั้งยังนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี payWave เพิ่มความสะดวกในการชำระเงินเพียงใช้บัตรในการแตะที่อุปกรณ์รับชำระ ก็สามารถชำระค่าสินค้าและบริการ และยังสามารถใช้กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มได้ด้วย"
          สำหรับบัตรมี 2 ประเภท คือ บัตร A-Green สามารถถอน โอนเงินภายในบัตรไปบัญชีอื่น โอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร และชำระค่าสินค้าและบริการ ในวงเงินแต่ละบริการ 60,000 บาทต่อวัน และบัตร A-Smart สามารถถอน โอนเงินภายในบัตรไปบัญชีอื่น โอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร และชำระค่าสินค้าและบริการ ในวงเงินแต่ละบริการ 120,000 บาทต่อวัน โดยบัตรทั้ง 2 ประเภทจะได้รับส่วนลดร้านค้า ร้านอาหาร โรงพยาบาล และโรงแรมที่เข้าร่วมรายการมากมาย
          สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้บริโภคต้องการความรวดเร็ว สะดวก และปลอดภัยต่อการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในประเทศไทย ทำให้เราเล็งเห็นถึงความต้องการการใช้โซลูชั่นการชำระเงินอย่าง วีซ่า เดบิต มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่โลกแห่งการค้าขายมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วีซ่าเดบิต จึงเหมาะแก่การใช้ชำระเงินได้ทั้งใน รูปแบบบัตรพลาสติก หรือนำไปผูกกับบัญชีในระบบดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นบัตรวีซ่าเดบิตยังช่วยให้ผู้ถือบัตรสามารถชำระเงินผ่านจุดชำระเงินต่างๆ ที่รับบัตรวีซ่าได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือกว่า 54 ล้านร้านค้าในมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
          นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังเปิดตัวบริการ LINE Official ภายใต้ชื่อ "BAAC Family" เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารผลิตภัณฑ์ บริการ ข้อมูลข่าวสารไปยังลูกค้า และยังสามารถตรวจผล สลาก ธ.ก.ส. การค้นหาบริการทางการเงินที่สนใจ การค้นหาสาขาใกล้บ้าน และความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ รวมถึงจัดทำสติกเกอร์ไลน์ มาสคอต ครอบครัว ธ.ก.ส. ที่ประกอบด้วย พี่ยิ้มแย้ม พี่แจ่มใส น้องหอมมะลิ และน้องหอมจัง ซึ่งจะเปิดให้ดาวน์โหลดสติกเกอร์ในวันที่ 14 พฤษภาคม p12 มิถุนายน 2562 และสามารถใช้ได้ 90 วัน นับตั้งแต่ดาวน์โหลด จึงขอเชิญชวนลูกค้าและประชาชนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ธ.ก.ส. เพื่อความสะดวกในการใช้บริการ พร้อมลุ้นรับของขวัญและรับสิทธิประโยชน์อีกมากมาย ผ่าน LINE Official "BAAC Family" โดยสามารถเพิ่มเพื่อนได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


          ธ.ก.ส.เปิดนโยบายปี 2562 มุ่งเปาสู่ Go Green
          อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปีบัญชี 2562 ว่าจะขับเคลื่อนภายใต้แผนการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการปรับการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การปลูกพืชโดยระบบน้ำหยด การผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น
          "การเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs และการเชื่อมโยงด้านการตลาด เป็นต้น"
          อภิรมย์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน ภายใต้หลัก "ธ.ก.ส.Go Green" โดยมีเป้าหมายสนับสนุนชุมชน 400 ชุมชน พื้นที่กว่า 40,000 ไร่ เพื่อร่วมกันผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้ามาสนับสนุนและผลักดันให้ชุมชนมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตและมีการรับรองมาตรฐาน เช่น GAP Organic Thailand PGA เป็นต้น รวมถึงการต่อยอดโดยการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งสนับสนุนช่องทางการตลาด เช่น ตลาดชุมชน ตลาด อ.ต.ก. Modern Trade ร้านอาหาร A-Farm Mart E-commerce และตลาดประชารัฐเป็นต้น
          ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการยกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส.สู่ชุมชนไม้มีค่า จำนวน 1,000 ชุมชน โดยสมาชิกชุมชนปลูกต้นไม้มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยชุมชนละ 20,000 ต้น การพัฒนาผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อเป็นหลักประกันทางสินเชื่อและธุรกิจ และผู้ประเมินการกักเก็บคาร์บอนตามแนวทางโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าชเรือนกระจกให้แก่ชุมชน จำนวน 4,000 คน รวมถึงการสร้างวิสาหกิจชุมชนจำนวน 400 แห่ง เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชน โดยนำวัตถุดิบที่ได้จากต้นไม้ เช่น กิ่งใบ ลำต้น เป็นต้น มาแปรรูปสร้างรายได้แก่ชุมชน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีสมาชิกธนาคารต้นไม้ จำนวน 6,827 ชุมชน จำนวนสมาชิก 117,461 ราย มีต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศแล้วกว่า 11.8 ล้านต้น
          นอกจากนี้มีการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาอาชีพ การลดต้นทุนการผลิต การผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางสิ่งแวดล้อม และมิติทางวัฒนธรรมประเพณี จำนวน 3,000 ชุมชน โดยยกระดับชุมชนที่มีศักยภาพพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จำนวน 35 ชุมชน นับเป็นก้าวย่างของ ธ.ก.ส.ที่น่าจับตา


          เผยผลดำเนินงานปี 2561
          อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. แถลงผลการดำเนินงานในบัญชี 2561 (1 เมษายน 2561p 31 มีนาคม 2562) ว่า ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทแล้ว จำนวน 678,342  ล้านบาท สินเชื่อเติบโต 81,647 ล้านบาท ทำให้ สินเชื่อรวมเท่ากับ 1,449,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีร้อยละ 5.86 มียอดเงินรับฝากรวม 1,617,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.75 มีสินทรัพย์รวม 1,873,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 หนี้สินรวม 1,738,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.80
          โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 100,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีร้อยละ 7.74 ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม 90,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.62 และมีกำไรสุทธิ 9,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.24 คิดเป็นอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) ร้อยละ 0.55 ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 3.87 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 11.82 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50
          อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีบัญชี 2561 ธ.ก.ส.ได้ดำเนินนโยบายสำคัญ เพื่อดูแลและพัฒนาเกษตรกรลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่มาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐผ่านโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 2.92 ล้านราย จำนวนเงิน 642,605.82 ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้ (3 ปี) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2.91 ล้านราย จำนวนเงิน 889,815 ล้านบาท และดำเนินการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติอีก 7 แผนงานได้แก่
          1.แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
          2.แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ยกระดับสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร เพื่อเป็นหัวขบวนในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การสร้างงานและรายได้
          3.แผนงานเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์การเกษตรโครงการตลาดประชารัฐ โดยจัดตลาดประชารัฐในพื้นที่สาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ 4.โครงการประกันภัยข้าวนาปี 5.แผนงานสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร (โครงการเงินออมกองทุนทวีสุข/กอช.) 6.แผนงานพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงินจำนวน 1,540 แห่ง และ 7.แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอุดมสุข
          นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการนโยบายรัฐอื่นๆ เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าว โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก  วันที่ 13 พฤษภาคม 2562