เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เอ็กซิมแบงก์ผงาด "ซีแอลเอ็มวี"

ข่าววันที่ : 12 มี.ค. 2562


Share

tmp_20191203092959_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 12 มี.ค. 2562

          ชลลดา อิงศรีสว่าง

          25 ปี ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ ดำเนินการตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ให้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (ซีแอลเอ็มวี)

          จนถึงขณะนี้ ภายใน 3 ปี เอ็กซิมแบงก์ได้มีการเปิดสำนักงานผู้แทนแล้ว 3 แห่ง คือที่ เมียนมา สปป.ลาว และล่าสุดคือสาขากัมพูชา ซึ่งทั้ง 3 สาขานี้ ได้มี การปล่อยสินเชื่อแล้วมากกว่า 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวมเกือบ 1 แสนล้านบาท นับว่าสำนักงานผู้แทนทั้งหมด ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย

          อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า เอ็กซิมแบงก์มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยในซีแอลเอ็มวี เป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.4 หมื่นล้านบาท และในอีกไม่นานคง จะเปิดสำนักงานได้ในเวียดนาม ดังนั้นในอนาคตเอ็กซิมแบงก์จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการเงิน

          ทางด้าน พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคาร เอ็กซิมแบงก์ ระบุว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ (New Frontiers) รวมถึงซีแอลเอ็มวี ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงเอสเอ็มอี ในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) กับธุรกิจขนาดใหญ่ได้

          "ธนาคารเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่บริการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ซื้อในประเทศ ซีแอลเอ็มวี เป็นวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการจากกลุ่มนี้ ใช้ซื้อสินค้าและบริการจากไทย วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี สูงสุด 4 ล้านดอลลาร์/ราย และไม่เกิน 85% ของมูลค่าซื้อขายสินค้าหรือบริการจากไทย อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำไลบอร์ บวก 4.0% หรือเฉลี่ย 6.8% ต่อปี โดยบริการ ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการ ส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคในปี 2562 ให้เพิ่มขึ้นเกิน 15%" พิศิษฐ์ กล่าว

          เขากล่าวว่า ธนาคารมีการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเพื่อซื้อสินค้าจากไทยบ้าง แต่เป็นการพิจารณาปล่อยกู้เป็นรายๆ ไป แต่ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจต่างชาติในซีแอลเอ็มวี เข้ามาซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นโดยคิดดอกเบี้ยที่จูงใจมากเพราะปกติหากกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ ตัวเองจะเสียดอกเบี้ยมากกว่า 10% หากกู้กับเอ็กซิมแบงก์จะคิดดอกเบี้ย ไม่ถึง 7%


          พิศิษฐ์ กล่าวว่า ทั้ง 3 สำนักงานตัวแทน มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน สำนักงานที่เติบโตเร็วคือเมียนมา มียอดคงค้าง สินเชื่อแล้ว 4,000 ล้านบาทแล้ว เป็นลูกค้ารายใหม่มากกว่า ในขณะที่สาขาใน สปป.ลาว มียอดคงค้างเดิมอยู่มากกว่า ซึ่งผลงานของสำนักงานตัวแทนทั้งหมดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

          "เรากำลังเตรียมแผนงานที่จะเปิดสำนักงานตัวแทนเพิ่มอีกที่เวียดนาม เพื่อให้ครบทุกประเทศในซีแอลเอ็มวี ส่วนประเทศที่เราเห็นว่ามีศักยภาพที่จะเปิดสำนักงานตัวแทนได้อีกคือ อินเดีย เพราะมีการค้าการลงทุนขยายตัวอย่างรวดเร็ว" พิศิษฐ์ กล่าว

          อย่างไรก็ดี การที่เอ็กซิมแบงก์จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และสามารถ ที่จะเป็นเครื่องมือในการผลักดันการ ส่งออก ทำให้การค้าการลงทุนของไทยออกไปเติบโตมากยิ่งขึ้น มีความจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องทุนของธนาคาร หากมีทุนจดทะเบียนสูงขึ้นก็สามารถที่จะขยายธุรกิจได้มากขึ้น

          กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐาน ในซีแอลเอ็มวี ทั้งถนน โรงไฟฟ้า เขื่อน มีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก จาก มูลค่า 5,000-9,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินทุนปัจจุบันของเอ็กซิมแบงก์มีไม่พอจะเป็นคนนำในการปล่อยกู้ เป็นเพียงแค่ผู้ปล่อยกู้ร่วมเท่านั้น

          ก่อนหน้านี้ เอ็กซิมแบงก์ได้เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพิ่มทุนให้ธนาคารอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับทุนปัจจุบันที่ 2 หมื่นล้านบาท จะทำให้ธนาคารมีเงินทุน 3.5 หมื่นล้านบาท เพียงพอสำหรับปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มซีแอลเอ็มวี กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม


          สำหรับแผนการเพิ่มทุนจะใช้เงินทุนกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เฉพาะกิจ หรือกองทุนแบงก์รัฐ โดยแบ่งการเพิ่มทุนเป็น 2 ระยะ ในปี 2562-2563 ปีแรกเพิ่มทุน 8,000 ล้านบาท และปี 2563 เพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท


          แต่ในเรื่องการเพิ่มทุนของเอ็กซิมแบงก์นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ เพราะธนาคารยังมี ทุนจดทะเบียนสูง สามารถที่จะรองรับการขยายตัวของสินเชื่อได้มากและได้อีกหลายปี


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 12 มีนาคม 2562