เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จุดระเบิด หนี้ครัวเรือน

ข่าววันที่ : 8 มี.ค. 2562


Share

tmp_20190803104504_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 8 มี.ค. 2562

           กัลย์ทิชา นับทอง
          
          เศรษฐกิจไทย ที่ยังคงเติบโตใน อัตราชะลอตัวขณะนี้ แม้ว่ายังมีปัจจัยบวกช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ และยังมีภูมิต้านทานที่ค่อนข้างดี
          แต่หากเจาะลึกลงไปยังไส้ในจริงๆ จะพบว่าเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนนั้น มีความเปราะบางมาก จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ จนอาจส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
          กล่าวง่ายๆ ก็คือ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ทำให้คนไม่มีเงิน สิ่งแรกที่คนทั่วไปคิด คือ การหาเงินมาเพื่อใช้จ่ายหมุนเวียน สร้างอนาคต สร้างครอบครัวให้มั่นคง หากมีใครหยิบยื่น
          เงินมาให้ แม้จะเป็นเงินในอนาคต ก็คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธ
          สิ่งที่ตามมา แน่นอนนั่นคือ ค่าใช้จ่าย และภาระหนี้ที่เกิดขึ้น และหากไม่สามารถบริหารจัดการได้ จะทำครัวเรือนมีหนี้จากรายรับที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ไม่มีเงินชำระคืน สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียและหนี้ครัวเรือนในที่สุด
          วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยขณะที่นี้อยู่ที่ประมาณ 78% ต่อ จีดีพี และเป็นระดับที่สูงมาก
          แต่ที่น่าห่วงคือ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ร้อยละ 78% เป็นในส่วนที่ ธปท.รวบรวมเท่านั้น ยังไม่รวมหนี้ครัวเรือนอีกหลากหลายประเภท อย่างหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้นอกระบบ และหนี้เสียที่สถาบันการเงินขายออกจากบัญชีสถาบันการเงิน
          ดังนั้น หากนำหนี้ทั้งหมดมารวมกัน ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยก็จะอยู่ในระดับที่สูงมาก อีกทั้งยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นจนถึงวัยใกล้เกษียณ ซึ่งปกติคนจะคาดว่าคนใกล้วัยเกษียณ หนี้ที่มีมูลค่าสูงจะเปลี่ยนเป็นเงินออม
          "ครัวเรือนไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนมากขึ้น เพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่คนส่วนใหญ่จะแก่ก่อนรวย"
          ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ไม่เพียงแต่ ธปท.เท่านั้นที่ออกมาแสดงความห่วงใยและติดตามอย่างใกล้ชิด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ได้ออกมาบอกว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
          จากยอดสินเชื่อบริโภคที่เพิ่มขึ้น คนแห่กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ทำให้ยอดค้างชำระเริ่มขยับเพิ่มขึ้น
          หากดูดีๆ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แท้จริงแล้วมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจซบเซา การเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินในระบบที่มากขึ้น การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากมหาอุทกภัยใหญ่ที่เกิดขึ้น
          จะเห็นว่า จากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เปรียบเสมือนดาบ สองคมให้กับคนทั่วไป นั่นคือทำให้คนมีเงิน และทำให้คนมีหนี้
          จนอาจกลายเป็นเรื่องตลก โดยเฉพาะตลกร้าย เพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น หากเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ความอ่อนแอเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจไทยได้
          ไม่เฉพาะหนี้ครัวเรือนเท่านั้นที่เพิ่มสูงขึ้น และมีความน่าเป็นห่วง เพราะขณะนี้ในส่วนของสัดส่วนหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของธุรกิจเอสเอ็มอีก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
          โดยผู้ว่าการ ธปท.บอกว่า ขณะนี้สัดส่วนหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด อย่างเช่นเมืองรอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่
          แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อนำเงินไปต่อยอด หมุนเวียน หรือพยุงธุรกิจก็ตาม
          แต่สิ่งที่ตามมาและปฏิเสธไม่ได้ คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากสัดส่วนหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
          หากว่าธุรกิจไม่สามารถเป็นไปตามที่ตั้งหวังได้ สิ่งที่จะตามมาคงหนีไม่พ้นการปิดกิจการ หนี้สิน และหนี้เสียหลายคนอาจจะมองว่า สัดส่วนหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจเอสเอ็มอี ผลกระทบร้ายแรงที่สุด ก็แค่การปิดกิจการ
          แต่ใครจะรู้ว่า หากธุรกิจ เอสเอ็มอีปิดตัวลง ไม่เพียงแต่สัดส่วนหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะธุรกิจเอสเอ็มอียังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโต
          โดยถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค ทำให้คนในชุมชน ในพื้นที่ได้มีงานทำ มีรายได้ เกิดการจับจ่ายใช้สอย
          แต่หากธุรกิจปิดตัวลง ผล กระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลเป็นลูกโซ่ทันที สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือการเลิกจ้างงาน คนในชุมชน โดยเฉพาะครัวเรือนขาดรายได้ที่จะมาเลี้ยงดูครอบครัว
          สุดท้ายสิ่งที่จะตามมา คงหนีไม่พ้น หนี้สินเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว และกลับสู่วังวนเดิมๆ นั่นคือการเป็นหนี้นอกระบบนั่นเอง
          แม้ว่าขณะนี้สัดส่วนเอ็นพีแอลของธุรกิจเอสเอ็มอีจะเพิ่ม หนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น จนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะกระทบเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน
          และในฐานะคนทั่วไปจะต้อง เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร หากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง และไม่เป็นไปตามที่ใครต่อใครคาดเดาไว้ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ถึง 4%
          อีกทั้งการเติบโตจะเป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่ปากท้องของคนในประเทศไม่ได้ดีตามเศรษฐกิจเลย เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลงเช่นนี้ สิ่งที่ทำได้คงต้อง ติดตามกันต่อไป...

 


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 8 มีนาคม 2562