เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

"บาท" เปิดตลาดเช้านี้ "อ่อนค่า" ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์

ข่าววันที่ : 11 ธ.ค. 2561


Share

tmp_20181112093913_1.jpeg

วันที่ ปรับปรุง 11 ธ.ค. 2561

          ตลาดการเงินยังผูกติดกับปัญหาสงครามการค้า และสกุลเงินหลักในกลุ่มยูโรอ่อนค่า เงินบาทเคลื่อนไหวตามดอลลาร์
          Ico นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน
          ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวน ดัชนี Stoxx50 ในฝั่งยุโรปปรับตัวลงถึง 1.4% สวนทางกับดัชนี S&P500 ของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นได้ 0.2% อย่างไรก็ตามตลาดไม่ได้กลับมาเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปียังคงอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.85% พร้อมกับน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงหลุดระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรลอีกครั้ง
          ความเคลื่อนไหวหลักของตลาด ถูกผูกติดกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมกับความกังวลเรื่อง Brexit ในทวีปยุโรปที่ดูจะไร้ทางออก แม้ในระยะสั้น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะกลับเข้าสู่ตลาด
          นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐก็ดูจะชะลอตัวลงด้วย ล่าสุดการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนพฤศจิกายนร่วงลงสู่แนวโน้มปกติโดยปรับตัวขึ้นเพียง 1.55 แสนตำแหน่ง น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมาก
          แม้การเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะสามารถตรึงการว่างานสหรัฐให้อยู่ระดับต่ำเพียง 3.7% ได้ แต่แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนในปี 2018 เป็นปัจจัยที่ทำให้ทั้งธนาคารกลางสหรัฐและนักลงทุนต้องระมัดระวัง
          ส่วนของเงินบาทและสกุลเงินเอเชีย ช่วงนี้แกว่งตัวตามทิศทางของดอลลาร์เป็นหลัก เช่นล่าสุด เมื่อเงินปอนด์และยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ก็ส่งแรงกดดันมาที่ค่าเงินเอเชียด้วย นอกจากนี้ในระยะสั้นนักลงทุนยังคงต้องการลดความเสี่ยงลงซึ่งไม่เป็นบวกต่อค่าเงินเอเชีย ตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาท
          มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 32.84-32.94บาทต่อดอลลาร์ และกรอบค่าเงินบาทระหว่างสัปดาห์ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์
          นักบริหารเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดโดยรวมยังคงเผชิญกับสภาวะความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงหนักเกือบ 2% ในช่วงเช้า ก่อนที่จะพลิกกลับมาปิดบวกได้ หรือการที่ค่าเงินปอนด์(GBP) ผันผวนสูงท่ามกลางข่าวการเจรจาBrexit ในช่วงนี้ นักลงทุนและผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับตลาดการเงินภายใต้สภาวะความผันผวนที่สูง
          สำหรับสัปดาห์นี้มีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจดังนี้ เริ่มจากวันอังคาร ตลาดจะจับตาถ้อยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งมีโอกาสที่ตัวเลขดังกล่าวจะยังคงสะท้อนมุมมองที่เป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนในอีก 6เดือนข้างหน้า สอดคล้องกับรายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน(Sentix investor confidence)ที่ปรับตัวลดลงแตะจุดต่ำสุดของปี
          วันพุธ ตลาดจะรอดูตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ(Core CPI YoY) ว่าจะปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดหรือไม่(โตเกิน 2.2%) โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดอาจทำให้ตลาดยังไม่ปักใจเชื่อว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยลงกว่าที่เฟดมองไว้บนDot Plot
          วันพฤหัสบดี นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะยังคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ ทว่าตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของเฉพาะประธานECB Mario Draghi เพื่อหาแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน อาทิ การขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งโอกาสที่ECBจะกลับมาใช้นโยบายซื้อสินทรัพย์ในปีหน้า รวมถึงมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจยูโรโซนจากECB โดยค่าเงินยูโร(EUR) อาจปรับตัวลดลงได้ ถ้าหาก ECB ยังคงมีมุมมองที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าและแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน
          ในวันศุกร์ ตลาดจะรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก(Retail Sales) ยอดการลงทุนเอกชนในสินทรัพย์ถาวร(Fixed asset investmet) รวมทั้งตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม(Industrial production) เพื่อมองหาแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า รวมทั้งการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านตัวเลขค้าปลีก(Retail sales) เช่นกัน
          มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบกว้าง 32.75-33.05 บาทต่อดอลลาร์ ได้สัปดาห์หน้า และที่สำคัญจะต้องจับตาความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ซึ่งตลาดอาจจะกลับมาผันผวนมากขึ้นหากตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด รวมทั้งหากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น
          วันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.82-32.92บาทต่อดอลลาร์


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  วันที่ 11 ธันวาคม 2561