เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เศรษฐกิจไทยเริ่มแผ่ว โจทย์ยาก...นโยบายการเงิน

ข่าววันที่ : 12 พ.ย. 2561


Share

tmp_20181211124224_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 12 พ.ย. 2561

          แม้ธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการ "ปรับขึ้น"ดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเริ่มเป็นห่วงเสถียรภาพระบบการเงินที่ความน่ากังวล เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันยังต้องการ "รีโหลด" กระสุนทางการเงิน ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการทำนโยบาย (policy space) ไว้รองรับในยาม ที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง
          แต่ข้อมูลเศรษฐกิจหลายๆ ตัว ในเวลานี้ ดูเหมือนไม่เป็นใจให้ ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากนัก เพราะนอกจาก "เงินเฟ้อ" ที่ทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องแล้ว
          ตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวออกอาการ "แผ่วลง" อย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ย. ตอกย้ำความเป็นห่วงที่มีต่อการขยายตัวทาง เศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออก ที่พลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกรอบ 19 เดือน ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มชะลอลง ส่วน การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวในระดับค่อนข้างต่ำ
          ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ "นักเศรษฐศาสตร์"ค่อนข้างมั่นใจว่า การประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ ที่ประชุมจะมีมติให้ "คง" ดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 1.5% เช่นเดิมก่อน
          "พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร ระบุว่า  ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ณ เวลานี้ บ่งชี้ไปในเชิงว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเริ่มยากลำบากขึ้น เพราะตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวเริ่มชะลอลงชัดเจน
          "เศรษฐกิจไทยที่เป็นภาวะ "แข็งนอก" ตอนนี้ดูเริ่มอ่อนลง ทั้งการท่องเที่ยวและ ส่งออก ที่ต้องจับตา คือ ตัวเลขการท่องเที่ยว ที่เริ่มชะลอลง จะเป็นการชะลอแค่ชั่วคราวหรือจะลากยาว  ซึ่งตรงนี้มีผลต่อการขยายตัว ของเศรษฐกิจไทยพอสมควร"
          พิพัฒน์ ระบุว่า การท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 10% ที่ผ่านมา มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ราว 1% ดังนั้นถ้าการท่องเที่ยวทรงตัว กล่าวคือ ไม่เติบโตเลย เท่ากับว่า ผลต่อการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะหายไปเลยถึง 1% ดังนั้นเศรษฐกิจที่เคยโตระดับ 4% กว่าๆ ก็จะลงมาเหลือ 3% กว่าๆ
          ส่วนภาคการส่งออกก็เริ่มชะลอตัวลงชัดเจน และถ้าดูข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จะเห็นว่าหลายประเทศชะลอลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเทศ ในแถบเอเชีย แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบ ไปยังภาคการส่งออกของไทยด้วย
          "โจทย์ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเริ่มยากขึ้น เพราะตัวเลข เศรษฐกิจหลายๆ ตัวไม่เอื้อเหมือนแต่ก่อน เชื่อว่าการประชุมรอบนี้ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยเช่นเดิม แต่รอบหน้าคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก เพราะดูเหมือน กนง. อยากขยับดอกเบี้ยขึ้น แต่ข้อมูลเศรษฐกิจ หลายๆ ตัวไม่เอื้อนัก"
          อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจเดือนต.ค.พลิกกลับมาขยายตัวดีขึ้น ทั้งการ ท่องเที่ยวและส่งออก ก็อาจเปิดช่องให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นกัน เพราะ กนง. เอง ก็อยากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากกังวลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน รวมไปถึง ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space)
          "นริศ สถาผลเดชา" หัวหน้า เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ประเมินว่า  ดอกเบี้ย นโยบายน่าจะมีโอกาสปรับขึ้น 1 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นในการประชุม กนง. ครั้งถัดไปซึ่งตรงกับวันที่ 19 ธ.ค.2561 ส่วนการประชุมรอบนี้ คาดว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 1.5% เช่นเดิมก่อนเพื่อรอดูตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวของเดือนต.ค.
          "คิดว่าถ้าปีนี้ กนง. ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็คงไม่มีโอกาสปรับขึ้นเลย แต่ยังเชื่อว่า การประชุมครั้งนี้ (14 พ.ย.) จะยังไม่มีการปรับดอกเบี้ยเพราะเชื่อว่า กนง. น่าจะอยากรอดูตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนต.ค.ให้แน่ใจก่อน เพราะตัวเลขเดือนก.ย.ที่ออกมา ต้องบอกว่าหลายตัวส่งสัญญาณชะลอ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการส่งออก"
          นริศ กล่าวว่า หากการประชุม นัดสุดท้ายของปีซึ่งตรงกับวันที่ 19 ธ.ค. ทาง กนง. ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็คิดว่าดอกเบี้ยคงไม่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นแล้ว เพราะเศรษฐกิจในปีหน้ามีสัญญาณ ชะลอตัวค่อนข้างชัดเจน โดยต้องบอกว่า วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นในรอบนี้มา ค่อนข้างสั้น
          อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจมีแนวโน้ม ชะลอตัวลง แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายซัก 1 ครั้งในอัตรา  0.25% ไม่น่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามจะทำให้เสถียรภาพระบบ การเงินมีความเข้มแข็งขึ้น อย่างน้อย ช่วยลดพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง และยังทำให้ กนง. มีขีดความสามารถในการทำนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับโอกาสที่จะเกิดวิกฤติใน ระยะข้างหน้าได้ด้วย
          "กำพล อดิเรกสมบัติ" ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ประเมินว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ตลอดทั้งปีนี้ และปีหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง เพราะภาพเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ไม่ได้ดูดีมากนัก โดยยังมีลักษณะของเศรษฐกิจ 2 ความเร็วอยู่
          สาเหตุที่มองว่า โอกาสขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยจาก 3 เหตุผล คือ 1.การขยายตัวเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง 2.เงินเฟ้อไม่ได้มีสัญญาณที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย และ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน แม้ ธปท. จะมีความเป็นห่วง แต่ก็เลือกที่จะใช้นโยบายเฉพาะเจาะจง ในการดูแล เช่น มาตรการคุมสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ จึงมองว่า มีโอกาสสูงที่ กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ตลอดปีนี้
          อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอลง ทำให้ "นักเศรษฐศาสตร์" มองความเป็นไปได้ของการขึ้นดอกเบี้ย มีน้อยลงตามไปด้วย แต่ต้องไม่ลืมว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวร้อนแรง ในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นการเติบโตที่สูงเกินกว่า "ศักยภาพ" และแม้เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอลง ก็ยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าเต็มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
          ด้วยเหตุนี้ประตู "ดอกเบี้ยนโยบาย" จึงยังไม่ได้ปิดลง การประชุม กนง. วันที่ 14 พ.ย.นี้ ที่ประชุม อาจยังมีมติให้ "คงดอกเบี้ย" ไว้ที่ 1.5% เช่นเดิม แต่การประชุม ครั้งถัดไปวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเป็นรอบส่งท้ายปี หากข้อมูลเศรษฐกิจเริ่ม ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย  ก็มีความเป็นไปได้ ที่ กนง. จะมีมติให้ "ปรับขึ้น" ดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะถือเป็นการปรับขึ้น ครั้งแรกในรอบ 7 ปี


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561