เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เอสเอ็มอีแบงก์บุกสินเชื่อไมโคร

ข่าววันที่ : 12 พ.ย. 2561


Share

tmp_20181211113449_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 12 พ.ย. 2561

          "เอสเอ็มอีแบงก์" เปิดแผนงานปี 62  รุกปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก หรือ  "ไมโครเอสเอ็มอี" วงเงินเฉลี่ย 6 แสนบาทต่อราย   วางเป้าปล่อยสินเชื่อ 3.2 หมื่นล้าน จากสินเชื่อใหม่รวม 3.5 หมื่นล้าน มีแผนออกพันธบัตร 2.1 หมื่นล้าน  ล็อกต้นทุนเงิน


          นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยแผนการดำเนินงานของธนาคารในปีหน้าว่า ธนาคารตั้งเป้าหมาย ที่จะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือระดับไมโครมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ อย่างเต็มที่ โดยในจำนวนสินเชื่อปล่อยใหม่ ที่ตั้งเป้า 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น ธนาคาร จะพิจารณาปล่อยให้แก่เอสเอ็มอีกลุ่มไมโครถึง 3.2 หมื่นล้านบาท


          สำหรับช่วง 9 เดือนของปีนี้ ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 2.6 หมื่นล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับไมโคร สำหรับเป้าหมายสินเชื่อในปีนี้อยู่ที่ 3.25 หมื่นล้านบาท  มั่นใจจะทำได้เกินเป้าหมายประมาณ  4 พันล้านบาท โดยขณะนี้มีสินเชื่อที่อนุมัติแล้วและรอการเบิกจ่ายเกือบ 6 พันล้านบาท และ อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกประมาณ 4 พันล้านบาท


          "เราพยายามจะปล่อยสินเชื่อรายย่อย ในระดับไมโครให้ได้มากที่สุด เพราะกลุ่มนี้ เข้าถึงแหล่งทุนยาก เข้าถึงมาตรการรัฐ ได้น้อยมาก และเป็นกลุ่มที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ช้าสุด โดยระยะที่ผ่านมา วงเงินสินเชื่อรายย่อยต่อรายจะอยู่ที่ประมาณ  3.4 ล้านบาท ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อราย ในปีหน้าเราตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อต่อรายให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือ ราว 6 แสนบาทต่อราย"


          ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว. ได้กำหนดนิยามของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยต้องมียอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน โดย กลุ่มนี้ จะมีอยู่ประมาณ 3 ล้านรายทั่วประเทศ


          เขากล่าวว่า เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเข้าถึงกลุ่มดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น ในปีหน้าธนาคารจะจัดหน่วยรถม้าเติมทุน ที่จะให้บริการสินเชื่อเข้าถึงทุกตำบลของประเทศจำนวนประมาณ 1 พันหน่วย จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 600 หน่วย ขณะเดียวกัน ยังจัดให้มีแอพพลิเคชั่นสำหรับการเข้าไปขอสินเชื่อที่สามารถอนุมัติผ่านกระบวนการ ดังกล่าวได้ทันที ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้ามาดูข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว แล้วประมาณ 7 หมื่นราย และมีการขอสินเชื่อ แล้วจำนวนหนึ่ง


          "ประเมินว่าความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อของเรามีไม่มากนัก โดยดูจากช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จากยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 2.6 หมื่นล้านบาท มีหนี้เสียเพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น หรือ 0.04% ลดลงจากปีก่อนที่มี หนี้เสียอยู่ประมาณ 0.21%"


          อย่างไรก็ดี สำหรับหนี้เสียโดยรวมนั้น ภายในปีนี้จะบริหารจัดการให้อยู่ที่ประมาณ 15% หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท และจะพยายามให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 10% ภายในเดือน มี.ค.ปีหน้า โดยธนาคารมีแผนจะขายทอดตลาดหนี้เสียเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท


          "หนี้ที่เราจะตัดขายทอดตลาดนี้ ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาหลายรอบ บางรายสูงถึง 28 ครั้ง สะท้อนถึงความตั้งใจ ที่จะค้างจ่ายหนี้ เราจึงพิจารณาตัดขายออกไป โดยในจำนวนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทนี้ มีประมาณ 3 พันล้านบาท ที่กรมบังคับคดีจะเร่งนำออกขายภายในเดือนธ.ค.ปีนี้ หรือ ราวต้นม.ค.ปีหน้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากลูกหนี้ รายใหญ่จำนวนเพียง 20 รายเท่านั้น"


          สำหรับแผนในการระดมเงินเขากล่าวว่า ธนาคารมีแผนจะออกพันธบัตรอายุ 3 ปีอีกประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมา ปล่อยสินเชื่อ และบริหารจัดการไม่ให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารสูงจนเกินไป ปัจจุบันต้นทุนเงินฝากของธนาคารอยู่ที่  1.47% ส่วนดอกเบี้ยรับของธนาคาร เฉลี่ยรวม ทั้งลูกค้าเก่าและใหม่อยู่ที่ 5.1% โดยอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ที่ 3.7% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยเกินกว่า 3.67% ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องควบคุมให้ต้นทุนของธนาคาร ต่อรายได้ (Cost to Income) ต้อง ไม่เกิน 50%


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561