เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เศรษฐกิจดิจิทัล...เส้นบางๆ ของโอกาสและหายนะ

ข่าววันที่ : 12 พ.ย. 2561


Share

tmp_20181211112548_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 12 พ.ย. 2561

          ดร.ธนิต โสรัตน์
          ประธานบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ป          
          รองประธานสภาที่ปรึกษาเพือพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 18


          ข้อเขียนวันนี้เป็นควันหลงจากฉบับ ที่แล้วที่กล่าวถึงภัยคุกคามที่จะมาจากเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคตมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ธุรกิจใหญ่-กลางเล็กไปจนถึงมนุษย์เงินเดือนและครัวเรือน คำถามที่มาถึงผมทางอีเมลและสัมภาษณ์ผ่านสื่อยังกังขาว่าเทคโนโลยีจะก้าวข้ามไปถึงระดับนั้นได้จริงหรือ หรือบ้างกล่าวว่าอาจต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบๆ ปียังนอนรอได้ไม่เดือดร้อนอะไร


          ที่จริงผมไม่ได้กล่าวลอยๆ เพราะมีงานวิจัยของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยออกมาระบุว่า ใน 4 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีออโตเมชั่นจะเข้ามาคุกคามการจ้างงาน สอดคล้องกับงานวิจัยของผมซึ่งทำให้กระทรวงแรงงานเกี่ยวกับผลกระทบของดิสรัปทีฟเทคโนโลยีที่มีต่อแรงงาน ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเอไอและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในสายการผลิต สามารถลดต้นทุนได้มหาศาล เพิ่มผลผลิตได้เป็นเท่าตัว และใช้แรงงานลดลง 3 ใน 4 ขณะที่หลายโรงงานกำลังมีแผนปรับเปลี่ยนใช้เครื่องจักรไฮเทค


          พลวัตของเศรษฐกิจดิจิทัลมาพร้อมกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ ถึงวันนี้ คงไม่ใช่ข้อถกเถียงว่าจะมาหรือไม่มาเพราะทิศทางของธุรกิจที่มีกำลังทุนและศักยภาพกำลังมุ่งไปในทิศทางนั้น


          ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางกำลัง อยู่ระหว่างการก้าวผ่าน กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างธุรกรรมบิซิเนสในอนาคตจะมีทั้งกลุ่มที่มีวิสัยทัศน์และสามารถเข้าถึงโอกาส ขณะเดียวกันกลุ่มที่ขาดศักยภาพ ไม่สามารถเกาะเกี่ยวไปกับการเปลี่ยนแปลงอาจถึงขั้นหายนะ ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะผู้ประกอบการแต่อาจเป็นภัยคุกคามไปถึงลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในองค์กรเหล่านั้น อาจมีผู้คนตั้งคำถามว่าย้อนหลังไปในอดีตเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่เห็นมีใครได้รับผลกระทบแถมการว่างงานของประเทศอยู่ในระดับต่ำของภูมิภาค ซึ่งก็ถูกและไม่เถียงแต่ต้องเข้าใจตรงกันว่าเทคโนโลยีในอดีตยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น เครื่องพิมพ์ดีดยกระดับเป็นคอมพิวเตอร์แต่ก็ยังต้องใช้คนคีย์อยู่ดี


          ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักร ยุค 2.0 หรือ 3.0 เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต  (Productivity) แต่ยังต้องการแรงงานเพียงแต่สัดส่วนจำนวนคนจะลดลง ซึ่งสอดคล้องสมดุลกับการขาดแคลนแรงงานของไทยผลกระทบจากเทคโนโลยีจึงแทบไม่มี  แต่เทคโนโลยีไฮเทคที่เป็น ดิสรัปทีฟ (Disruptive Technology) ทั้งเอไอ ออโตเมชั่น แอพอัจฉริยะ  อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ บล็อกเชน ฯลฯ ทำให้สามารถเชื่อมต่อ "Online" ผ่าน สมาร์ทโฟน ผลคือธุรกรรมการค้ายกระดับจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์กลายเป็นการค้า


          อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เทคโนโลยี  4.0 ตอนคิดจะเจตนาหรือไม่เจตนา ไม่ทราบ ล้วนไม่ต้องการแรงงานมนุษย์หรือจะใช้ในสัดส่วนที่ต่ำ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งมีผลต่อเทคโนโลยีทำให้สินค้าจำนวนมากกลายเป็นของตกยุคตกสมัย เช่น โทรศัพท์ 02 ที่เป็นอะนาล็อก  เครื่องเล่นดีวีดี รวมไปถึงแผ่นซีดีของพวกนี้กำลังจะหายไป


          แม้แต่นิตยสารต่างๆ ทยอยปิดตัวไปเกินครึ่ง รวมไปถึงหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อเก่าแก่อายุกว่า 175 ปี ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เปราะบางเพราะผู้คน หันไปอ่านข่าวจากออนไลน์ที่สดและ เร็วกว่า


          อีกทั้งโทรทัศน์หรือทีวีซึ่งเป็นสื่อทั้งด้านบันเทิงและข่าวที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมากถึงบ้านมีอายุเฉียด 100 ปีกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมดูทีวีเนื่องจากมีทางเลือกที่ดีกว่าในการดูหนัง-ฟังเพลงและเสพข่าวที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียล มีเดีย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด
          กรณีตัวอย่างสื่อออนไลน์ผ่าน สมาร์ทโฟนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึง ผลข้างเคียงที่จะตามมาจากเทคโนโลยี
          การก้าวผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ
          เรียกให้โก้ว่า "สมาร์ททรานส์ฟอร์ เมชั่น" เป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งผู้ประกอบการ รวมไปถึงมนุษย์เงินเดือนซึ่งเป็นลูกจ้างอยู่ในสถานประกอบการจะต้องเข้าใจถึงผลที่ตามมา
          อย่าเพลินใช้ออนไลน์โดยไม่ได้ฉุกคิดว่าทุกครั้งที่กดซื้อสินค้าจะทำให้พนักงานขายและแคชเชียร์ที่ทำงานอยู่ในห้างลดน้อยถอยไป
          รวมไปถึงการทำธุรกรรมการเงินบนมือถือล้วนทำให้สาขาของธนาคารจะทยอยปิดตัว ซึ่งที่สุดจะกลายเป็น บูเมอแรงย้อนกลับมาทำให้ตำแหน่งงานที่ตัวเองทำอยู่หายไปด้วย เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนต้องเข้าใจว่า "โอกาสมักมาพร้อมกับความเสี่ยง" ขึ้นอยู่กับว่ายืนอยู่จุดไหน
          อยากให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ควรมีการสื่อสารถึงผลกระทบที่ตามมาจากเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งแน่นอนว่าเป็น กระแสของโลกหากไม่อยากเป็นไดโนเสาร์ทุกคนต้องไปทางนั้น
          การก้าวผ่านคงไม่ใช่แค่มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพราะเทคโนโลยีแค่ข้ามปีก็เปลี่ยนแล้วเกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม อย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์มีการตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งอนาคต หรือ FEC ไว้รับมือ
          แต่บ้านเราคนไม่พร้อมมีมาก แรงงานเกือบครึ่งมีการศึกษาแค่ ระดับประถมและต่ำกว่า ขณะที่อายุเฉลี่ยสู่วัยกลางคนประชาชนถูกมอมเมาจากรัฐมนตรีฟองสบู่ซึ่งมีวิสัยทัศน์ 4.0 แบบจับต้องไม่ได้พูดเก่ง-ฟอร์มดีให้ข้อมูลแต่ทางบวกด้านเดียวว่าเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้ทุกคนรวยกันหมดและคนจนจะหายไปจากประเทศนี้...คุณเชื่อไหมล่ะ???
          สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www. tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561