เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

แบงก์ชิงตลาดรายย่อย

ข่าววันที่ : 12 พ.ย. 2561


Share

tmp_20181211101919_1.gif

วันที่ ปรับปรุง 12 พ.ย. 2561

          อานิสงส์รถคันแรกจบ ดันยอดสินเชื่อลีสซิ่งโต
          เล็งต่อยอดสินเชื่อบ้านผ่านดิจิตอล


          แบงก์กางแผนสินเชื่อรายย่อยปี 62 รุกหนักดิจิตอล เลนดิ้ง "กสิกรไทย" ตั้งเป้าโต 9-12% ชี้ อานิสงส์โครงการรถคันแรกจบ ดันความต้องการสินเชื่อบุคคล ลีสซิ่งเพิ่ม ส่วน "กรุงศรีอยุธยา" วางเป้าสินเชื่อโต 2 เท่าจีดีพี คิดเป็นยอดปล่อยใหม่ 1 แสนล้านบาท เล็งต่อยอดสินเชื่อบ้าน บน iFin หลังมียอดอนุมัติดิจิตอล 5-10%
          นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ K BANK เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารตั้งเป้าธุรกิจสินเชื่อรายย่อยปี 2562 เติบโตค่อนข้างสูงที่ 9-12% จากเป้าหมายปีนี้5-7% ส่วนหนึ่งเพราะปี 2562 จะเป็นปีแรกที่โครงการรถคันแรกหมดลง ทำให้กำลังซื้อจะกลับมาเข้าในระบบค่อนข้างเยอะ ทำให้มีความต้องการสินเชื่อ โดยจะบันทึกในสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และสินเชื่อเช่าซื้อ (Leasing) จำนวนหนึ่ง ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อรายย่อยทั้งปีน่าจะขยายตัวค่อนข้างดี ทั้งนี้การเติบโต 9-12% ส่วนใหญ่จะมาจากสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวค่อนข้างสูง
          ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะสอดคล้องกับภาพรวมตลาด โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยจะขยายตัวตามโครงการบ้าน แม้จะชะลอเปิดโครงการใหม่บ้าง แต่ยังคงมีความต้องการ เพียงแต่จะไม่ขยายตัวสูงเหมือนปีที่ผ่านมา
          ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ธนาคารได้ส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดิจิตอล หรือ Digital Lending เพิ่มมากขึ้น โดยนำ Machine Learning มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลเป็นเครดิตสกอริ่ง ซึ่งช่วงแรกจะทำบน K PLUS ให้กับฐานลูกค้าเก่าก่อน โดยระบบจะวิเคราะห์ว่า ลูกค้ารายใดมีความต้องการสินเชื่อระบบจะส่งตรงไปยังลูกค้า เบื้องต้นได้ทดลองกับสินเชื่อส่วนบุคคลและจะขยายต่อไปยังสินเชื่อประเภทอื่น เช่น ที่อยู่อาศัย เช่าซื้อ ในอนาคตไม่ว่า ลูกค้าต้องการสินเชื่อประเภทไหนก็สามารถให้บริการได้ทันที
          ทั้งนี้หลังจากทดลองสินเชื่อ Digital Lending ช่วง 9 เดือนแรกพบว่า ตัวเลขการขอสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1 พันล้านบาท ยังถือว่า ไม่มากนัก เพราะอยู่ระหว่างทดลองทำ และเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลวงเงินไม่สูงมากนัก เฉลี่ยที่ 1-2 หมื่นบาทต่อราย อย่างไรก็ตามช่วง 2 เดือนสุดท้าย น่าจะปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มเป็น 1,200-1,500 ล้านบาทภายในสิ้นปี ส่วนคุณภาพสินเชื่อยังเป็นปกติ เนื่องจากเพิ่งเริ่มต้นทำ ธนาคารจึงต้องรอประเมินอีกสักระยะหนึ่ง ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมดค่อนข้างทรงตัว และคาดว่าจะยังทรงตัวหรือปรับตึวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2562 เนื่องจากดูตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อเทียบกับหนี้ที่เกิดใหม่ ถือว่ามีน้อยมาก และช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็ค่อนข้างทรงตัว ขณะที่หนี้ที่แก้ไขและกลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้ง หรือ Re-Entry พบว่าน้อยลงแทบจะไม่มีเลย ดังนั้น ภาพรวมหนี้เอ็นพีแอลน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น
          นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจ ลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า แผนธุรกิจรายย่อยปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 9-10%จากยอดสินเชื่อคงค้าง 3.1 แสนล้านบาทใกล้เคียงปีนี้ ภายใต้เศรษฐกิจขยายตัว 4.5% หรือประมาณ 2 เท่าของจีดีพี โดยตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่เติบโต 10-15% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อราว 1 แสนล้านบาท
          ทั้งนี้เป้าหมายการเติบโต 9-10% จะมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัย แม้การเติบโตจะลดลงจากปีนี้ที่ขยายตัว 11% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 8 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัย2.4 แสนล้านบาทเนื่องจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้การเติบโตจะทำได้ยากขึ้น
          ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล น่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 2% หรือคิดเป็นสินเชื่อใหม่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท เพราะการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) ที่เข้ามาเล่นตลาดนี้มากขึ้นต่อเนื่อง
          อย่างไรก็ดี ภายในกลางปี 2562 ธนาคารจะขยายการปล่อยสินเชื่อดิจิตอล (Digital Lending) หรือ iFin บนกรุงศรีโมบายแอพพลิเคชัน (KMA) ที่มีฐานลูกค้า 4 ล้านราย โดยจะขยายไปที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อผู้ประกอบการ หลังจากได้ทดลองทำสินเชื่อส่วนบุคคลตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี เน้นลูกค้าเก่าของธนาคารที่มีเงินเดือนประจำ โดยมียอดคำขอสินเชื่อทั้งหมด 3 หมื่นราย แต่อนุมัติเพียง 5-10% เท่านั้น เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ผ่านคุณสมบัติภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิตอลยังไม่มากนักและคาดว่ายังไม่เห็นการเติบโตที่รวดเร็ว แต่จะทำอย่างต่อเนื่อง
          ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าที่วางแผนไว้ โดยปัจจุบันตัวเลขเอ็นพีแอล อยู่ที่ 2.6-2.7% ถือว่าต่ำกว่าตลาดที่อยู่ 3% และคาดว่าทิศทางเอ็นพีแอลในปี 2562 น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน หรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย
          "สินเชื่อปีหน้า ที่โตเยอะน่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่อาจไม่เท่าปีนี้ เพราะมีทั้งเรื่องคุมเกณฑ์ LTV และบ้านหลังที่ 2 ทำให้การทำตลาดยากขึ้น ส่วนสินเชื่อบุคคลน่า จะเท่าปีนี้โตราว 2% แต่ปีหน้าเราจะขยายสินเชื่อดิจิตอล โดยเอาทุกผลิตภัณฑ์ขึ้นไปบนดิจิตอล"


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 พ.ย. 2561