เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เปิดมุมคิด สุภัค ศิวะรักษ์ นโยบายการเงินฝืนตลาดไม่ได้

ข่าววันที่ : 10 ก.ย. 2561


Share

tmp_20181009104543_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 10 ก.ย. 2561

          เศรษฐกิจไทย ขยายตัวดีต่อเนื่องระยะหนึ่งแล้ว เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นชัดเจนขึ้น สะท้อนผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตดีขณะที่อุปสงค์ในประเทศเริ่มดีขึ้น แม้ว่ากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากยังไม่เข้มแข็ง มากนักก็ตาม แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัว อย่างต่อเนื่อง โดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้โต 4.4% เพียงแต่ยังมีคำถามว่า การขยายตัวจะต่อเนื่องยั่งยืนหรือไม่
          "สุภัค ศิวะรักษ์" อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หนึ่งใน คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ชุดปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าการขยายตัวของ เศรษฐกิจไทยระยะ 4-5 ปีข้างหน้าไม่น่ากังวล แต่ "ที่ห่วง" คือ การขยายตัวในระยะยาวจะยั่งยืนหรือไม่ เพราะโจทย์ใหญ่ที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญ คือ "ปัญหาสังคมสูงวัย"
          "เรากำลังเผชิญปัญหาสังคมสูงวัย ประชากรวัยทำงานลดลง สัญญาณ อันตรายที่เห็นชัด คือ เด็กใหม่ที่เข้า โรงเรียนเริ่มน้อยลง หลายโรงเรียนเริ่มปิดตัว ..ระดับประเทศเราต้องการ ให้เศรษฐกิจโต แต่การจะทำให้โต ระดับ 6-7% เหมือนในอดีตมันยาก เพราะอดีตประชากรเราโต 2-3% แต่ตอนนี้กำลังหดตัว ดังนั้นต้องไปเพิ่มด้านผลิตภาพถึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตได้ในระดับ 6-7%"
          สุภัค บอกว่า หากรัฐบาลไม่หา แนวทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว อนาคตอาจเผชิญปัญหาการคลังได้ เพราะทุกวันนี้งบราชการต้องกันไว้ให้ข้าราชการที่เกษียณเพื่อใช้ดูแลรักษาพยาบาล หากไม่ระวังจะกลายเป็น งบผูกพันมหาศาลในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลต้องวางโครงสร้างภาษีดีๆ เพื่อป้องกันไม่ให้งบผูกพันสูงกว่ารายได้จากภาษีที่ได้รับ
          วันนี้ประเทศไทยยอมขาดดุลงบประมาณ เพราะกันเงินบางส่วนไปลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ในอนาคตหากเราจัดการปัญหาเหล่านี้ ได้ไม่ดี ก็มีความเสี่ยงที่รายจ่ายประจำจะเกินรายรับ ทำให้งบประมาณขาดดุลโดยปริยาย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
          "ระยะสั้นการเติบโต 4% กว่าๆ เราทำได้อยู่แล้ว ผมไม่ห่วงเท่าไร ถ้าจะห่วงก็ห่วงระยะยาว เพราะโจทย์ ที่กำลังเจอ คือ จำนวนคนทำงานลดลง จริงๆการที่เศรษฐกิจเติบโต 3-4% ถือว่าโอเคเมื่อเทียบกับประชากร ที่ไม่โตเลย อย่างของอินโดนีเซีย เศรษฐกิจเขาโต 6-7% แต่ประชากรเขาก็โต 2-3% หักกลบแล้ว เศรษฐกิจเขาก็โตใกล้ๆ กับเรา แต่ถ้าในอนาคตเราไม่ทำอะไรเลย การเติบโตระดับ 4-5% คงเป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่ารัฐบาลเขาทราบดี และพยายามทำอยู่"
          สำหรับคำถามที่ว่านโยบายการเงินจะมีส่วนช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาวได้หรือไม่  ซึ่ง "สุภัค" ตอบว่า ถ้าเปรียบ "นโยบายการเงิน" ก็เหมือน"ค้อนใหญ่" เวลาขยับอะไรจะส่งผลกระทบในวงกว้าง นโยบายการเงินจึงไม่เหมือนกับ "มีดหมอ" ที่จะ "ผ่าตัดเฉพาะจุด" ได้
          สุภัค บอกด้วยว่า ในช่วงที่เกิดภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินอาจเข้ามาช่วยได้บ้าง ช่วยบรรเทาผลกระทบ แต่ไม่สามารถลงไปแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ และยังทำได้แค่ชั่วคราว ไม่สามารถฝืนกลไกตลาดได้ เพราะถ้าไปฝืนมากๆ สุดท้ายค้อนนั้นอาจจะหักได้
          "ช่วงวิกฤติปี 2540 เราไปฝืนตลาดไม่อยากให้ค่าเงินอ่อน เข้าไปปกป้อง ไปฝืนตลาดเป็นเวลานานๆ สุดท้ายค้อนก็หัก แบงก์ชาติเองก็เหนื่อย ดังนั้นสิ่งที่นโยบายการเงิน ทำได้ คือ บรรเทาปัญหาให้ภาพรวมกลับมาปกติ แล้วค่อยๆ ลดความ จำเป็นลง ก็เท่ากับช่วยปกป้องแล้ว"
          ส่วนคำถามที่ว่าเวลานี้นโยบายการเงินกำลังฝืนตลาดอยู่หรือไม่ "สุภัค" บอกว่า กึ่งๆ ฝืน แต่ยังไม่ถึงเวลา ถ้าดูจากรายงาน กนง. จะเห็นว่า ช่วงก่อนหน้านี้เศรษฐกิจโตถึง 4% แต่มาจากไม่กี่ภาค เช่น ท่องเที่ยว ชิ้นส่วนรถยนต์ ปิโตรเคมี ยังดูกระจุกตัวค่อนข้างมาก การจ้างงานก็ยังไม่กระจายตัว  ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็ยังไม่ขยับ แต่ถ้าดูตัวเลขไตรมาส 2 ที่ออกมา ก็เริ่มเห็นการกระจายตัวขึ้นบ้าง
          "คล้ายๆ กับรถยนต์ที่ผ่านมา เราวิ่งได้ช้า แต่ก็มั่นคง คนอื่นอาจจะ ตกเหวไปบ้างแล้ว แต่ของเรายังวิ่งได้ เพียงไม่กี่ล้อ ความรู้สึกก็อยากให้วิ่งครบทั้งสี่ล้อ เราไม่ควรไปเหยียบเบรกเร็วนัก เพื่อให้เศรษฐกิจโตทั่วถึง มากขึ้น และอยากให้มีแรงส่งในตัวเอง ไม่ใช่ว่าเริ่มขึ้นแล้วเราไปแตะเบรก ก็เป็นประเด็นที่น่าห่วง"
          สุภัค ย้ำว่า ถ้าโลกการเงินไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็อาจสร้างช็อกขึ้นมาได้ หากบอกว่าจะเอาดอกเบี้ยต่ำไปเรื่อยๆ ทำให้ต้นทุน ดอกเบี้ยถูก แต่ในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเขาเห็นดอกเบี้ยถูก กู้เงินไปลงทุน หรือกู้เงินไปเล่นหุ้น สิ่งเหล่านี้นโยบายการเงินไม่สามารถฝืนความจริงได้ ดังนั้นนโยบายการเงินจึงเหมือนกับท่อออกซิเจนที่ต่อให้ชั่วคราว แล้วผู้เกี่ยวข้องไปจัดการกับปัญหาต่างๆ เมื่อดีขึ้นเราก็เอาท่อนี้ออก ถ้าไปฝืนมากๆ จะเกิดความเสียหายได้
          "เรายังวิ่งได้เพียงไม่กี่ล้อความรู้สึกอยากให้วิ่งครบทั้งสี่ล้อ ไม่ควรไปเหยียบเบรกเร็วนัก'


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 8 กันยายน 2561