เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

"ปลูกพริกไทยซีลอน" พืชใหม่มีอนาคต (ตอนจบ)

ข่าววันที่ : 6 ก.ย. 2561


Share

tmp_20180609104311_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 6 ก.ย. 2561

          ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ รายงาน

          คุณประเสริฐ จันทโรทัย บ้านเลขที่ 115 หมู่ 1 ต.วังสำโรง อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร การให้น้ำ คุณประเสริฐ เล่าว่า ตนเองประยุกต์ใช้ระบบน้ำแบบเดินสายน้ำ PE ขนาดเล็ก เดินขึ้นไว้บนยอดเสาค้างพริกไทยเมื่อเวลาเปิดน้ำ น้ำก็จะไหลจากด้านบนลงล่างทำให้เสาปูนมีความชุ่มชื้น ลดความร้อนของเสาปูน แล้วน้ำก็จะไหลลงสู่โคนเสา (โดยหมดค่าอุปกรณ์ระบบน้ำประมาณ 5,000 บาทต่อ 200 หลักพริกไทย) ระยะเวลาการให้น้ำ หลังปลูกควรรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน เมื่อพริกไทยตั้งตัวได้ ลดเหลือ 2-3 วัน/ครั้ง พริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้วควรให้ 3-4 วัน/ครั้ง ตามสภาพดินฟ้าอากาศ ในฤดูแล้งอาจประหยัดการให้น้ำโดยการคลุมดินในแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง แต่ในฤดูฝนไม่ควรคลุมดินจนชิดโคนต้นควรเว้นห่างเพื่อไม่ให้โคนต้นชื้นแฉะเกินไปและเกิดโรค เตรียมให้น้ำระบายออกจากแปลงปลูกอย่างรวดเร็ว และขณะดินชื้นแฉะไม่ควรเหยียบย่างในแปลงจะทำให้ดินแน่นทึบ รากเสียหายได้

          การตัดแต่งต้นปล่อยให้ขึ้นเสา เมื่อต้นพริกไทยเริ่มตั้งตัวได้ มีการแตกยอดอ่อนและอาจจะมียอดอ่อนจำนวนมาก ก็ต้องตัดแต่งออกบ้างให้เหลือยอดที่สมบูรณ์ไว้เพียงต้นละ 2-3 ยอดก็เพียงพอ เพื่อให้ยอดเกาะขึ้นเสาได้เร็วไม่สูญเสียอาหารในการเลี้ยงยอดจำนวนมาก จัดยอดให้อยู่รอบค้างใช้เชือกฟางผูกยอดให้แนบติดค้าง ผูกทุกข้อเว้นข้อ ถ้ามียอดแตกใหม่เกินความต้องการให้ตัดทิ้ง เมื่อต้นพริกไทยเจริญงอกงามดีแล้ว ควรตัดไหลที่งอกออกตามโคนทิ้ง ตัดกิ่งแขนงที่อยู่เหนือผิวดิน 8 -10 ซม. ออกให้หมด เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แดดส่องถึง ในระยะที่พริกไทยยังไม่เจริญเติบโตถึงยอดค้าง ต้องเด็ดช่อดอกออกให้หมด ถ้าทิ้งไว้จะทำให้พริกไทยเติบโตช้า และควรมีการตัดกิ่งส่วนบน เพื่อความสะดวกในการทำงาน ซึ่งจะทำปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว กรณีที่ต้องการเลี้ยงเถาเพื่อใช้ทำพันธุ์ขยายพื้นที่ปลูกในปีต่อไป หรือเพื่อจำหน่าย เพื่อขายเอาคืนทุนเป็นรายได้ระหว่างรอเวลา เมื่อพริกไทยอายุ 1 ปี ตัดเถาให้เหลือ 50 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน เมื่อพริกไทยแตกยอด จัดยอดขึ้นค้างเช่นเดียวกับปีแรก จนกว่าพริกไทยจะสูงเลยค้างไปประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ผูกไว้บนยอดค้าง

          การใส่ปุ๋ย แนะนำให้ใส่โดโลไมท์ หรือปูนขาว ปีละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 300-500 กรัม/ค้าง ก่อนใส่ปุ๋ยเคมี 15-30 วัน เพื่อปรับสภาพดิน และฆ่าเชื้อ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อัตรา 2-5 กิโลกรัมต่อค้าง หรือแบ่งใส่ปีละ 2-3 ครั้งใส่มากหรือน้อย บ่อยครั้งแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินและความสมบูรณ์ของแปลงปลูกของเกษตรกรเอง การใส่ปุ๋ยเคมีคุณประเสริฐ ก็เน้นใส่ปุ๋ยพื้นฐาน อย่างสูตรเสมอ สูตร 15-15-15 อัตรา 300-500 กรัม (3-5 กำมือ) ต่อค้าง อาจจะสลับหรือผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 บ้างถ้าเห็นว่าต้นพริกไทยไม่ค่อยจะแตกยอด ส่วนใส่ปุ๋ยคอก ก็จะหว่านรอบเป็นวงกลมห่างจากต้นพริกไทยมาสัก 1 คืบมือและช่วงหน้าแล้งแนะนำใช้ฟางมาคลุมดินเพื่อให้ดินมีความชื้นสะสมที่นานขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันวัชพืชไม่ให้ขึ้นมาแย่งอาหารพริกไทยด้วย จนกระทั่งพริกไทยมีอายุ 8-13 เดือน (ขึ้นอยู่กับปัจจัยเช่นการดูแล สภาพสวน) จึงเริ่มแตกตาดอกและให้ผลผลิต แต่จะให้ผลผลิตน้อยเพียงหลักละ 1-3 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้น ในปีแรกเราจะยังไม่เน้นให้พริกไทยติดฝัก เพราะทันทีที่พริกไทยแตกตาดอก ติดฝักนั้น พริกไทยจะชะงักการเจริญเติบโต

          ดังนั้นในปีแรกควรบำรุงต้นดูแลทรงพุ่มให้มีขนาดใหญ่ ควรเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน โดยให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มีสูตรตัวหน้า (N) สูง เช่นสูตร 20-7-7 หรือ 18-6-6 หรือ 30-20-10 ก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มไนโตรเจนสร้างยอดและใบใหม่และอีก 7 วันต่อมาก็ค่อยให้ปุ๋ยทางดินสูตรเสมอเป็นการบำรุงต้นต่อไป เมื่อต้นพริกไทยอายุครบ 2 ปี จะเริ่มเหมาะสมปล่อยให้มีการติดผลเก็บผลผลิต พริกไทยจะเริ่มให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 10-14 เดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะให้ผลผลิตที่อายุ 14 เดือนขึ้นไป สำหรับพริกไทยที่ได้รับการดูแลเรื่องน้ำและปุ๋ยอย่างดี อายุ 10 เดือนก็เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว พริกไทยจะให้ผลผลิตตลอดทั้งปี แต่จะให้ผลผลิตรุ่นใหญ่ปีละ 2 รุ่น


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 ก.ย. 2561