เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ธปท. ถกด่วนแบงก์พาณิชย์ แก้ระบบโอนเงินล่มซ้ำซาก

ข่าววันที่ : 3 ก.ย. 2561


Share

tmp_20180309154906_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 3 ก.ย. 2561

          ธปท.นัดหารือด่วนแบงก์พาณิชย์แก้ระบบโอนเงินออนไลน์ล่มซ้ำซาก หลังรัฐบาลจี้หนักหวั่นกระทบเชื่อมั่นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4.0
          ปัญหาระบบการชำระเงินทางอิเล็ก ทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ล่มเกือบทั้งระบบเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2561 กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการเงินและเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่
          อันดับแรก ระบบที่ล่มกระทบกับผู้ใช้บริการทางการเงินในวงกว้าง แม้ว่าจะล่มช่วงเวลาไม่นานและแก้ไขกลับมาเป็นปกติได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้กระทบความเชื่อมั่นกับการบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ
          นอกจากนี้ ยังกระทบถึงความสามารถของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะการกำกับดูแลสถาบันการเงินอีกด้วย เพราะการที่ระบบล่มครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องโดยเฉพาะในวันสิ้นเดือนที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนมาก แต่ ธปท.กลับไม่สามารถกำกับดูแลแก้ไขปัญหานี้ได้
          อันดับต่อมา เหตุการณ์ระบบแบงก์ล่มกระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ที่พยายามโปรโมทเศรษฐกิจไทย 4.0 เป็นเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรมเทคโนโลยี ในด้านการเงินก็จะเข้าสู่ยุคฟินเทคและสังคมไร้เงินสด แต่ปรากฏว่าเดินหน้าไม่เท่าไร ระบบการโอนเงินแบงก์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็มาล่มใหญ่ไม่เป็นท่า ทำให้รัฐบาลเสียหน้าจนรับไม่ได้
          หลังจากที่ระบบแบงก์ล่ม มีรายงานข่าวว่า ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ไม่พอใจอย่างมาก และได้สั่งการไปยัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ให้เร่งแก้ไขปัญหานี้เป็นการด่วน และต้องไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นง่ายๆ ได้อีกเป็นอันขาด
          อาฟเตอร์ช็อกจากระบบแบงก์ล่มทำให้ ธปท.นั่งไม่ติด โดยในสัปดาห์นี้ได้เรียกธนาคารต้นปัญหา และธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด รวมถึงบริษัท ITMX ที่เป็นผู้ดูแลระบบการโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดเข้ามาหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก หลังจากที่ ธปท.ได้พยายามออกมาชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลเห็นว่ายังไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาและเร่งเรียกความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการกลับมาโดยเร็ว
          โดยในวันที่ 31 ส.ค. 2561 ธปท.ออกมาชี้แจงว่า มีปัญหาการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากช่วงสิ้นเดือนมีปริมาณธุรกรรมมาก รวมทั้งในระบบก็มีการทำธุรกรรมข้ามธนาคารค่อนข้างมาก เมื่อธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งมีปัญหา ก็ทำให้ระบบโดยรวมสะดุด
          อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ไขปัญหา โดยกันธนาคารที่มีปัญหาออกจากระบบไปก่อน เพื่อไม่ให้ปริมาณธุรกรรมค้างท่อ ไม่ให้เกิดคอขวดจนไปกระทบกับการทำธุรกรรมของธนาคารอื่น และกลับมาทำธุรกรรมได้ตามปกติ
          วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาชี้แจงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาของระบบกลางการโอนเงิน แต่เป็นปัญหาของธนาคารบางแห่ง และได้กำชับธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาก็ต้องเร่งยกเครื่อง ยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหา รวมทั้งความสามารถการรองรับการทำธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะแก้ไขได้เมื่อไร เพราะเป็นแผนที่มีการทำมาต่อเนื่อง
          "ประตูบ้านของธนาคารที่มีปัญหามันแคบ เมื่อมีรายการมารออยู่ที่ประตูเพื่อจะเข้าแบงก์นั้นก็เข้าไม่ได้ รวมถึงรายการที่จะออกจากประตูนั้นเพื่อไปธนาคารอื่นก็ออกไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาคอขวดรถติดต่อเนื่องทั้งถนน ซึ่งธนาคารที่มีต้องเร่งแก้ไขให้เป็นแผนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่ได้กำหนดเส้นตายว่าธนาคารที่มีปัญหาต้องแก้ปัญหาให้เสร็จเมื่อไร" วิรไท กล่าว
          การชี้แจงของผู้ว่าการ ธปท. ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ปัญหาคือธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่ไม่สามารถลงทุนระบบไอทีรองรับธุรกรรมได้ทัน ซึ่งเป็นคำถามตีกลับมายัง ธปท. ว่าในฐานะกำกับธนาคารพาณิชย์รู้ปัญหาอย่างดี จะแก้ปัญหานี้อย่างไร จะปล่อยให้แบงก์เปิดทำธุรกรรมแบบไม่ควบคุมทั้งที่ระบบรองรับไม่ทัน และกระทบผู้ใช้บริการทางการเงินในวงกว้างอย่างที่เกิดขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เป็นโจทย์ใหญ่ของ ธปท. ที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้ทันเหตุการณ์ สามารถแก้ปัญหาโดยวิ่งนำหน้าปัญหา ไม่ใช่ไล่ตามปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          ขณะเดียวกันสมาคมธนาคารไทย ก็ควรรับผิดชอบกำกับดูแลสมาชิก ให้บริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ เพราะถึงแม้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากธนาคารเดียว แต่ทำให้ระบบมีปัญหาไปทั้งหมด ก็กระทบกับสมาคมแบงก์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
          ที่สำคัญที่สุดคือธนาคารต้นปัญหา ก็ต้องเร่งแก้ไขข้อบกพร่องของธนาคาร ในเมื่อรู้ว่าระบบรองรับการบริการไม่ได้ ก็ไม่ควรเร่งขยายธุรกรรมโดยไม่รับผิดชอบกับลูกค้าและระบบโดยรวมของธนาคาร
          ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หนีไม่พ้น ธปท.ที่จะเป็นหัวเรือใหญ่แก้ปัญหานี้ เพราะหากสิ้นเดือนหน้า หรือสิ้นเดือนต่อๆ ไประบบล่มอย่างนี้อีก ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยล่มไปด้วย และรัฐบาลคงนั่งไม่ติดและคงไม่ยอมได้อีกต่อไปกับผู้ที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาเรื่องนี้


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 3 กันยายน 2561